Display mode (Doesn't show in master page preview)

9 กันยายน 2548

เกษตรกรรม

เร่งผลักดันส่งออกกุ้ง : เพิ่มยอดช่วงไตรมาสสุดท้ายปี'48 ต่อเนื่องถึงปี'49

คะแนนเฉลี่ย

ข่าวดีของวงการอุตสาหกรรมกุ้งคือ การที่สหภาพยุโรปพิจารณาลดภาษีนำเข้ากุ้งให้กับไทยเท่ากับอัตราสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรเป็นการทั่วไปหรือจีเอสพี โดยให้มีผลบังคับใช้ย้อนหลังตั้งแต่ 1 สิงหาคม 2548 ที่ผ่านมาจนถึง 31 ธันวาคม 2548 ทั้งนี้เพื่อเป็นการช่วยเหลือประเทศที่ประสบภัยสึนามิ นับว่าเป็นอานิสงส์ทำให้ภาษีนำเข้าผลิตภัณฑ์กุ้งของไทยเท่าเทียมกับประเทศคู่แข่งอื่นๆโดยเฉพาะมาเลเซีย อินเดียและอินโดนีเซีย กล่าวคือ อัตราภาษีนำเข้าใหม่อยู่ที่ร้อยละ 4.2 สำหรับกุ้งแช่แข็ง และร้อยละ 7 สำหรับกุ้งปรุงแต่ง โดยไม่มีการจำกัดโควตาการนำเข้า หลังจากนั้นจะเข้าสู่ระบบจีเอสพีใหม่ในวันที่ 1 มกราคม 2549 ซึ่งใช้อัตราภาษีเดียวกันกับการลดภาษีนำเข้าชั่วคราวครั้งนี้ ทั้งนี้เดิมผลิตภัณฑ์กุ้งไทยต้องเสียภาษีนำเข้าสหภาพยุโรปในอัตราสูงสุดเพียงประเทศเดียวที่ร้อยละ 12.0-13.2 สำหรับกุ้งสดแช่เย็นแช่แข็งและร้อยละ 20 สำหรับกุ้งปรุงแต่ง เนื่องจากทางสหภาพยุโรปงดการให้จีเอสพีกับไทย ดังนั้นการลดภาษีนำเข้าในครั้งนี้เท่ากับว่าผลิตภัณฑ์กุ้งจากไทยจะสามารถแข่งขันทางด้านราคาได้อย่างเป็นธรรมขึ้นในตลาดสหภาพยุโรป คาดว่าปริมาณการส่งออกกุ้งไทยไปสหภาพยุโรปจะค่อยๆสูงขึ้นโดยเฉพาะในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2548 อันดับการส่งออกผลิตภัณฑ์กุ้งของไทยไปยังสหภาพยุโรปจะเลื่อนขึ้นจากอันดับที่ 44 เป็นอันดับที่ 10 วงการผู้ส่งออกผลิตภัณฑ์กุ้งคาดหมายว่าในปี 2548 มูลค่าการส่งออกผลิตภัณฑ์กุ้งเท่ากับ 2,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ(ประมาณ 80,000 ล้านบาท) เมื่อเทียบกับปี 2547 แล้วเพิ่มขึ้นร้อยละ 19.6 เนื่องจากปัจจัยหนุนการลดภาษีนำเข้าผลิตภัณฑ์กุ้งของสหภาพยุโรป ซึ่งทำให้การส่งออกผลิตภัณฑ์กุ้งในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2548 เพิ่มขึ้นอย่างมาก และส่งผลให้สหภาพยุโรปกลับขึ้นไปเป็นประเทศผู้นำเข้าผลิตภัณฑ์กุ้งที่มีความสำคัญเป็นอันดับสามของไทยรองจากสหรัฐฯและญี่ปุ่น

อย่างไรก็ตามการผลักดันยอดการส่งออกผลิตภัณฑ์กุ้งให้เพิ่มขึ้นได้ตามเป้าหมายใหม่ที่ 2,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯตลอดปี 2548 นี้นับว่าเป็นงานที่ท้าทายและค่อนข้างลำบาก เพราะในช่วงเดือนสิงหาคม-ธันวาคม 2548 นี้ไทยจะต้องส่งออกผลิตภัณฑ์กุ้งให้ได้เฉลี่ยเดือนละ 223.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เทียบกับในระยะ 7 เดือนที่ผ่านมาของปีนี้ที่ไทยส่งออกผลิตภัณฑ์กุ้งเฉลี่ยเพียงเดือนละ 125.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯเท่านั้น ในขณะเดียวกันเพื่อให้บรรลุถึงเป้าหมายมูลค่าส่งออก 2,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯดังกล่าว นอกผู้ส่งออกจะต้องเร่งผลักดันการส่งออกไปยังตลาดสหภาพยุโรปในช่วงไตรมาสสุดท้ายแล้ว ผู้ส่งออกยังต้องเร่งผลักดันการส่งออกไปยังตลาดอื่นๆด้วย โดยเฉพาะสหรัฐฯ ซึ่งอุปสรรคในการขยายการส่งออกไปยังตลาดสหรัฐฯคือ การล็อบบี้ให้รัฐบาลสหรัฐฯทบทวนยกเลิกการเก็บภาษีตอบโต้การทุ่มตลาดกับผลิตภัณฑ์กุ้งไทยเป็นการชั่วคราว เนื่องจากกรณีสถานการณ์เปลี่ยนแปลง อันเป็นผลจากความเสียหายของอุตสาหกรรมกุ้งจากคลื่นยักษ์สึนามิ โดยในวันที่ 10-20 กันยายน 2548 นายกรัฐมนตรีของไทยพร้อมคณะจะเดินทางไปสหรัฐฯเพื่อเจรจาการค้า โดยการเรียกร้องให้สหรัฐฯยกเลิกการเก็บภาษีตอบโต้การทุ่มตลาดกับผลิตภัณฑ์กุ้งไทยเป็นการชั่วคราวนั้นก็เป็นหนึ่งในประเด็นการเจรจา นอกจากนี้ในวันที่ 12 กันยายน 2548 กรมการค้าต่างประเทศและสมาคมอาหารแช่เยือกแข็งไทยจะเดินทางไปสหรัฐฯเพื่อให้ข้อมูลความเสียหายของอุตสาหกรรมกุ้งในพื้นที่ประสบภัยสึนามิ ทั้งนี้เป็นการให้ข้อมูลเพิ่มเติมภายหลังจากเจ้าหน้าที่ของสหรัฐฯเข้ามาเก็บรวบรวมข้อมูลความเสียหายในช่วงปลายเดือนสิงหาคม 2548 แล้ว ซึ่งถ้าสหรัฐฯมีการยกเลิกการเก็บภาษีตอบโต้การทุ่มตลาดให้ไทยเป็นการชั่วคราวที่จะประกาศในเดือนตุลาคม 2548 ก็จะส่งผลให้การส่งออกผลิตภัณฑ์กุ้งไปยังตลาดสหรัฐฯมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2548 เช่นกัน

สำหรับปี 2549 นั้นคาดว่าการส่งออกผลิตภัณฑ์กุ้งไทยยังคงแจ่มใสต่อเนื่อง มูลค่าการส่งออกผลิตภัณฑ์กุ้งของไทยในปี 2549 คาดว่าจะเท่ากับประมาณ 2,400 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมาแล้วเพิ่มขึ้นร้อยละ 20.0 โดยปัจจัยหนุนต่อเนื่องจากสหภาพยุโรปประกาศคืนจีเอสพีให้กับผลิตภัณฑ์กุ้งไทย ซึ่งอัตราภาษีจีเอสพีมีอัตราเท่ากับอัตราภาษีนำเข้าที่ประกาศลดให้ชั่วคราว ทำให้การส่งออกผลิตภัณฑ์กุ้งของไทยไปยังตลาดสหภาพยุโรปยังมีแนวโน้มแจ่มใสต่อเนื่อง และได้รับอานิสงส์ตั้งแต่ต้นปี คาดว่ามูลค่าการส่งออกผลิตภัณฑ์กุ้งไปยังตลาดสหภาพยุโรปจะเพิ่มขึ้นไปอยู่ในระดับใกล้เคียงกับในปี 2540 ซึ่งเป็นปีก่อนที่สหภาพยุโรปประกาศงดการให้จีเอสพีกับสินค้าผลิตภัณฑ์กุ้งจากไทย โดยคาดว่ามูลค่าการส่งออกผลิตภัณฑ์กุ้งไปยังตลาดสหภาพยุโรปในปี 2549 จะเท่ากับ 190.0 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ รวมทั้งถ้าการพิจารณาทบทวนภาษีตอบโต้การทุ่มตลาดของสหรัฐฯ ที่จะประกาศในช่วงเดือนตุลาคม 2548 ซึ่งถ้าสหรัฐฯยกเลิกการเก็บภาษีตอบโต้การทุ่มตลาดให้กับผู้ส่งออกกุ้งไทยเป็นการชั่วคราว เพื่อช่วยเหลือจากที่ผู้เลี้ยงกุ้งไทยได้รับความเสียหายจากสึนามิ ก็จะนับเป็นปัจจัยบวกที่ส่งผลดีต่อการส่งออกผลิตภัณฑ์กุ้งของไทยไปยังตลาดสหรัฐฯอีกด้วย สำหรับการส่งออกผลิตภัณฑ์กุ้งไปยังตลาดญี่ปุ่นมีปัจจัยบวกคือ ข้อตกลงเขตการค้าเสรีไทย-ญี่ปุ่นที่จะมีผลบังคับในช่วงเดือนมกราคม 2549 โดยญี่ปุ่นลดภาษีนำเข้าผลิตภัณฑ์กุ้งจากไทยจากร้อยละ 5 เหลือร้อยละ 0 ทันที จะทำให้การส่งออกผลิตภัณฑ์กุ้งไปญี่ปุ่นปรับตัวเพิ่มขึ้น

ธุรกิจที่ได้รับประโยชน์ต่อเนื่องจากการที่การส่งออกผลิตภัณฑ์กุ้งมีแนวโน้มแจ่มใสคือ อุตสาหกรรมอาหารกุ้ง ธุรกิจเพาะเลี้ยงลูกกุ้ง ธุรกิจห้องเย็น ธุรกิจเครื่องยนต์ดีเซลขนาดเล็ก ซึ่งเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งต้องใช้งานในฟาร์มเพาะเลี้ยง รวมไปถึงเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้ง เนื่องจากคาดว่าราคากุ้งจะเริ่มมีแนวโน้มดีขึ้นจากภาวะการส่งออกที่แจ่มใส ทั้งนี้เนื่องจากผลิตภัณฑ์กุ้งประมาณร้อยละ 70.0 ของผลิตภัณฑ์กุ้งที่ผลิตได้ทั้งหมดนั้นต้องพึ่งพาตลาดส่งออก

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


เกษตรกรรม