Display mode (Doesn't show in master page preview)

21 เมษายน 2549

การค้า

สิทธิจีเอสพีของสหรัฐฯ : กดดันไทยเจรจา FTA

คะแนนเฉลี่ย

สหรัฐฯ นำประเด็นเรื่องการทบทวนการให้สิทธิพิเศษทางการค้า (สิทธิจีเอสพี) ในเดือนกรกฎาคม 2549 และการต่ออายุโครงการจีเอสพีที่จะหมดอายุลงในเดือนธันวาคม 2549 มากดดันไทยให้สานต่อการเจรจา FTA กับสหรัฐฯ ให้ได้ข้อสรุปโดยเร็วภายในปีนี้ ก่อนที่อำนาจการเจรจาการค้าของฝ่ายบริหารสหรัฐฯ (Fast Track) จะหมดอายุลงในเดือนกรกฎาคม 2550 ซึ่งการถูกระงับสิทธิจีเอสพีจะส่งผลกระทบต่อการส่งออกไทยไปสหรัฐฯ เพราะปัจจุบันสินค้าส่งออกไทยไปสหรัฐฯ ที่ใช้สิทธิจีเอสพีมีมูลค่าราว 3,575 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ คิดเป็นสัดส่วนราว 21% ของการส่งออกทั้งหมดของไทยไปสหรัฐฯ

สินค้าส่งออกของไทยไปสหรัฐฯ ที่ใช้สิทธิจีเอสพี 20 อันดับแรก ส่วนใหญ่เป็นสินค้าอุตสาหกรรม หากสินค้าส่งออกไทยไปสหรัฐฯ ถูกตัดสิทธิจีเอสพี จะกระทบต่อขีดความสามารถทางการแข่งขันในตลาดสหรัฐฯ เพราะสินค้าส่งออกของไทยที่เคยได้รับสิทธิจีเอสพีไม่ต้องเสียภาษีขาเข้าสหรัฐฯ จะต้องถูกเก็บภาษีในอัตรา MFN (Most-Favored Nation) โดยเฉพาะกลุ่มอัญมณีและเครื่องประดับที่จะได้รับผลกระทบมาก เพราะมีมูลค่าส่งออกโดยใช้สิทธิจีเอสพีสูงที่สุด โดยจะต้องเสียภาษี MFN เฉลี่ยราว 7% และต้องแข่งขันกับคู่แข่งที่มีศักยภาพอย่างอินเดียและจีน

นอกจากนี้ ประเทศคู่แข่งสำคัญของไทยในสินค้าหลายรายการ ได้แก่ มาเลเซีย และเกาหลีใต้ กำหนดจะเริ่มเจรจา FTA ทวิภาคีกับสหรัฐฯ ในช่วงกลางปี 2549 โดยสหรัฐฯ พยายามผลักดันให้การเจรจาดังกล่าวได้ข้อสรุปภายในปี 2549 คาดว่า หากสหรัฐฯ เจรจาจัดทำ FTA กับมาเลเซียและเกาหลีใต้ เสร็จสิ้นก่อน FTA ไทย-สหรัฐฯ จะทำให้สินค้าส่งออกจากมาเลเซียและเกาหลีใต้เข้าสู่ตลาดสหรัฐฯ โดยมีความได้เปรียบทางภาษีมากขึ้น รวมทั้งประเทศอินโดนีเซียซึ่งคาดว่าจะเป็นคู่เจรจา FTA กับสหรัฐฯ รายต่อไป เพราะขณะนี้อินโดนีเซียอยู่ระหว่างการศึกษาความเป็นไปได้ในการจัดทำ FTA กับสหรัฐฯ หลังจากการศึกษาดังกล่าวหยุดชะงัก ซึ่งการสานต่อการศึกษา FTA นี้ เป็นผลมาจากแรงผลักดันจากภาคเอกชนอินโดนีเซียที่กลัวว่า หากอินโดนีเซียไม่เจรจาจัดทำ FTA กับสหรัฐฯ จะสูญเสียขีดความสามารถทางการแข่งขันกับประเทศคู่แข่งสำคัญอย่างไทยในตลาดสหรัฐฯ

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เห็นว่า การรักษาขีดความสามารถทางการแข่งขันของไทยในตลาดสหรัฐฯ และการช่วงชิงความได้เปรียบก่อนประเทศคู่แข่งอื่นๆ เป็นสิ่งสำคัญต่อการขยายการส่งออกของไทยในสหรัฐฯ เนื่องจากสหรัฐฯ เป็นประเทศที่ไทยส่งออกสินค้าไปมีมูลค่าสูงเป็นอันดับ 1 และไทยเป็นฝ่ายเกินดุลการค้ากับสหรัฐฯ มาโดยตลอด แต่การเจรจาจัดทำ FTA กับสหรัฐฯ ควรพิจารณาอย่างรอบคอบ และการต่อรองควรได้ประโยชน์ที่ทัดเทียมกัน โดยไม่ควรเร่งรีบเจรจาจนละเลยผลประโยชน์ที่ไทยต้องการ แม้แต่มาเลเซียและเกาหลีใต้ก็มีท่าทีไม่ยอมรับเงื่อนเวลาที่สหรัฐฯ ต้องการให้การเจรจา FTA ให้ได้ข้อสรุปภายในปีนี้ หากเห็นว่าการเจรจาไม่ได้ข้อสรุปที่เป็นประโยชน์กับทั้งสองฝ่าย

นอกจากนี้ หากไทยตกลงจัดทำ FTA กับสหรัฐฯ และความตกลง FTA มีผลบังคับใช้แล้ว สิทธิจีเอสพีที่ไทยเคยได้รับในลักษณะการให้ฝ่ายเดียวของสหรัฐฯ จะถูกเพิกถอนไป แต่จะเปลี่ยนรูปแบบเป็นการแลกเปลี่ยนประโยชน์จากการเจรจาต่อรองเพื่อการเข้าสู่ตลาดซึ่งกันและกันภายใต้ FTA ไม่ใช่การให้ของสหรัฐฯ ฝ่ายเดียวอีกต่อไป ดังเช่นกรณีของเม็กซิโกที่ถูกสหรัฐฯ เพิกถอนสิทธิจีเอสพีในปี 2537 เนื่องจากเข้าร่วมเป็นสมาชิกเขตการค้าเสรีอเมริการเหนือ (NAFTA) ร่วมกับสหรัฐฯ และแคนาดา แต่ประเด็นสำคัญ คือ การเจรจา FTA กับสหรัฐฯ ไม่ได้ครอบคลุมเฉพาะการลดภาษีศุลกากรเท่านั้น แต่ยังรวมถึงการเปิดตลาดภาคบริการ และประเด็นเรื่องทรัพย์สินทางปัญญา แรงงาน และสิ่งแวดล้อม ที่ไทยอาจจะต้องแลกเปลี่ยนกับสหรัฐฯ โดยเปิดตลาดภาคบริการให้สหรัฐฯมากขึ้น รวมทั้งให้ความคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา แรงงาน และสิ่งแวดล้อมที่เข้มงวดขึ้น

สหรัฐฯ ไม่เพียงต้องการใช้กลยุทธ์การจัดทำ FTA เพื่อลดอุปสรรคทางการค้าและสร้างโอกาสให้กับสินค้าส่งออกสำคัญของสหรัฐฯ ในตลาดประเทศคู่เจรจา FTA เพื่อบรรเทาปัญหาการขาดดุลการค้าที่เพิ่มขึ้นทุกๆ ปี โดยปี 2548 สหรัฐฯ ขาดดุลการค้าถึง 766,561 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพิ่มขึ้น 18% จาก 651,735 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ปี 2547 โดยขาดดุลการค้ากับไทย 8,380.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ แต่ยังต้องการขยายตลาดส่งออกสินค้าภาคบริการที่สหรัฐฯ มีศักยภาพ ซึ่งขณะนี้สหรัฐฯ เป็นประเทศที่เกินดุลการค้าภาคบริการ (trade in services) และเป็นประเทศส่งออกบริการที่สำคัญของโลก เช่น บริการทางการเงิน การขนส่ง และการศึกษา สหรัฐฯ จึงต้องการให้ประเทศคู่เจรจา FTA ลด/เลิกกฎระเบียบที่เป็นอุปสรรคต่อการเข้าไปลงทุนจัดตั้งธุรกิจให้บริการสาขาต่างๆ ของสหรัฐฯ โดยสหรัฐฯ หวังว่า การขยายตัวของการส่งออกบริการดังกล่าว จะมีส่วนช่วยบรรเทาการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดที่สหรัฐฯ ขาดดุลติดต่อกันมาหลายปี โดยในปี 2548 สหรัฐฯ ขาดดุลบัญชีเดินสะพัดราว 800,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ คิดเป็นสัดส่วนราว 6.4% ของ GDP

การจัดทำ FTA ของไทยกับสหรัฐฯ จึงต้องพิจารณาทั้งประเด็นด้านผลดีจากการขยายการส่งออกของไทยในสหรัฐฯ เพื่อสร้างความได้เปรียบในการแข่งขันกับสินค้าจากประเทศคู่แข่งของไทย พร้อมกับเตรียมรับมือกับการเปิดตลาดสินค้าภายในประเทศที่ไทยต้องลดภาษีให้สหรัฐฯ รวมทั้งตั้งรับกับการเปิดตลาด ภาคบริการและการลงทุนของไทย โดยเร่งให้ภาคธุรกิจของไทยเตรียมพร้อมต่อการแข่งขันกับบริษัทสหรัฐฯ ที่มาพร้อมกับทุนและเทคโนโลยีที่ก้าวหน้า รวมทั้งประเด็นความเข้มงวดในการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา แรงงาน และสิ่งแวดล้อม ที่มีทั้งแง่ผลดีกับประเทศไทยด้านการคุ้มครองสิ่งประดิษฐ์/คิดค้นของคนไทยเอง สวัสดิการ/ความเป็นอยู่ของแรงงานที่ดีขึ้น และการปกป้องรักษาสิ่งแวดล้อม และแง่ผลเสียที่ต้องพิจารณาควบคู่กันไป โดยเฉพาะผลเสียจากการเข้าถึงยารักษาโรคได้ยากขึ้น ซึ่งเป็นผลมาจากความเข้มงวดด้านการคุ้มครองสิทธิบัตรยา ทำให้ราคายาในประเทศแพงขึ้น รวมทั้งต้นทุนการดำเนินการของทั้งภาครัฐและเอกชนที่เพิ่มขึ้น จากมาตรฐานที่สูงขึ้นของระดับการคุ้มครองแรงงานและสิ่งแวดล้อม

รายการสินค้าส่งออกของไทย 5 อันดับแรกที่ได้รับสิทธิจีเอสพีจากสหรัฐฯ
อัตราภาษี MFN (Most-Favored Nation) ปี 2548
คู่แข่งของไทยในสหรัฐฯ
1. อัญมณีและเครื่องประดับทำจากโลหะมีค่า
5.5%
อินเดีย จีน อิตาลี ฮ่องกง ตุรกี เม็กซิโก
2. เครื่องรับโทรทัศน์สี
3.9%
มาเลเซีย จีน เม็กซิโก ฮ่องกง เบลเยี่ยม เกาหลีใต้ อินโดนีเซีย ไต้หวัน ญี่ปุ่น
3. บรรจุภัณฑ์ทำด้วยพลาสติก
3.0%
แคนาดา จีน ไต้หวัน เม็กซิโก อินโดนีเซีย เกาหลีใต้ มาเลเซีย เวียดนาม ฮ่องกง
4. ยางเรเดียล
4.0%
แคนาดา จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ อังกฤษ บราซิล สเปน เยอรมนี ฝรั่งเศส เม็กซิโก ไต้หวัน อินเดีย
5. เครื่องรูปพรรณอื่นๆ ทำด้วยโลหะเงินมีมูลค่าเกิน 18 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อโหลชิ้น
5.0%
จีน อิตาลี เม็กซิโก อินเดีย อินโดนีเซีย สเปน อิสราเอล แคนาดา ฮ่องกง

ที่มา : ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประมวลจาก USITC Trade Database และ United States Trade Representative (USTR)

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


การค้า

FTA