Display mode (Doesn't show in master page preview)

24 กุมภาพันธ์ 2549

อุตสาหกรรม

ไฮบริด : รถยนต์ประหยัดพลังงาน ... กับแนวโน้มอุตสาหกรรมรถยนต์โลก

คะแนนเฉลี่ย

วิกฤตการณ์ราคาน้ำมันได้สร้างกระแสตื่นตัวในการอนุรักษ์พลังงาน และการประหยัดเชื้อเพลิงไปทั่วโลก รวมทั้งส่งผลกระทบต่อแนวโน้มอุตสาหกรรมและตลาดรถยนต์ของโลก โดยได้ทำให้ความนิยมในการใช้รถยนต์นั่งขนาดใหญ่ที่กินน้ำมันเชื้อเพลิงมากๆ ได้รับความนิยมน้อยลง ในขณะที่รถยนต์นั่งขนาดเล็กและรถยนต์ที่มีประสิทธิภาพในการประหยัดเชื้อเพลิงมีแนวโน้มในตลาดดีขึ้น ทั้งนี้มาตรการต่างๆของภาครัฐในประเทศต่างๆที่สนับสนุนให้มีการประหยัดเชื้อเพลิงและส่งเสริมการใช้พลังงานทางเลือกในยานยนต์ นับว่ามีส่วนสำคัญที่มีผลต่อแนวโน้มของตลาดรถยนต์ในประเทศนั้นๆ อาทิ รัฐบาลสหรัฐได้พยายามรณรงค์ให้ประชาชนอเมริกันประหยัดการใช้พลังงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งน้ำมันเชื้อเพลิงในรถยนต์ รวมไปถึงการใช้มาตรการจูงใจทางภาษี ในการส่งเสริมให้ผู้ขับขี่หันมาใช้รถยนต์เทคโนโลยีใหม่ๆ ที่สามารถใช้พลังงานทางเลือกหรือที่ประหยัดเชื้อเพลิงได้มาก ควบคู่ไปกับการเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ซึ่งหนึ่งในเทคโนโลยียานยนต์ที่กำลังได้รับความสนใจมากในขณะนี้ทั้งจากผู้ผลิตและผู้บริโภค ก็คือรถยนต์ไฮบริด ขณะนี้รัฐบาลสหรัฐกำลังดำเนินมาตรการจูงใจทางภาษีเพื่อส่งเสริมให้ผู้ขับขี่หันมาใช้รถยนต์ไฮบริดกันมากขึ้น ด้วยการอนุญาตให้ผู้ที่ซื้อรถยนต์ไฮบริดใหม่สามารถนำค่าใช้จ่ายในการซื้อรถมาใช้เป็นเครดิตภาษี(Tax Credit) ในจำนวนที่กำหนดเพื่อลดภาระภาษีเงินได้ ขณะนี้รถยนต์ไฮบริดที่ออกสู่ตลาดสหรัฐ ส่วนใหญ่จะเป็นรถยนต์จากค่ายรถญี่ปุ่น โดยเฉพาะโตโยต้าและฮอนด้า อย่างไรก็ตาม รถยนต์ไฮบริดจากค่ายอเมริกัน อย่างฟอร์ด และเจนเนอรัล มอเตอร์ส ก็กำลังเข้ามามีส่วนแบ่งตลาดเพิ่มมากขึ้น

รถยนต์ไฮบริด (Hybrid) เป็นเป็นรถที่ใช้เทคโนโลยีเครื่องยนต์ลูกผสมระหว่างพลังงาน 2 ระบบที่ทำงานร่วมกัน คือพลังงานเชื้อเพลิงและไฟฟ้า ส่งผลให้รถยนต์ไฮบริดมีประสิทธิภาพทั้งในด้านการประหยัดน้ำมันเชื้อเพลิง ลดมลพิษในอากาศและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ทั้งนี้ตั้งแต่ได้มีการนำรถยนต์ไฮบริดรุ่นแรกออกสู่ตลาดโลกในราวปี 1997 โดยมีค่ายรถญี่ปุ่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งโตโยต้าเป็นผู้นำ ปัจจุบันเทคโนโลยีไฮบริดได้มีการพัฒนาให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้นเป็นลำดับ จนขณะนี้ได้มีบรรดาค่ายรถยนต์ใหญ่ๆหลายแห่ง ได้มีการพัฒนาผลิตรถยนต์ไฮบริดรุ่นต่างๆออกสู่ตลาดกันมากขึ้น

ภาวะวิกฤตการณ์ราคาน้ำมันที่ส่อเค้ามาตั้งแต่ปี 2004 ต่อเนื่องมาถึงปี 2005 ได้ทำให้กระแสความนิยมรถยนต์ไฮบริดในสหรัฐจึงได้ก้าวกระโดดอย่างเห็นได้ชัด ทำให้ยอดจำหน่ายรถยนต์ไฮบริดเพิ่มขึ้นจากเพียงไม่กี่หมื่นคันในปี 2003 เป็น 212,000 คันในปี 2005 ที่ผ่านมา และคาดว่าในปี 2006 นี้ ยอดจำหน่ายรถยนต์ไฮบริดในสหรัฐจะมีไม่ต่ำกว่า 280,000-300,000 คัน หรือเติบโตในอัตรากว่าร้อยละ 30-40 อีกทั้งคาดว่าปริมาณยอดขายจะเพิ่มขึ้นอีกเท่าตัวภายในปี 2010 นอกจากในสหรัฐซึ่งเป็นตลาดใหญ่ของรถยนต์ไฮบริดแล้ว ความนิยมในไฮบริดยังเริ่มแพร่หลายไปในอีกประเทศ ทั้งนี้บริษัทผู้นำในการผลิตรถยนต์ไฮบริดรายใหญ่ของโลก อย่างโตโยต้า ได้คาดว่ายอดจำหน่ายรถยนต์ไฮบริดของตนทั่วโลกอาจจะกระโดดขึ้นเป็นกว่า 4 แสนคันในปี 2006 นี้ เพิ่มขึ้นจากจำนวนประมาณ 250,000 คันในปี 2005 ที่ผ่านมาศูนย์วิจัยกสิกรไทยเห็นว่าหากกระแสนิยมรถยนต์ไฮบริดเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ท่ามกลางสถานการณ์ราคาน้ำมันที่ผันผวนเช่นปัจจุบัน ผู้ผลิตจะสามารถเพิ่มปริมาณการผลิตและลดต้นทุนการผลิตต่อหน่วยได้ เพราะจะมีการประหยัดจากขนาด (Economies of Scale) นอกเหนือไปจากนั้น การสนับสนุนจากภาครัฐเพื่อส่งเสริมให้มีการผลิตและโดยเฉพาะอย่างยิ่งเพื่อจูงใจให้ผู้บริโภคหันมาใช้รถยนต์ไฮบริดกันมากขึ้น ด้วยการใช้มาตรการจูงใจทางภาษี ฯลฯ ก็จะมีส่วนเพิ่มศักยภาพความต้องการของตลาด และทำให้การผลิตรถยนต์ไฮบริดเป็นลักษณะMass Production มากกกว่านี้ ซึ่งจะส่งผลให้ราคาขายรถยนต์ไฮบริดมีแนวโน้มลดลงในอนาคต

สำหรับในประเทศไทย ภาครัฐได้มีการปรับโครงสร้างภาษีสรรพสามิตรถยนต์ครั้งใหญ่ไปเมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม 2547 ซึ่งมีวัตถุประสงค์สำคัญประการหนึ่งเพื่อส่งเสริมนโยบายการประหยัดพลังงานของประเทศ โดยรถยนต์นั่งประหยัดพลังงานแบบที่ใช้พลังงานเชื้อเพลิงร่วมกับไฟฟ้า (Hybrid Electric Car) ให้เสียภาษีสรรพสามิตในอัตราร้อยละ 10 เท่านั้น อย่างไรก็ตาม แม้จะได้มีการปรับโครงสร้างภาษีสรรพสามิตรถยนต์ปี 2547 ไปแล้ว แต่ปัจจุบันความนิยมรถยนต์ไฮบริดในตลาดรถยนต์เมืองไทยยังมีน้อย เนื่องจากราคาจำหน่ายที่สูงกว่ารถยนต์ทั่วไปในขนาดเดียวกันกว่าเท่าตัว เพราะยังต้องนำเข้าจากต่างประเทศในลักษณะรถยนต์สำเร็จรูป ซึ่งมีอัตราภาษีศุลกากรนำเข้าสูงถึงกว่าร้อยละ 80 และเมื่อรวมกับค่าธรรมเนียมการนำเข้าด้วยแล้ว ภาระภาษีอากรจากการนำเข้าทั้งหมดจะสูงถึงกว่าร้อยละ 100 ซึ่งศูนย์วิจัยกสิกรไทยเห็นว่าภาครัฐน่าจะมีมาตรการสนับสนุนเพิ่มเติมจากที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


อุตสาหกรรม