Display mode (Doesn't show in master page preview)

28 เมษายน 2549

อุตสาหกรรม

ราคาโลหะพื้นฐาน (Base Metals) พุ่งสูงขึ้น ... อาจซ้ำเติมภาวะต้นทุนของภาคอุตสาหกรรม

คะแนนเฉลี่ย

ในช่วงระยะนี้ ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ปรับตัวสูงขึ้นรวดเร็วอย่างน่าวิตก โดยในช่วงเดือนเมษายน ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ ทั้งน้ำมันดิบ ทองคำ และโลหะพื้นฐาน (Base Metals) ทะยานสูงขึ้นทำสถิติสูงสุดอย่างต่อเนื่อง ราคาน้ำมันดิบในตลาดล่วงหน้าที่นิวยอร์คพุ่งขึ้นทำสถิติสูงสุดที่ 75.17 ดอลลาร์ฯเมื่อวันที่ 21 เมษายน 2549 ขณะที่ราคาน้ำมันเบรนท์ในตลาดล่วงหน้าที่ลอนดอนทำสถิติสูงสุดที่ 74.57 ดอลลาร์ฯ เช่นกัน โลหะมีค่า (Precious Metals) ปรับตัวสูงขึ้นไม่ว่าทองคำ ที่ราคาขึ้นไปสูงกว่า 630 ดอลลาร์ฯต่อออนซ์ ณ วันที่ 26 เมษายน สูงขึ้นร้อยละ 23 เทียบกับสิ้นปี 2548 เช่นเดียวกับเงินและแพลตินัมที่มีราคาสูงขึ้นร้อยละ 44 และ 17 เทียบกับสิ้นปี 2548

ในส่วนของโลหะพื้นฐาน ซึ่งเป็นวัตถุดิบของสินค้าอุตสาหกรรมต่างๆอย่างกว้างขวาง เมื่อวันที่ 26 เมษายน 2549 ราคาทองแดงสูงขึ้นไปที่ 7,400 ดอลลาร์ฯต่อตัน เป็นสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์ และเพิ่มขึ้นมากกว่าร้อยละ 60 นับตั้งแต่ต้นปี อลูมิเนียมมีราคาสูงขึ้นมาที่ 2,778 เป็นระดับสูงสุดในรอบกว่า 17 ปี และเพิ่มขึ้นร้อยละ 22 ในช่วงปีนี้ สังกะสีมีราคาปรับขึ้นไปสูงสุดเป็นประวัติการณ์ โดยราคาปรับสูงขึ้นมาร้อยละ 80 ในช่วงปีนี้ นอกจากนี้ ดีบุกและตะกั่วที่เป็นวัตถุดิบในการผลิตเหล็กแผ่นเคลือบหรือชุบผิว และนิกเกิลซึ่งเป็นวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตเหล็กไร้สนิม (Stainless Steel) ก็ปรับตัวสูงขึ้นเช่นเดียวกัน ในด้านราคาเหล็กก็มีทิศทางปรับตัวสูงขึ้นจากที่อ่อนตัวลงในปี 2548 ที่ผ่านมา

การปรับตัวสูงขึ้นของราคาโลหะพื้นฐานนี้ สาเหตุส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากความต้องการที่พุ่งสูงขึ้นรวดเร็วของประเทศจีน ที่นำไปใช้ในกระบวนการผลิตของอุตสาหกรรมต่างๆที่เติบโตสูง รวมทั้งโครงการลงทุนด้านก่อสร้าง ซึ่งปัจจุบันจีนเข้ามาทดแทนสหรัฐอเมริกาในฐานะประเทศผู้บริโภคสินค้าโลหะพื้นฐานรายใหญ่ที่สุดในโลก มีสัดส่วนสูงประมาณร้อยละ 20 ของความต้องการทั่วโลก ขณะที่การสะสมสต็อกสินค้าล่วงหน้าของธุรกิจและการเก็งกำไรในตลาดซื้อขายล่วงหน้าของกลุ่มกองทุน ก็เป็นปัจจัยหนุนให้ราคาทะยานสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยการที่ค่าเงินดอลลาร์อ่อนตัวลง กองทุนเก็งกำไรจึงได้หันมาเข้ามาหาโอกาสทำกำไรโดยการเข้าซื้อสินค้าโภคภัณฑ์ในตลาดล่วงหน้า

ปัญหาราคาสินค้าโลหะพื้นฐานที่ปรับตัวสูงขึ้นรวดเร็วในระยะนี้ แม้ว่าส่วนหนึ่งอาจเป็นปัจจัยชั่วคราวเนื่องจากตลาดกังวลต่ออุปสรรคในด้านอุปทาน แต่ปัจจัยที่หนุนให้ราคามีทิศทางสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องได้เกิดขึ้นจากความต้องการใช้ที่เพิ่มสูงขึ้น โดยที่สำคัญเป็นผลจากความต้องการของประเทศยักษ์ใหญ่ที่มีการเติบโตทางเศรษฐกิจสูงอย่างจีนและอินเดีย ถ้าสถานการณ์ราคาในตลาดโลกยังคงอยู่ในระดับสูงยาวนาน จะส่งผลกระทบต่อภาคอุตสาหกรรมไทยในวงกว้าง เนื่องจากสินแร่โลหะพื้นฐานเป็นวัตถุดิบที่สำคัญของสินค้าอุตสาหกรรมต่างๆจำนวนมากซึ่งมีความเกี่ยวข้องกับผู้บริโภค โดยผลิตภัณฑ์เหล็กและอลูมิเนียมเป็นวัตถุดิบหลักในอุตสาหกรรมวัสดุก่อสร้าง ยานยนต์ เครื่องมือเครื่องจักร อุปกรณ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ เฟอร์นิเจอร์และเครื่องใช้ภายในบ้าน บรรจุภัณฑ์สำหรับอาหาร เคมีภัณฑ์และอื่นๆ สำหรับทองแดงเป็นวัตถุดิบสำคัญในอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ทุกประเภท ขณะที่นิกเกิล สังกะสี ดีบุก และตะกั่ว เป็นวัตถุดิบที่ใช้ในอุตสาหกรรมเหล็กที่มีคุณภาพสูง เช่น เหล็กไร้สนิม เหล็กแผ่นเคลือบหรือชุบผิว

ปัญหาราคาโลหะพื้นฐานอาจซ้ำเติมภาวะต้นทุนของภาคอุตสาหกรรม ที่กำลังได้รับผลกระทบอย่างหนักจากปัญหาต้นทุนค่าขนส่งและต้นทุนพลังงาน ที่ต้องปรับขึ้นตามราคาน้ำมันเชื้อเพลิงในตลาดโลกที่ทะยานสูงขึ้น ในสถานการณ์ดังกล่าวภาคอุตสาหกรรมคงจะต้องมีการปรับตัวในการรับมือภาวะต้นทุนที่เพิ่มสูงขึ้น ในขณะที่แรงกดดันในด้านการแข่งขันในตลาดอาจทำให้ผู้ประกอบการมีช่องว่างในการปรับราคาสินค้าได้อย่างจำกัด กลยุทธในการบริหารต้นทุนอาจทำให้หลายวิธีเช่น ศึกษาหาแนวทางใช้มาตรการประหยัดพลังงานในสถานประกอบการ การวางแผนด้านโลจิสติกส์อย่างมีประสิทธิภาพ การปรับเปลี่ยนกระบวนการผลิตเพื่อลดต้นทุน การลดการสูญเสียของวัตถุดิบในกระบวนการผลิต และการปรับเปลี่ยนรูปแบบบรรจุภัณฑ์เพื่อให้ต้นทุนบรรจุภัณฑ์ต่ำลง เป็นต้น

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


อุตสาหกรรม