Display mode (Doesn't show in master page preview)

10 พฤษภาคม 2549

อุตสาหกรรม

เวียดนาม : คู่แข่ง...ในอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ของไทย

คะแนนเฉลี่ย

ความเติบโตอย่างต่อเนื่องในช่วงระยะที่ผ่านมาของอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ในขณะที่ผู้ผลิตต้องเผชิญภาวะการแข่งขันที่รุนแรงเนื่องจากราคาจำหน่ายได้ปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง และการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วของเทคโนโลยี ทำให้ผู้ผลิตต่างก็เล็งหาแหล่งผลิตที่มีต้นทุนต่ำที่สุดตามนโยบาย global sourcing ทำให้เกิดการไหลเวียนของเงินลงทุนในการผลิตไปยังที่ต่างๆ ทั่วโลก รวมถึงประเทศไทยเอง ในฐานะที่เป็นฐานการผลิตที่สำคัญของสินค้าอิเล็กทรอนิกส์หลายชนิด ไม่ว่าจะฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ แผงวงจรไฟฟ้า วงจรพิมพ์ เครื่องรับโทรทัศน์ เครื่องปรับอากาศ ซึ่งอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์จัดว่าเป็นอุตสาหกรรมเรือธงที่นำรายได้จากการส่งออกเป็นสัดส่วนสูง และเป็นอุตสาหกรรมที่ไทยให้การส่งเสริมเพื่อขยายการผลิตและรองรับการลงทุนจากต่างประเทศมาโดยตลอด อย่างไรก็ตาม ในกลุ่มประเทศอาเซียนซึ่งเป็นประเทศที่ได้รับความสนใจจากนักลงทุนต่างชาติ การแข่งขันของประเทศในกลุ่มอาเซียนเพื่อดึงดูดเงินลงทุนจากประเทศผู้ผลิตที่สำคัญอย่างสหรัฐ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และจีน นั้นได้ทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น เวียดนาม เป็นประเทศที่ได้รับการจับตามองว่าจะเป็นแหล่งผลิตสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ที่สำคัญอีกแห่งหนึ่งในภูมิภาคอาเซียน หลังจากในระยะ 2-3 ปีที่ผ่านมา การขยายตัวของการลงทุนจากต่างประเทศของเวียดนามเพิ่มขึ้นอย่างมาก

การลงทุนจากต่างประเทศเพื่อการผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ของเวียดนามมีมูลค่าเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเป็นการขยายฐานผลิตที่สำคัญของบริษัทผู้ผลิตสินค้าชั้นนำของโลกเข้าไปในเวียดนามและล่าสุดการลงทุนของอินเทลเพื่อสร้างโรงงานผลิตชิปคอมพิวเตอร์มูลค่ากว่า 600 ล้านเหรียญสหรัฐยิ่งทำให้เวียดนามได้รับความสนใจมากยิ่งขึ้น มูลค่าของการส่งออกเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ของเวียดนามเพิ่มขึ้นจาก 782 ล้านเหรียญสหรัฐ ในปี 2000 เป็น 2,300 ล้านเหรียญสหรัฐ ในปี 2005 หรือเพิ่มขึ้นประมาณ 3 เท่าตัว นอกจากนี้เวียดนามยังตั้งเป้าหมายว่าจะสามารถขยายการส่งออกได้เพิ่มขึ้นเป็น 7,000 ล้านเหรียญสหรัฐในปี 2010 อย่างไรก็ตามแม้ว่าการส่งออกสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ของเวียดนามจะเพิ่มขึ้นมาก แต่เวียดนามก็ยังเป็นประเทศขาดดุลการค้าในกลุ่มสินค้านี้อยู่ด้วย หรือมีมูลค่านำเข้ามากกว่าส่งออก

ปัจจัยบวกของเวียดนามเมื่อเทียบกับประเทศแหล่งลงทุนอื่นๆ มีดังนี้ คือ การเติบโตของเศรษฐกิจในประเทศที่อยู่ในระดับสูงต่อเนื่อง จำนวนประชากรในวัยแรงงานจำนวนมากและมีอัตราค่าจ้างไม่สูงมากนัก ตลาดในประเทศขนาดใหญ่และมีโอกาสที่จะเติบโตได้ดี นอกจากนี้เวียดนามกำลังจะตกลงเปิดเสรีการค้าแบบทวิภาคีกับสหรัฐ และเตรียมจะเข้าเป็นสมาชิกองค์การการค้าโลก (WTO) ภายในสิ้นปีนี้ ซึ่งจะช่วยให้บทบาทของเวียดนามในเวทีโลกโดดเด่นขึ้นเป็นผลดีต่อการค้าและโอกาสทางการลงทุนที่จะได้รับการยอมรับจากตลาดโลกเพิ่มขึ้น การมีทรัพยากรธรรมชาติที่สมบูรณ์และราคาที่ดินอยู่ในเกณฑ์ต่ำ โดยเฉพาะการมีแหล่งน้ำมันดิบธรรมชาติจำนวนมาก นอกจากนี้การที่เวียดนามประกาศสร้างโรงกลั่นน้ำมันแห่งแรกของประเทศ ยิ่งทำให้ต้นทุนทางด้านพลังงานของเวียดนามต่ำในสายตาของนักลงทุน ในท่ามกลางสถานการณ์ของราคาน้ำมันในตลาดโลกเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งทำให้ต้นทุนการขนส่งเพิ่มสูงขึ้นไปด้วย การมองหาแหล่งลงทุนที่มีต้นทุนต่ำยิ่งทำให้เวียดนามกลายเป็นประเทศที่อยู่ในความสนใจเป็นอันดับต้นๆ นอกจากนี้ราคาที่ดินในเวียดนามยังอยู่ในเกณฑ์ต่ำเมื่อเทียบประเทศอื่น เช่น ไทย สิงคโปร์ และมาเลเซีย การปรับปรุงกฎระเบียบทางการค้า การลงทุนและการให้สิทธิประโยชน์ทางการค้า โดยเฉพาะการยกเว้นภาษีนำเข้าวัตถุดิบและเครื่องจักรในเขตอุตสาหกรรมส่งออก (Export Processing Zone : EPZ) การลดขั้นตอนที่เป็นอุปสรรคทางการค้า เช่น ขั้นตอนศุลกากร, การขอคืนภาษี และการให้สิทธิประโยชน์งดเว้นภาษีเงินได้กิจการที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุน เช่นเดียวกับประเทศอื่นๆ ในอาเซียน

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เปรียบเทียบความสามารถทางในการแข่งขันในอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ระหว่างเวียดนามกับประเทศไทย ในประเด็นหลักต่างๆ ดังนี้
ประเด็นพิจารณา
ไทย
เวียดนาม
การเติบโตของเศรษฐกิจ 2006 : 4.0-4.5% 2006 : 7.6-8.0%
จำนวนแรงงาน (15-60 ปี) 21.6 ล้านคน 53 ล้านคน
มูลค่าการส่งออกเครื่องใช้ไฟฟ้าฯ 36,000 ล้านเหรียญสหรัฐ 1,442 ล้านเหรียญสหรัฐ
สินค้าส่งออกที่สำคัญ ฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ , แผงวงจรไฟฟ้า , เครื่องปรับอากาศ, เครื่องรับโทรทัศน์ ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์, พรินเตอร์, เครื่องซักผ้า, เครื่องรับโทรทัศน์
มูลค่า FDI ในกลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้าฯ 2005 : 2,150 ล้านเหรียญสหรัฐ 2005 : ~ 500 ล้านเหรียญสหรัฐ
อันดับความน่าสนใจในการลงทุนในเอเชีย อันดับ 3 อันดับ 4
แผนแม่บทในการพัฒนาอุตสาหกรรมเฉพาะ มีแผนการพัฒนาอุตสาหกรรมเฉพาะและต่อเนื่อง นอกจากนี้ยังมีการจัดตั้งสถาบันไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์เพื่อเป็นสื่อกลางระหว่างภาครัฐและเอกชน ยังไม่มีแผนพัฒนาอุตสาหกรรมเฉพาะ แผนพัฒนาอยู่รวมกับแผนพัฒนาประเทศทั่วไป และยังไม่มีองค์กรที่จะเป็นสื่อกลางระหว่างภาครัฐและเอกชน
ความพร้อมทางด้านโครงสร้างพื้นฐาน
มีความพร้อมทางด้านการขนส่งและการผลิตไฟฟ้าค่อนข้างดี นอกจากนี้การเปิดสนามบินสุวรรณภูมิยังทำให้การขนส่งทางอากาศของไทยได้รับความสะดวกมากขึ้น ยังไม่มีความพร้อมมากนัก ทั้งทางด้านการขนส่งภายในประเทศและการส่งออก นอกจากนี้โรงไฟฟ้ายังต้องปรับปรุงในส่วนของภาครัฐ
อุตสาหกรรมสนับสนุน เริ่มมีการพัฒนาไปได้ในระดับหนึ่ง อยู่ในขั้นเริ่มต้นการพัฒนา
แรงงาน ขาดแคลนแรงงานฝีมือที่จะพัฒนาต่อยอดไปในอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีระดับสูง นอกจากนี้ยังมีปัญหาทางด้านการสื่อสารภาษาอังกฤษและญี่ปุ่น ยังมีแรงงานที่มีทักษะเฉพาะไม่มากนัก และยังมีประสบการณ์ไม่มากนักแต่มีพื้นฐานทางด้านภาษาค่อนข้างดี ทำให้มีแนวโน้มในการพัฒนาคุณภาพได้
เป้าหมายการพัฒนาอุตสาหกรรม เน้นการพัฒนาอุตสาหกรรมที่มี value-added ตั้งเป้าหมายในการพัฒนาอุตสาหกรรมไฟฟ้าฯ ให้เป็นฮับในระดับภูมิภาค เน้นการพัฒนาให้เกิด value chain ของอุตสาหกรรมและการพัฒนาแบบเป็น cluster ยังไม่มีแผนการพัฒนาโดยเฉพาะ แต่การขยายการลงทุนจากต่างประเทศของบริษัทชั้นนำของโลก จะมีผลต่อการดึงดูดการลงทุนในอุตสาหกรรมต่อเนื่องอื่นๆ เข้าไปในประเทศได้มาก
การเปิดเสรีทางการค้า - เป็นสมาชิก WTO

- เตรียมที่จะเปิดการค้าเสรีกับประเทศ สหรัฐ และญี่ปุ่น เพื่อเปิดตลาดทางค้าให้เพิ่มมากขึ้น
- ยังไม่ได้เป็นสมาชิก WTO

- เจรจาเปิดการค้าแบบทวิภาคีกับสหรัฐ ซึ่งคาดว่าจะทำให้ได้รับประโยชน์จากการเปิดการค้าครั้งนี้ค่อนข้างมาก

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มีความเห็นว่า ความร้อนแรงของการเติบโตของอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ในเวียดนามนั้นเป็นสิ่งที่ไทยเองไม่สามารถมองข้ามได้ แม้ว่าในปัจจุบันไทยจะมีจำนวนเงินลงทุนจากต่างประเทศในกลุ่มอุตสาหกรรมนี้สูงกว่าเวียดนามถึง 5 เท่า มีเม็ดเงินในด้านการส่งออกสูงกว่า 20-30 เท่า มีประสบการณ์ในการพัฒนาอุตสาหกรรมที่ยาวนานกว่า มีศักยภาพที่ดีกว่าในปัจจุบัน แต่สำหรับการผลิตสินค้าในประเทศไทยนั้นกลับมีแนวโน้มของต้นทุนที่สูงขึ้น ไม่ว่าจะเป็นค่าจ้างแรงงานที่ปรับตัวสูงขึ้น ต้นทุนทางด้านพลังงานที่สูงในขณะที่ไทยเองมีแหล่งพลังงานที่ไม่เพียงพอต้องนำเข้าน้ำมันจากต่างประเทศเพื่อมาบริโภค ทำให้ต้นทุนทางด้านพลังงานขึ้นกับราคาตลาดโลกที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นอยู่ตลอดเวลา ปัญหาพื้นฐานของอุตสาหกรรมที่ยังดำเนินไปต่อเนื่องทั้งในเรื่องของอุตสาหกรรมต้นน้ำที่ยังไม่ได้รับการพัฒนา ความพร้อมของบุคลากรทักษะสูง ที่จะทำให้ไทยหลีกเลี่ยงการแข่งขันกับการผลิตสินค้าที่มี value added ในระดับต่ำ สิ่งเหล่านี้ทำให้ไทยต้องระมัดระวังว่าเวียดนามอาจจะก้าวขึ้นมาเป็นแหล่งลงทุนที่สำคัญสำหรับอุตสาหกรรมนี้ %

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


อุตสาหกรรม