Display mode (Doesn't show in master page preview)

11 เมษายน 2549

เกษตรกรรม

ข้าวเวียดนาม : คู่แข่งค้าข้าวไทย...ที่ต้องจับตา

คะแนนเฉลี่ย

เวียดนามเปลี่ยนจากประเทศที่ต้องพึ่งพิงการนำเข้าข้าวมาเป็นประเทศผู้ส่งออกข้าวตั้งแต่ปี 2531 หลังจากนั้นไม่กี่ปีเวียดนามก็กลายเป็นผู้ส่งออกข้าวอันดับสามรองจากไทยและสหรัฐฯ และปัจจุบันเวียดนามเป็นผู้ส่งออกข้าวอันดับสองของโลกรองจากไทย โดยที่เวียดนามนับว่าเป็นคู่แข่งที่น่ากลัวสำหรับการส่งออกข้าวของไทย เนื่องจากเวียดนามมีการลงทุนในการพัฒนาระบบชลประทานและเทคโนโลยีการผลิตที่ทันสมัยที่ได้จากงานค้นคว้าวิจัยที่ส่งผลให้ผลผลิตเฉลี่ยต่อไร่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างมาก และการปรับปรุงการเก็บสต็อกข้าวให้เหมาะสม โดยเฉพาะการสนับสนุนธุรกิจไซโลอบข้าว ซึ่งเป็นการยกระดับคุณภาพข้าวของเวียดนาม

เวียดนามมีเป้าหมายที่จะผลิตข้าวในปี 2549 ปริมาณ 38-39 ล้านตัน เมื่อเทียบกับปี 2548 ที่มีปริมาณการผลิตข้าว 33 ล้านตันแล้วเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 15.2-18.2 เนื่องจากการฟื้นตัวจากภาวะภัยแล้งในปีที่ผ่านมาที่สร้างความเสียหายให้กับข้าวที่ปลูกในที่สูงทางตอนเหนือของประเทศ และภาวะน้ำท่วมที่สร้างความเสียหายให้กับพื้นที่ปลูกข้าวทางตอนใต้ของประเทศ ในปีนี้เวียดนามจำกัดการส่งออกข้าวปริมาณ 5 ล้านตัน โดยตลาดส่งออกเป้าหมายคือ ภูมิภาคเอเชีย แอฟริกา และคิวบา นอกจากนี้เวียดนามจะเจาะตลาดญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และออสเตรีย ซึ่งเป็นตลาดข้าวคุณภาพสูงให้ได้มากขึ้น อย่างไรก็ตามเป้าหมายการส่งออกต่ำกว่าในปี 2548 ที่เวียดนามสามารถส่งออกข้าวในปริมาณมากกว่า 5.2 ล้านตัน มูลค่าเกือบ 1.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับปี 2547 ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 27.3 และร้อยละ 47.3 ตามลำดับ ปัจจัยที่ทำให้การส่งออกข้าวของเวียดนามเพิ่มปริมาณมากขึ้นเกินกว่าที่ได้คาดไว้ในปีที่ผ่านมา คือ การขึ้นราคาข้าวจากไทย ซึ่งเป็นประเทศคู่แข่งหลักของข้าวเวียดนาม ทำให้หลายๆ ประเทศเริ่มหันมาหาข้าวราคาถูกจากเวียดนามแทน ไม่ว่าจะเป็นอิหร่าน อุรุกวัย ซีเรีย และไนจีเรีย ก็ล้วนหันไปนำเข้าข้าวจากเวียดนาม

ปัญหาการส่งออกข้าวของเวียดนาม มีดังนี้

-เวียดนามพยายามขยายการผลิตและการส่งออกข้าวหอม โดยประสบความสำเร็จในบางตลาดเนื่องจากราคาที่ถูกกว่าข้าวหอมจากไทยและอินเดีย ซึ่งราคาข้าวหอมที่เวียดนามส่งออกประมาณ 280-285 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อตัน แต่ข้าวเวียดนามนั้นยังมีคุณภาพไม่คงที่และมีการปลอมปนข้าวประเภทอื่นๆ อย่างไรก็ตามมีรายงานถึงความพยายามในการค้นคว้าวิจัยเพื่อพัฒนาคุณภาพของเมล็ดพันธุ์ข้าวหอมเพื่อการส่งออกของเวียดนาม ทำให้ในอนาคตเวียดนามอาจจะก้าวขึ้นมาเป็นคู่แข่งในการส่งออกข้าวหอมของไทยด้วยเช่นกัน

-ในปี 2548 ผู้ส่งออกข้าวของเวียดนามประสบปัญหาในทางการเงิน เนื่องจากธนาคารลดวงเงินสินเชื่อลงเหลือเพียงร้อยละ 25 ของวงเงินสินเชื่อเดิม ซึ่งการที่ได้รับสินเชื่อลดลงทำให้ผู้ส่งออกข้าวของเวียดนามประสบปัญหาในการซื้อข้าวเก็บไว้ในสต็อกเพื่อทำกำไร ส่งผลให้ราคาข้าวในเวียดนามมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่องในปี 2548 นอกจากนี้บริษัทจำหน่ายอาหารในต่างจังหวัดเริ่มมีการปรับโครงสร้างองค์กรโดยการหันไปดูแลบัญชีเอง ซึ่งการดูแลบัญชีเองส่งผลให้ประสบความยากลำบากในการขอสินเชื่อจากธนาคาร เนื่องจากธนาคารในเวียดนามส่วนใหญ่จะให้สินเชื่อกับ Vinafood ซึ่งเป็นบริษัทแม่ อย่างไรก็ตามในปี 2549 สมาคมอาหารของเวียดนามขอให้กระทรวงเกษตรช่วยให้ธนาคารเร่งปล่อยสินเชื่อเพื่อรับซื้อข้าวฤดูใหม่ เนื่องจากในช่วงต้นปีทางผู้ส่งออกเวียดนามได้มีการทำสัญญาเพื่อส่งออกข้าวไปแล้วกับหลายประเทศ ดังนั้นถ้าผู้ส่งออกข้าวของเวียดนามไม่ประสบปัญหาทางการเงินก็มีแนวโน้มว่าเวียดนามจะสามารถขยายการส่งออกข้าวได้สูงกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้

สำหรับประเทศไทยปริมาณการผลิตข้าวในปี 2548/49 เท่ากับ 29.82 ล้านตันข้าวเปลือก เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมาแล้วเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.4 เนื่องจากในปี 2547/48 นั้นพื้นที่ปลูกข้าวสำคัญประสบปัญหาขาดแคลนน้ำจากปัญหาฝนทิ้งช่วงโดยแยกเป็นผลผลิตข้าวนาปี 23.39 ล้านตันและข้าวนาปรัง 6.43 ล้านตัน ในปี 2549 กระทรวงพาณิชย์กำหนดเป้าหมายการส่งออกข้าว 7.5 ล้านตัน มูลค่า 2,340 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ราคาส่งออกเฉลี่ย 312 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อตัน แม้ว่าไทยจะยังครองอันดับหนึ่งในการส่งออกข้าวในตลาดโลก และตัวเลขการส่งออกของเวียดนามนั้นยังห่างไกลจากไทยพอสมควร แต่ก็นับได้ว่าการส่งออกข้าวของเวียดนามเติบโตอย่างรวดเร็วและไทยไม่ควรประมาท โดยเฉพาะราคาข้าวไทยยังคงแพงกว่าเวียดนาม เนื่องจากรัฐบาลไทยยังคงมีนโยบายแทรกแซงราคาข้าวเพื่อยกระดับราคาข้าวในประเทศ ทำให้ปริมาณข้าวส่วนใหญ่อยู่ในสต็อกของรัฐบาล ดังนั้นจึงอาจกล่าวได้ว่านโยบายของรัฐบาลมีส่วนสำคัญอย่างมากในการกำหนดทิศทางการค้าข้าวและราคาข้าว กอปรกับค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นมาอยู่ใกล้ระดับ 39 บาท/ดอลลาร์สหรัฐฯมีส่วนสนับสนุนให้ราคาข้าวของไทยอยู่ในเกณฑ์สูง แม้ว่าในปีนี้รัฐบาลเวียดนามมีนโยบายปรับปรุงคุณภาพข้าว และเน้นการส่งออกข้าวคุณภาพสูง รวมทั้งการกำหนดราคาข้าวส่งออกขั้นต่ำ นับว่าเป็นการดีต่อการส่งออกข้าวของไทย เนื่องจากจะไม่ฉุดราคาข้าวในตลาดโลกลดต่ำลง และราคาส่งออกข้าวไทยไม่ลดต่ำลงไปอีกเพื่อที่จะให้สามารถแข่งขันแย่งตลาดกับข้าวเวียดนามได้ แต่เวียดนามก็ยังเป็นคู่แข่งที่น่ากลัวและต้องจับตามองอย่างใกล้ชิด

เดิมนั้นเวียดนามเป็นคู่แข่งในการส่งออกข้าวของไทยเฉพาะข้าวคุณภาพปานกลางถึงต่ำ โดยประเทศเป้าหมายในการส่งออกข้าวของไทยและเวียดนามนั้นเป็นประเทศเดียวกัน ซึ่งตั้งแต่ปี 2548 เวียดนามเริ่มเบียดแย่งส่วนแบ่งตลาดจากไทยไปได้มาก โดยอาศัยราคาที่ต่ำกว่าจูงใจประเทศคู่ค้า ในปีนี้การแข่งขันทางด้านราคาจะรุนแรงน้อยลง เนื่องจากเวียดนามมีการกำหนดราคาส่งออกขั้นต่ำ แต่ตั้งแต่ปี 2548 เวียดนามก็ก้าวเข้ามาแข่งขันในการส่งออกข้าวคุณภาพสูงด้วย โดยเวียดนามเริ่มจะหันมาขยายตลาดส่งออกข้าวคุณภาพสูงโดยการปรับปรุงระบบไซโลอบข้าวเพื่อลดปริมาณความชื้นของข้าว และพัฒนาระบบการเก็บสต็อกข้าวที่เหมาะสมมากขึ้น รวมทั้งการสร้างตรายี่ห้อข้าวของเวียดนามให้เป็นที่รู้จักมากขึ้นในต่างประเทศ ปัจจุบันจึงเหลือเพียงตลาดข้าวหอมมะลิเท่านั้นที่ไทยยังคงสามารถแข่งขันกับเวียดนามได้ แต่ก็ไม่ควรประมาท เนื่องจากเวียดนามกำลังเร่งพัฒนาคุณภาพข้าวหอมเพื่อเข้ามาแข่งขันในตลาดนี้ซึ่งถือว่าเป็นตลาดบนที่มีราคาส่งออกเฉลี่ยที่อยู่ในเกณฑ์สูงเป็นแรงจูงใจ

จากภาวะการแข่งขันของการส่งออกข้าวในตลาดโลกที่มีแนวโน้มรุนแรงขึ้น รัฐบาลและผู้เกี่ยวข้องกับธุรกิจข้าวของไทยต้องเร่งปรับกลยุทธ์เพื่อเตรียมพร้อมรับมือกับสถานการณ์ทางการตลาดที่เปลี่ยนแปลงไป ซึ่งทางรัฐบาลมียุทธศาสตร์การพัฒนาข้าว โดยแนวทางการดำเนินงานนั้น กำหนดไว้ 5 ยุทธศาสตร์ ประกอบด้วย

1.การพัฒนาการผลิต โดยการควบคุมและจัดการผลผลิตอย่างมีประสิทธิภาพ ส่งเสริมการผลิตข้าวตามเขตการผลิตที่กำหนด และเร่งรัดการผลิตข้าวคุณภาพดีแทนข้าวคุณภาพต่ำ รวมทั้งจัดทำฐานข้อมูลการผลิตและการตลาดข้าวเพื่อใช้ในการวางแผน

2.การเพิ่มมูลค่าข้าว เช่น โครงการพัฒนาการผลิตข้าวอินทรีย์ โครงการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีการแปรรูปผลิตภัณฑ์ข้าว โครงการสร้างความพร้อมด้านการตลาดสินค้าข้าว โครงการจัดตั้งศูนย์บริการส่งออกข้าวครบวงจรแบบเบ็ดเสร็จ เป็นต้น

3.การเจาะขยายตลาดข้าว ทั้งนี้เพื่อให้ไทยยังคงเป็นประเทศผู้ส่งออกข้าวเป็นอันดับหนึ่งของโลก โดยเน้นตลาดระดับสูง และระดับกลาง

4.การสร้างความอยู่ดีกินดีให้กับเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ทั้งในด้านรายได้และสภาพแวดล้อม

5.การพัฒนาการบริหารจัดการ พร้อมทั้งเตรียมผลักดันให้ขยายศูนย์ส่งเสริมและผลิตพันธุ์ข้าวชุมชนให้ครบจำนวน 14,000 แห่ง ภายในปี 2551 นี้ บทบาทของศูนย์ส่งเสริมและผลิตพันธุ์ข้าวชุมชนนั้นเป็นแหล่งผลิตและกระจายเมล็ดพันธุ์ข้าวคุณภาพดี รวมทั้งถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตข้าวที่เหมาะสมให้แก่เกษตรกรในแต่ละพื้นที่ โดยแต่ละศูนย์จะมีพื้นที่สำหรับจัดทำแปลงปลูกพันธุ์ข้าวประมาณ 200 ไร่ สำหรับผลิตเมล็ดพันธุ์บริการให้แก่เกษตรกรในพื้นที่จำนวน 4,000 ไร่ ปัจจุบันมีศูนย์ฯ ข้าวชุมชน 4,556 แห่ง สามารถผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวคุณภาพดีได้ปีละประมาณ 50,000 ตัน ซึ่งการตั้ง "ศูนย์ส่งเสริมและผลิตพันธุ์ข้าวชุมชน" จะเป็นกุญแจดอกสำคัญยิ่งในการพัฒนาศักยภาพการผลิตข้าวของชาวนาไทย เพื่อให้สามารถผลิตข้าวคุณภาพดีป้อนสู่ตลาดโลก

ปัจจุบันการแข่งขันในการช่วงชิงตลาดส่งออกข้าวระหว่างไทยกับเวียดนามเริ่มดุเดือดมากขึ้น เนื่องจากเวียดนามเริ่มเข้าเบียดแย่งตลาดข้าวคุณภาพดี จากเดิมที่แข่งขันกันเฉพาะตลาดข้าวคุณภาพกลางถึงต่ำ นับว่าเป็นสัญญาณเตือนภัยให้ผู้ส่งออกข้าวของไทยและรัฐบาลต้องเร่งกระตุ้นการพัฒนาคุณภาพการผลิตข้าวของไทย และเร่งหากลยุทธ์ในการกระตุ้นการส่งออกข้าว ทั้งนี้เพื่อเตรียมรับมือกับการขยายการส่งออกข้าวของเวียดนาม

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


เกษตรกรรม