Display mode (Doesn't show in master page preview)

15 กันยายน 2548

เกษตรกรรม

ผลิตภัณฑ์ไก่ : ฟื้นตัวชัดเจนในปี'48 ... โตต่อเนื่องสู่ปี'49

คะแนนเฉลี่ย

ผลิตภัณฑ์ไก่เริ่มฟื้นตัวอย่างชัดเจนในปี 2548 ปริมาณการผลิตไก่เนื้อปี 2548 คาดว่ามีประมาณ 819.49 ล้านตัว เมื่อเทียบกับปี 2547 ที่มีปริมาณการผลิต 694.36 ล้านตัวแล้วเพิ่มขึ้นร้อยละ 18.0 เนื่องจากเกษตรกรผู้เลี้ยงและผู้ประกอบการให้ความสำคัญการเลี้ยงที่เน้นคุณภาพมากกว่าปริมาณ ปริมาณการบริโภคในประเทศเพิ่มขึ้นมาอยู่ในระดับปกติ และการส่งออกก็มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น แม้ว่าการส่งออกยังจำกัดอยู่เฉพาะในรูปของไก่แปรรูป เนื่องจากปัญหาไข้หวัดนก แต่ผู้ส่งออกของไทยปรับระบบการผลิตและการขยายการลงทุนในการผลิตไก่แปรรูปเพิ่มขึ้น รวมทั้งผู้บริโภคในต่างประเทศเริ่มหันมาบริโภคไก่แปรรูปมากขึ้น คาดว่าปริมาณการส่งออกผลิตภัณฑ์ไก่ในปี 2548 เท่ากับ 280,000 ตัน มูลค่า 850 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ(ประมาณ 34,000 ล้านบาท) เมื่อเทียบกับปี 2547 ทั้งปริมาณและมูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 46.7 และ 51.3 ตามลำดับ อย่างไรก็ตามการที่จะผลักดันการส่งออกผลิตภัณฑ์ไก่ให้ถึง 850 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯในปี 2548 นี้นับว่าเป็นภารกิจที่ท้าทาย เนื่องจากในช่วงเดือนสิงหาคม-ธันวาคมนี้มูลค่าการส่งออกจะต้องเพิ่มเฉลี่ยเดือนละ 94.38 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในขณะที่ในช่วงเดือนมกราคม-กรกฎาคมนั้นยอดการส่งออกเฉลี่ย 54.0 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯต่อเดือนเท่านั้น ปัจจัยหนุนการส่งออกผลิตภัณฑ์ไก่เนื้อคือ

-ผู้บริโภคในต่างประเทศหันมายอมรับและบริโภคผลิตภัณฑ์ไก่แปรรูปมากขึ้นโดยเฉพาะในตลาดส่งออกหลักของไทยทั้งญี่ปุ่นและสหภาพยุโรป

-คาดว่าในช่วงไตรมาสที่สุดท้ายของปีซึ่งเป็นช่วงเทศกาลเฉลิมฉลอง การส่งออกไก่แปรรูปในปี 2548 จะปรับตัวเพิ่มขึ้นมากกว่าในช่วงปี 2547

-ผู้ส่งออกยังสามารถขยายตลาดส่งออกไปยังตลาดใหม่ โดยเฉพาะประเทศต่างๆในแอฟริกาและตะวันออกกลางที่ผู้บริโภคมีกำลังซื้อสูง ซึ่งประเทศเหล่านี้ในอนาคตจะเป็นตลาดสินค้าไก่แปรรูปที่สำคัญของไทย นับว่าการส่งออกผลิตภัณฑ์ไก่ของไทยฟื้นตัวจากที่การส่งออกชะลอตัวลงในปี 2547 ตลาดส่งออกที่น่าจับตามองคือ แคนาดา เนื่องจากมูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

นอกจากนี้ยังมีข่าวดีที่จะเป็นปัจจัยช่วยกระตุ้นการส่งออกผลิตภัณฑ์ไก่ไปยังสหภาพยุโรป โดยทางองค์การการค้าโลกตัดสินให้สหภาพยุโรปยกเลิกกำแพงภาษีซึ่งกีดกันการนำเข้าเนื้อไก่หมักเกลือของไทยและบราซิล ทำให้ภาษีนำเข้าไก่หมักเกลือลดลงเหลือร้อยละ 15.4 จากที่เคยถูกเรียกเก็บในอัตราร้อยละ 58.9 ตั้งแต่กลางปี 2545 รวมทั้งอัตราภาษีนำเข้าผลิตภัณฑ์ไก่ของญี่ปุ่นมีแนวโน้มลดลงอันเป็นผลมาจากการเปิดเขตการค้าเสรีไทย-ญี่ปุ่น

คาดว่าปริมาณการผลิตไก่เนื้อในปี 2549 มีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 20.0 เมื่อเทียบกับในปีที่ผ่านมา อันเป็นผลมาจากราคาที่อยู่ในเกณฑ์สูงจูงใจให้มีการขยายการเลี้ยง รวมทั้งการคาดการณ์การส่งออกผลิตภัณฑ์ไก่เนื้อที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยคาดว่าการส่งออกผลิตภัณฑ์ไก่เท่ากับ 400,000 ตัน มูลค่า 1,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯหรือทั้งปริมาณและมูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 42.8 และ 17.6

ปัจจัยหนุนการส่งออกผลิตภัณฑ์ไก่ในปี 2549 ได้แก่ ไทยจะกลับมาส่งออกเนื้อไก่สดแช่แข็งได้อีกครั้ง หลังจากสามารถประกาศเป็นเขตปลอดไข้หวัดนกและประเทศผู้นำเข้ายอมรับการเลี้ยงไก่ในลักษณะการแบ่งโซนเลี้ยง นอกจากนี้ยังได้รับอานิสงส์ต่อเนื่องจากการที่ผู้ประกอบการรายใหญ่ขยายกำลังการผลิตไก่แปรรูป และการได้รับการลดภาษีนำเข้าทั้งจากการเปิดเขตการค้าเสรีไทย-ญี่ปุ่น และการที่สหภาพยุโรปต้องลดภาษีนำเข้าไก่หมักเกลือให้กับไทย นอกจากนี้สหรัฐฯอาจจะเปิดตลาดนำเข้าไก่ต้มสุกให้กับไทยเพื่อแลกกับการที่ไทยยกเลิกการนำเข้าเนื้อวัวจากสหรัฐฯภายหลังจากเกิดการระบาดของโรควัวบ้า

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


เกษตรกรรม