Display mode (Doesn't show in master page preview)

3 พฤษภาคม 2549

การค้า

เวียดนาม VS ไทย : คู่แข่งการค้า-ลงทุน-ท่องเที่ยว

คะแนนเฉลี่ย

สถานการณ์เศรษฐกิจโลกกำลังเผชิญวิกฤตราคาน้ำมันที่แพงขึ้นเรื่อยๆ ในขณะนี้ ทำให้หวั่นเกรงกันว่าเศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มชะลอลง แต่สำหรับประเทศที่มีทรัพยากรธรรมชาติน้ำมันดิบ ไม่ได้รับผลกระทบมากนัก เวียดนามก็เป็นประเทศหนึ่งที่มีน้ำมันดิบเป็นทรัพยากรธรรมชาติสำคัญ คาดการณ์ว่าเวียดนามจะครองแชมป์เศรษฐกิจขยายตัวสูงสุดในกลุ่มอาเซียน ในอัตราประมาณ 7.6%-8.0% ในปี 2549 เทียบกับอัตราคาดการณ์การเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยในอัตราประมาณ 4.0%-4.5% ในปีนี้ นับว่าประเทศไทยมีอัตราขยายตัวรั้งท้ายสุดในกลุ่มสมาชิกอาเซียนชั้นนำ 6 ประเทศ

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เปรียบเทียบความสามารถทางเศรษฐกิจระหว่างเวียดนามกับประเทศไทย ซึ่งมีพื้นฐานเศรษฐกิจที่คล้ายคลึงกัน ใน 3 ประเด็นหลัก ได้แก่ การค้า การท่องเที่ยว และการลงทุน สรุปได้ดังนี้

การค้าเวียดนาม VS การค้าไทย ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา มูลค่าส่งออกของเวียดนามเพิ่มขึ้นกว่า 4 เท่าตัว จาก 7,256 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯในปี 2539 เป็น 32,233 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯในปี 2548 หรือคิดเป็นอัตราขยายตัวเฉลี่ยสูงถึง 20% ต่อปีในช่วงระหว่างปี 2539-2548 เปรียบเทียบกับการส่งออกของไทยในช่วงเดียวกัน เพิ่มขึ้นประมาณ 2 เท่าตัว จากมูลค่าส่งออก 55,941 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯในปี 2539 เป็น 110,883 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯในปี 2548 หรือคิดเป็นอัตราขยายตัวเฉลี่ยประมาณ 10% ต่อปีในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา นับว่าการส่งออกของเวียดนามเติบโตในอัตราสูงกว่าการส่งออกของไทย 1 เท่าตัว

ประเด็นที่น่าสังเกต : แม้ว่าปัจจุบันมูลค่าส่งออกของเวียดนามคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 1 ใน 3 ของมูลค่าส่งออกของไทย แต่หากเวียดนามสามารถขยายการส่งออกได้อย่างต่อเนื่องในอัตราเฉลี่ย 20% ต่อปี ขณะที่การส่งออกของไทยเติบโตเฉลี่ย 10% ต่อปี คาดว่าภายในเวลา 14 ปีถัดจากนี้ เวียดนามจะสามารถแซงหน้าประเทศไทย โดยประมาณการว่าเวียดนามจะมีมูลค่าส่งออกเกือบ 500,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯในปี 2563 เทียบกับมูลค่าส่งออกของไทยประมาณ 463,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯในปีเดียวกัน

ลงทุนเวียดนาม VS ลงทุนไทย ในไตรมาสแรกของปีนี้ โครงการลงทุนของต่างชาติที่เวียดนามและไทยอนุมัติใบอนุญาตการลงทุนมีมูลค่าใกล้เคียงกัน โดยทางการเวียดนามอนุมัติโครงการลงทุนรายใหม่จำนวน 215 โครงการ จำนวนเงินทุนจดทะเบียน 1,625 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ขณะที่ BOI ของไทยอนุมัติโครงการลงทุนจำนวน 200 โครงการ เพิ่มขึ้น 9.9% และเม็ดเงินลงทุนเพิ่มขึ้น 58% เป็นจำนวนประมาณ 2,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯในช่วงเดียวกัน

ประเด็นที่น่าสังเกต : นักธุรกิจต่างชาติที่เข้าไปลงทุนในเวียดนามและที่เข้ามาลงทุนในประเทศไทย จัดเป็นนักลงทุนต่างชาติกลุ่มเดียวกัน อาทิ ไต้หวัน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ สิงคโปร์ ฮ่องกง มาเลเซีย จีน สหรัฐอเมริกา เป็นต้น หากบรรยากาศการลงทุนของไทยอึมครึม โดยเฉพาะเหตุการณ์สับสนทางการเมืองทำให้นักลงทุนต่างชาติไม่มั่นใจ ก็มีแนวโน้มว่านักลงทุนต่างชาติจะเคลื่อนย้ายการลงทุนไปยังประเทศเพื่อนบ้านของไทยมากขึ้น รวมทั้งเวียดนาม ซึ่งสถานการณ์การเมืองภายในประเทศของเวียดนามค่อนข้างสงบ อย่างไรก็ตาม หากสถานการณ์การเมืองของไทยกลับสู่ภาวะปกติในช่วงครึ่งปีหลัง ก็มีแนวโน้มว่าการลงทุนจากต่างประเทศในไทยน่าจะกระเตื้องขึ้น

ท่องเที่ยวเวียดนาม VS ท่องเที่ยวไทย นักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางไปเวียดนามเพิ่มขึ้น 18.4% เป็นจำนวน 3.47 ล้านคนในปี 2548 คิดเป็นสัดส่วนราว 1 ใน 3 ของนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางมาประเทศไทย ซึ่งประมาณว่าจะมีจำนวนราว 11 ล้านคนในปี 2548 แต่การท่องเที่ยวของเวียดนามขยายตัวต่อเนื่องตลอด 2-3 ปีที่ผ่านมา และมิได้รับผลกระทบจากภัยสึนามิ ทางการเวียดนามตั้งเป้าหมายที่จะดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างชาติจำนวน 3.6-3.8 ล้านคนในปี 2549 โดยกำหนดให้ปีนี้เป็น "ปีแห่งการท่องเที่ยวเวียดนาม 2006"

ประเด็นที่น่าสังเกต : เวียดนามมีศักยภาพในการพัฒนาด้านการท่องเที่ยวที่หลากหลาย ทั้งการท่องเที่ยวเชิงศิลปวัฒนธรรม แหล่งโบราณสถานเก่าแก่ การท่องเที่ยวเพื่อชมความงดงามทางธรรมชาติ และการท่องเที่ยวเพื่อความสนุกสนานยามราตรีในเมืองธุรกิจ จนได้รับ การจัดอันดับให้เป็น "จุดหมายปลายทางการท่องเที่ยวโดดเด่นแห่งใหม่ของตะวันออกไกล" ตัวอย่างเมืองท่องเที่ยวของเวียดนามที่ได้รับความนิยม ได้แก่ ฮานอย โฮจิมินห์ซิตี้ เว้ ฮอยอัน ดาลัด อ่าวฮาลอง ดานัง เดียนเบียนฟู เป็นต้น นักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางมาประเทศไทยและเวียดนามจัดเป็นนักท่องเที่ยวกลุ่มเดียวกัน ไทยและเวียดนามจึงน่าจะร่วมมือกันสร้างตลาดท่องเที่ยวเป็นแพ็คเก็จร่วมกัน เพื่อเกื้อกูลประโยชน์ด้านการท่องเที่ยวซึ่งกันและกัน

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


การค้า