Display mode (Doesn't show in master page preview)

31 มีนาคม 2549

อุตสาหกรรม

เครื่องสำอางไทยปี'49 : ส่อแววเกินดุล....สร้างรายได้เกือบ 30,000 ล้านบาท

คะแนนเฉลี่ย

จากรายงานล่าสุดของ Global Trade Atlas พบว่ามูลค่าการค้าเครื่องสำอางในตลาดโลก ในปี 2547 มีมูลค่า 101,688.95 ล้านเหรียญสหรัฐ ขณะที่ในช่วง 9 เดือนแรกปี 2548 มูลค่าการค้าเครื่องสำอางในตลาดโลกมีมูลค่า 82,164.87 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นจากมูลค่า 74,179.48 ล้านเหรียญสหรัฐ ในช่วงเดียวกันในปี 2547 คิดเป็นอัตราการขยายตัวร้อยละ 10.76 โดยประเทศที่เป็นผู้ส่งออกรายสำคัญอันดับ 1-5 ของตลาดโลกประกอบด้วยฝรั่งเศส เยอรมนี ไอร์แลนด์ สหรัฐอเมริกา และสหราชอาณาจักร คิดเป็นมูลค่าการส่งออกรวมกันกว่าร้อยละ 50-60 ของมูลค่าการส่งออกเครื่องสำอางโดยรวมของตลาดโลกในแต่ละปี สำหรับในตลาดอาเซียนนั้น ไทยเป็นรองเพียงสิงคโปร์ ขณะที่หากเปรียบเทียบในเอเชียนั้น ไทยนับเป็นตลาดส่งออกเครื่องสำอางที่ใหญ่เป็นอันดับ 4 รองจากสิงคโปร์ จีน และญี่ปุ่น ด้วยมูลค่าการส่งออก 660.5 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 26,000 ล้านบาทในปี 2548

เมื่อพิจารณาถึงศักยภาพการแข่งขันของสินค้าเครื่องสำอางไทยในตลาดโลกในปี 2549 ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เห็นว่าสินค้ากลุ่มนี้ของไทยน่าจะสามารถรักษาสถานภาพการแข่งขันไว้ได้ในระดับที่ใกล้เคียงกับปี 2548 เนื่องจากความต้องการสินค้าประเภทนี้ในตลาดโลกยังมีแนวโน้มที่ดี ประกอบกับภาวะเศรษฐกิจในกลุ่มเป้าหมายก็กำลังเป็นไปในทิศทางที่ค่อนข้างดี อีกทั้งสินค้าเครื่องสำอางของไทยภายใต้ตราสินค้าไทยยังเป็นที่ยอมรับในระดับโลกเพิ่มมากขึ้นตามลำดับ อันเป็นผลมาจากการพัฒนาคุณภาพสินค้าจนได้มาตรฐานสากล การพัฒนารูปแบบของบรรจุภัณฑ์ที่สามารถดึงดูดใจผู้บริโภคได้มากขึ้น การพัฒนารูปแบบของผลิตภัณฑ์ที่หลากหลายมากขึ้น โดยเฉพาะเครื่องสำอางที่มีส่วนผสมของสมุนไพรไทยที่นับวันจะได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้นในตลาดต่างประเทศ ด้วยจุดเด่นเฉพาะตัวทั้งทางด้านรูปลักษณ์ และกลิ่น โดยสังเกตได้จากในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมาที่พบว่า ระดับอัตราการขยายตัวของสินค้าเครื่องสำอางของไทยโดยรวมในตลาดโลกเป็นไปค่อนข้างดี โดยคาดว่าภาพรวมของการส่งออกเครื่องสำอางไทยในตลาดโลกในปี 2549 น่าจะขยายตัวเพิ่มขึ้นในระดับร้อยละ 12-15 ส่วนการนำเข้าเครื่องสำอางน่าจะมีอัตราการเติบโตประมาณร้อยละ 10 ทำให้ในปี 2549 สินค้าเครื่องสำอางไทยน่าจะสามารถสร้างรายได้เข้าประเทศเกินกว่า 700 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือเกือบ 30,000 ล้านบาท จึงมีความเป็นไปได้ว่าในปี 2549 สถานการณ์การค้าสินค้าเครื่องสำอางของไทยโดยรวมในตลาดโลกนั้น ไทยยังน่าจะสามารถรักษาความได้เปรียบทางดุลการค้าไว้ได้อีกอย่างต่อเนื่อง

อย่างไรก็ตาม ด้วยส่วนแบ่งตลาดของสินค้ากลุ่มนี้ของไทยโดยรวมในตลาดโลกที่ยังไม่สูงมากนักและอยู่ในสถานะภาพที่ค่อนข้างทรงตัว ดังนั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เห็นว่า ผู้ประกอบการไทยควรต้องเร่งปรับกลยุทธ์ทั้งด้านการผลิตและการตลาดอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นการสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ โดยชูจุดเด่นในส่วนผสมของสมุนไพรไทยที่นับวันจะได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้นในตลาดต่างประเทศ เนื่องจากไทยมีความพร้อมในด้านวัตถุดิบที่เป็นจำนวนมากและหลากหลายเมื่อเทียบกับคู่แข่ง ขณะเดียวกันควรมีการเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้า และมีสรรพคุณจริงตามที่อวดอ้าง พร้อมทั้งสร้างการรับรู้ให้ลูกค้าเห็นถึงความแตกต่าง และสามารถตอบสนองความต้องการของกลุ่มเป้าหมายหลักในระดับราคาที่เหมาะสม รวมถึงการปรับปรุงระบบการบริหารต้นทุนการผลิตให้ต่ำลง นอกจากนี้ควรให้ความสำคัญต่อการวิจัยพฤติกรรมผู้บริโภคเพื่อนำมากำหนดทิศทางการวางแผนการตลาดและการโฆษณาประชาสัมพันธ์ได้อย่างเหมาะสมกับกลุ่มเป้าหมายที่นับวันจะมีความต้องการที่หลากหลายเพิ่มมากขึ้น ซึ่งในส่วนของกลยุทธ์ด้านการส่งเสริมการตลาดนั้นก็ควรมีความชัดเจนเพื่อกระตุ้นให้เกิดการตัดสินใจซื้อ และก่อให้เกิดการรับรู้ไปสู่ลูกค้าด้วย เพราะแม้ว่าผลิตภัณฑ์จะมีคุณสมบัติดีเลิศ แต่หากลูกค้าไม่รับรู้ การผลิตและการพัฒนาสินค้าที่ดำเนินการมาก็ไม่มีประโยชน์ใดๆทั้งสิ้น อีกทั้งยังต้องมีการสร้างตราสินค้า และการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับลูกค้าด้วย ทั้งนี้เพื่อรักษาส่วนแบ่งการตลาดและเพิ่มยอดขาย หรือเพื่อสร้างโอกาสในการอยู่รอดในตลาดในระยะยาว นอกจากนี้ภาครัฐควรเข้ามาสนับสนุนอย่างจริงจังและต่อเนื่อง ทั้งในด้านการรับรองมาตรฐานสินค้า การจัดแสดงสินค้า หรือการลดภาษีวัตถุดิบรวมทั้งภาษีนำเข้าบรรจุภัณฑ์ ที่ปัจจุบันยังสูงกว่าประเทศคู่แข่ง เช่น จีน มาเลเซีย เป็นต้น ทั้งนี้เพื่อให้อุตสาหกรรมการผลิตเครื่องสำอางไทยสามารถพัฒนาต่อไปได้อย่างยั่งยืน และก่อให้เกิดการจ้างงาน การกระจายรายได้ รวมถึงการหลั่งไหลเข้ามาของเงินตราต่างประเทศจากการส่งออกเครื่องสำอางไทยเข้าสู่ประเทศเพิ่มมากยิ่งขึ้นในอนาคต

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


อุตสาหกรรม