Display mode (Doesn't show in master page preview)

19 ตุลาคม 2548

เกษตรกรรม

ผลิตภัณฑ์จากข้าวสาลี : ตลาดในประเทศและตลาดส่งออกขยายตัว

คะแนนเฉลี่ย

ประเทศไทยผลิตข้าวสาลีได้น้อยจึงไม่เพียงพอกับความต้องการใช้ในประเทศ โดยในปี 2547 ไทยมีพื้นที่ปลูกข้าวสาลีประมาณ 8,125 ไร่ ให้ผลผลิตข้าวสาลีประมาณ 800 ตัน ขณะที่ในปี 2538 ผลิตข้าวสาลีได้เพียง 639 ตันเท่านั้น จากปริมาณการผลิตข้าวสาลีของไทยน้อยกว่าปริมาณความต้องการข้าวสาลีทั้งเพื่อการบริโภคในประเทศและการส่งออก ทำให้ไทยต้องพึ่งพิงการนำเข้า โดยการนำเข้าส่วนใหญ่จะอยู่ในรูปของเมล็ดข้าวสาลีและแป้งข้าวสาลี ซึ่งมูลค่าการนำเข้านั้นขยายตัวอย่างมากในปี 2547 และคาดว่าจะขยายตัวต่อเนื่องในปี 2548 เนื่องจากความต้องการทั้งการบริโภคผลิตภัณฑ์ข้าวสาลีในประเทศและการส่งออกขยายตัวอย่างต่อเนื่อง คาดว่ามูลค่าการนำเข้าข้าวสาลีและผลิตภัณฑ์ในปี 2548 เท่ากับ 9,500 ล้านบาท ซึ่งใกล้เคียงกับในปี 2547 โดยผลิตภัณฑ์ที่มีการขยายตัวของการนำเข้าอยู่ในเกณฑ์สูง คือ ข้าวสาลี และแป้งข้าวสาลี

ปัจจุบันเมล็ดข้าวสาลีและแป้งสาลีที่นำเข้ามาราว 2 ใน 3 จะผลิตเป็นผลิตภัณฑ์เพื่อการบริโภค ส่วนที่เหลือราว 1 ใน 3 จะใช้ในการผลิตอาหารสัตว์น้ำ ซึ่งสัดส่วนการบริโภคแป้งสาลีเพื่อการบริโภคแยกออกได้เป็น ขนมปังและผลิตภัณฑ์เบเกอรี่ร้อยละ 35.0 บะหมี่สำเร็จรูปร้อยละ 30.0 บิสกิตร้อยละ 10.0 และที่เหลืออีกร้อยละ 25.0 เป็นการใช้ในลักษณะอเนกประสงค์

คนไทยเริ่มคุ้นเคยกับผลิตภัณฑ์จากแป้งสาลี ไม่ว่าจะเป็นขนมปัง บะหมี่สำเร็จรูป ผลิตภัณฑ์เบเกอรี่ต่างๆ โดยเฉพาะเค้ก คุกกี้ บิสกิต ทำให้อุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์จากแป้งสาลีในประเทศไทยมีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะตั้งแต่ช่วงหลังปี 2542 โดยอัตราการขยายตัวของตลาดเฉลี่ยประมาณร้อยละ 10-15 ต่อปี ซึ่งปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการขยายตัวของตลาดผลิตภัณฑ์จากแป้งสาลีคือ การขยายตัวของประชากร อุตสาหกรรมต่อเนื่องต่างๆ และธุรกิจร้านอาหารประเภทฟาสต์ฟู้ดส์ อย่างไรก็ตามไทยนั้นนับว่าเป็นประเทศที่มีอัตราการบริโภคแป้งสาลีอยู่ในเกณฑ์ต่ำในภูมิภาคเอเชีย โดยมีอัตราการบริโภคเฉลี่ยเพียง 10 กิโลกรัมต่อคนต่อปี สำหรับแป้งสาลีที่ใช้อุตสาหกรรมอาหารสัตว์น้ำนั้นขึ้นอยู่กับการเติบโตของการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำโดยเฉพาะการเลี้ยงกุ้ง ซึ่งมีแนวโน้มจะมีการขยายตัวอย่างมากในปี 2549 อันเป็นผลมาจากการที่สหภาพยุโรปคืนสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรเป็นการทั่วไปหรือจีเอสพีให้กับไทย ทำให้การส่งออกผลิตภัณฑ์กุ้งไปยังตลาดสหภาพยุโรปมีแนวโน้มขยายตัวอย่างมาก

เมล็ดข้าวสาลีและแป้งข้าวสาลีที่นำเข้าส่วนหนึ่งจะแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์เพื่อส่งออก โดยคาดว่ามูลค่าการส่งออกข้าวสาลีและผลิตภัณฑ์ในปี 2548 ประมาณ 20,000 ล้านบาท เมื่อเทียบกับในปี 2547 แล้วเพิ่มขึ้นร้อยละ 37.2 มูลค่าการส่งออกที่มีการขยายตัวอย่างมากคือ ผลิตภัณฑ์จากข้าวสาลี โดยเฉพาะบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป รองลงมาคือ ผลิตภัณฑ์เบเกอรี่ โดยมูลค่าการส่งออกบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปนั้นคิดเป็นสัดส่วนถึงร้อยละ 84.0 ของมูลค่าการส่งออกข้าวสาลีและผลิตภัณฑ์ของไทย ซึ่งเท่ากับว่าไทยนำเข้าเมล็ดข้าวสาลีและแป้งสาลีเพื่อแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ส่งออก นับว่าเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับข้าวสาลีในประเทศไทย

สำหรับการส่งออกบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปในปัจจุบันพิกัดศุลกากรยังรวมอยู่กับอาหารสำเร็จรูปอื่นๆ โดยประมาณว่ามูลค่าการส่งออกบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปคิดเป็นประมาณร้อยละ 60.0 ของมูลค่าการส่งออกอาหารสำเร็จรูปอื่นๆ ตลาดส่งออกที่สำคัญคือ ฟิลิปปินส์ ตุรกี ญี่ปุ่น สหรัฐฯ และฮ่องกง ซึ่งการส่งออกนี้ยังไม่รวมมูลค่าการส่งออกตามแนวชายแดนไปยังประเทศเพื่อนบ้าน โดยตลาดส่งออกที่จับตามองเป็นอย่างมากคือ ตุรกี เนื่องจากตั้งแต่ปี 2546 เป็นต้นมามีอัตราการขยายตัวของการส่งออกเพิ่มขึ้นอย่างมาก ส่วนตลาดผลิตภัณฑ์เบเกอรี่ที่ไทยส่งออก คือ ลาว กัมพูชา และสิงคโปร์ อย่างไรก็ตามตลาดที่น่าจับตามองคือ ญี่ปุ่น สหรัฐฯ และออสเตรเลีย ซึ่งการส่งออกมีแนวโน้มขยายตัวอย่างมากตั้งแต่ปี 2547 เป็นต้นมา

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


เกษตรกรรม