Display mode (Doesn't show in master page preview)

9 ธันวาคม 2548

อุตสาหกรรม

ทิศทางและแนวโน้มตลาดเหล็กโลก ... จีนยังคงเป็นปัจจัยกำหนด

คะแนนเฉลี่ย

ปัจจุบันอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของจีนอยู่ในระดับสูงต่อเนื่องมาหลายปี ส่งผลกระทบต่อภาวะการค้าระหว่างประเทศและระบบเศรษฐกิจของโลกโดยรวม เป็นปรากฏการณ์ที่เรียกว่า China Effect ความร้อนแรงของเศรษฐกิจจีนได้ทำให้ความต้องการบริโภคเหล็กของจีนขยายตัวอย่างมาก ประกอบกับการขยายตัวของเศรษฐกิจโลก ส่งผลให้ตลาดเหล็กของโลกเมื่อปีที่แล้วประสบภาวะตึงตัว ราคาผลิตภัณฑ์เหล็กในตลาดโลกพุ่งทะยานเป็นประวัติการณ์ พ่อค้าเหล็กมีการกักตุนเหล็กเพื่อเก็งกำไร ขณะที่ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมก็เร่งเก็บสต็อกเหล็กเพราะวิตกว่าเหล็กจะขาดตลาด ครั้นมาในปี 2005 นี้ ขณะที่อุตสาหกรรมเหล็กในกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นในยุโรป อเมริกาเหนือ หรือประเทศญี่ปุ่น ต่างได้พยายามจำกัดปริมาณการผลิตเหล็กของตนลงเพื่อให้สอดคล้องกับภาวะความต้องการที่ทรงตัว แต่ในทางตรงกันข้าม ความต้องการบริโภคและโดยเฉพาะอย่างยิ่งการผลิตเหล็กของจีนยังคงขยายตัวอย่างต่อเนื่องควบคู่ไปกับการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ส่งผลให้อุตสาหกรรมเหล็กของจีนขยายตัวอย่างรวดเร็ว จนมีแนวโน้มว่าปริมาณอุปทานเหล็กจะเกินความต้องการในประเทศ ปัจจุบันประเทศจีนเป็นผู้ผลิตเหล็กรายใหญ่ที่สุดของโลก และคาดว่าในปี 2005 นี้ อุตสาหกรรมเหล็กของจีนจะทำสถิติการผลิตเหล็กได้โดยประเทศเดียวเกินระดับ 300 ล้านเมตริกตันเป็นครั้งแรกของโลก ด้วยปริมาณผลิตที่สูงกว่า 340 ล้านเมตริกตัน ซึ่งจะทำให้สัดส่วนการผลิตเหล็กของจีนในปีนี้จะขยับสูงขึ้นถึงร้อยละ 30 ของของปริมาณผลิตเหล็กทั้งโลก

ในด้านความต้องการบริโภคเหล็กก็เช่นกัน จากประมาณการของสถาบันเหล็กและเหล็กกล้าระหว่างประเทศ (International Iron and Steel Institute : IISI) ปัจจุบันความต้องการเหล็กของโลกในปี 2005 นี้อยู่ที่ 998 ล้านเมตริกตัน ในจำนวนนี้เป็นความต้องการในประเทศจีนประมาณ 300 ล้านเมตริกตันหรือคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 30 ของความต้องการเหล็กทั้งโลก ดังนั้น จึงถือได้ว่าปัจจุบันจีนคือปัจจัยสำคัญยิ่งที่กำหนดทั้งด้านอุปสงค์และอุปทานเหล็กของโลก และในปีนี้แม้ว่าอุปสงค์เหล็กของโลกจะยังคงเติบโต แต่จากการขยายตัวที่สูงขึ้นของปริมาณผลิตเหล็กของโลก ซึ่งเป็นผลโดยตรงจากการผลิตของจีนที่เพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 24 ประกอบกับการระบายสต็อกผลิตภัณฑ์เหล็ก (De-stocking) ที่บรรดาผู้ประกอบการและพ่อค้าเหล็กได้กักตุนหรือเก็งกำไรไว้เมื่อครั้งที่ราคาเหล็กพุ่งทะยานในปีที่แล้ว รวมทั้งการชะลอตัวลงของเศรษฐกิจโลกปีนี้ ปัจจัยต่างๆเหล่านี้จึงได้ทำให้สถานการณ์เหล็กในตลาดโลกนับตั้งแต่ต้นปี 2005 นี้กลับอ่อนตัวลง โดยที่ราคาผลิตภัณฑ์เหล็กได้ลดลงอย่างรวดเร็วในช่วง 7 เดือนแรกของปี 2005 นี้ ซึ่งตรงกันข้ามโดยสิ้นเชิงกับภาวะในปี 2004 อย่างไรก็ตาม ภาวะอุปทานส่วนเกินในตลาดได้เริ่มบรรเทาลงบ้างในช่วงไตรมาส 3 และต้นไตรมาส 4 ปีนี้ เมื่อการระบายสต็อกออกสู่ตลาดของผู้ประกอบการและพ่อค้าเหล็กค่อยๆลดลง ทำให้มีการคาดกันว่าราคาเหล็กที่ก่อนหน้านี้ได้ร่วงลงเป็นลำดับ น่าจะเริ่มทรงตัวและอาจกระเตื้องขึ้นหรือฟื้นตัวได้ในไตรมาส 4 ปีนี้หลังจากที่ได้ลดดิ่งลงตั้งแต่ต้นปี แต่แล้วแนวโน้มราคาเหล็กของโลกจนถึงขณะนี้ (ไตรมาส 4 ปี 2005)กลับยังมีทิศทางที่ไม่ชัดเจน แทนที่จะกระเตื้องขึ้นหรือเข้าสู่ภาวะราคาขาขึ้นแล้ว โดยเฉพาะราคาเหล็กในยุโรปและอเมริกาที่ได้กระเตื้องขึ้นบ้างหลังจากปริมาณสต็อกเหล็กของพ่อค้าลดลงเป็นลำดับ และโดยเฉพาะอย่างยิ่งในอเมริกาที่ผลจากเหตุการณ์พายุเฮอริเคนได้ทำให้ความต้องการเหล็กเพื่อใช้ในการก่อสร้างซ่อมแซมอาคารบ้านเรือนมีแนวโน้มสูงขึ้น แต่จากอุปทานเหล็กในตลาดเอเชียที่มีจีนเป็นปัจจัยหลักที่ยังคงขยายตัวต่อเนื่อง สวนทางกับการลดปริมาณผลิตในภูมิภาคอื่นๆของโลก จึงส่งผลให้ราคาเหล็กของโลกในช่วงไตรมาสสุดท้ายปีนี้ยังอยู่ในภาวะอ่อนตัวและมีทิศทางไม่ชัดเจนว่าจะกระเตื้องขึ้นจริงเมื่อใด

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยจึงคาดว่า ผลจากอุปทานเหล็กของจีนจะยังคงกดดันแนวโน้มราคาเหล็กของโลกต่อไป ทำให้การขยับขึ้นอย่างต่อเนื่องของราคาเหล็กจึงค่อนข้างยาก และหากในอนาคตจีนยังไม่สามารถควบคุมการขยายปริมาณผลิตในประเทศได้แล้ว ก็ย่อมจะส่งผลกระทบต่อแนวโน้มราคาเหล็กในตลาดโลกต่อไป

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


อุตสาหกรรม