Display mode (Doesn't show in master page preview)

20 ธันวาคม 2548

อุตสาหกรรม

แนวโน้มอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ : มีโอกาสเติบโตดีขึ้นในปี 2549

คะแนนเฉลี่ย

อุตสาหกรรมปูนซีเมนต์มีการเติบโตที่ชะลอลงในช่วงปี 2548 โดยความต้องการใช้ปูนซีเมนต์ภายในประเทศขยายตัวสูงในครึ่งปีแรก แต่ชะลอลงเรื่อยมาในช่วงครึ่งหลังของปี โดยมีสาเหตุที่สำคัญจากปัจจัยในด้านอุปสงค์ โดยเฉพาะปริมาณงานก่อสร้างของภาครัฐที่ในช่วงไตรมาสที่ 3 ลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน นอกจากนี้ การก่อสร้างของภาคเอกชนมีการชะลอตัวลง ตามการชะลอตัวของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ โดยเฉพาะตลาดที่อยู่อาศัย ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า ยอดจำหน่ายปูนซีเมนต์ภายในประเทศตลอดทั้งปี 2548 อาจมีระดับประมาณ 29.7 ล้านตัน หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 9.2 เมื่อเทียบกับ 27.2 ล้านตันในปี 2547 ชะลอลงจากที่ขยายตัวสูงร้อยละ 12.2 ในปี 2547 สำหรับตลาดต่างประเทศ คาดว่า ในปี 2548 ไทยจะมีการส่งออกปูนซีเมนต์ประมาณ 15 ล้านตัน คิดเป็นมูลค่าประมาณ 440 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 26 และร้อยละ 41 จากปริมาณ 11.9 ล้านตัน และมูลค่า 312.1 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2547 การเติบโตสูงของการส่งออกเป็นผลมาความต้องการในตลาดหลัก ได้แก่ สหรัฐ และประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียนและแถบเอเชียใต้เพิ่มสูงขึ้นอย่างมาก รวมทั้งมีการขยายตลาดใหม่ๆ เช่น ในตะวันออกกลางและละตินอเมริกา

การชะลอตัวของตลาดภายในประเทศคงจะส่งผลให้การผลิตของอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ในปี 2548 อาจมีปริมาณทั้งสิ้นประมาณ 38.5 ล้านตัน ขยายตัวร้อยละ 8.2 ส่วนอัตราการใช้กำลังการผลิตของอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับประมาณร้อยละ 67.5 ปรับตัวดีขึ้นจากระดับร้อยละ 62.8 ในปี 2547

สำหรับแนวโน้มในปี 2549 คาดว่าจะมีตัวแปรสำคัญอยู่ที่การดำเนินการโครงการลงทุนของภาครัฐ โดยเฉพาะโครงการเมกะโปรเจ็กต์ ซึ่งเป็นที่คาดหมายว่าจะเข้ามาเป็นแรงกระตุ้นที่สำคัญต่อภาคการก่อสร้าง อันจะส่งผลให้ความต้องการใช้ปูนซีเมนต์เพิ่มขึ้นตามไปด้วย ส่วนความต้องการก่อสร้างของภาคเอกชนอาจชะลอตัวลงเล็กน้อย เนื่องจากภาวะธุรกิจที่อยู่อาศัยอาจยังคงเผชิญปัจจัยลบจากอุปสงค์ที่อ่อนตัวลง

โดยภาพรวมแล้ว ความต้องการใช้ปูนซีเมนต์ในประเทศมีโอกาสที่จะขยายตัวสูงขึ้น ภายใต้เงื่อนไขที่โครงการลงทุนของภาครัฐสามารถคืบหน้าได้ตามเป้าหมาย โดยในกรณีพื้นฐาน ที่การลงทุนในด้านการก่อสร้างภาครัฐดำเนินการได้ตามแผน ภายใต้กรอบงบประมาณลงทุนของรัฐบาลและรัฐวิสาหกิจประจำปีงบประมาณ 2549 ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า ความต้องการใช้ปูนซีเมนต์ภายในประเทศในปี 2549 อาจมีระดับประมาณ 34.1 ล้านตัน ขยายตัวประมาณร้อยละ 15 สูงขึ้นกว่าปี 2548 ที่คาดว่าจะขยายตัวประมาณร้อยละ 9.2

อย่างไรก็ตาม ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ได้วิเคราะห์ผลในกรณีที่ถ้าหากการดำเนินโครงการลงทุนของภาครัฐอาจมีความล่าช้าออกไป โดยพิจารณาจากปัจจัยสำคัญสองประการคือ โครงการลงทุนระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนอาจล่าช้าออกไป และการลงทุนของรัฐอาจถูกตัดทอนลงหากรายได้ของรัฐบาลจากการแปรรูปรัฐวิสาหกิจขาดหายไป ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า การลงทุนด้านการก่อสร้างของภาครัฐที่อาจลดลงไปจากปัจจัยในส่วนนี้ อาจทำให้ความต้องการใช้ปูนซีเมนต์ภายในประเทศในปี 2549 มีระดับต่ำลงมาเป็นประมาณ 32.7 ล้านตัน ขยายตัวประมาณร้อยละ 10 ซึ่งก็ยังเป็นอัตราที่สูงขึ้นกว่าปี 2548

การส่งออกปูนซีเมนต์ในปี 2549 คาดว่าอาจจะไม่เพิ่มขึ้น เมื่อเทียบกับฐานที่สูงค่อนข้างมากในปีที่ผ่านมา ขณะที่ถ้าหากตลาดในประเทศเติบโตได้ดี ผู้ประกอบการอาจลดน้ำหนักการส่งออกลง ตลาดส่งออกคงจะยังเน้นไปที่ตลาดประเทศเพื่อนบ้านในแถบอินโดจีนและเอเชียใต้เป็นหลัก

โดยรวมแล้ว คาดว่าการผลิตในอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ในปี 2549 จะเพิ่มขึ้นมาที่ระดับประมาณ 42.4-43.6 ล้านตัน ขยายตัวประมาณร้อยละ 10-13 อันเป็นผลมาจากความต้องการใช้ปูนซีเมนต์ภายในประเทศที่ปรับตัวดีขึ้น ส่งผลให้อัตราการใช้กำลังผลิตปูนซีเมนต์ในปี 2549 อาจเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ประมาณ 75% จากระดับประมาณ 67.5% ในปี 2548

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


อุตสาหกรรม