Display mode (Doesn't show in master page preview)

8 มิถุนายน 2549

เกษตรกรรม

อนาคตยางธรรมชาติ : ราคาพุ่ง...ถึงปี 2552

คะแนนเฉลี่ย
ตั้งแต่ปี 2547 ต่อเนื่องถึงปัจจุบันราคายางพารามีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่อง และในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2549 ราคายางนั้นปรับตัวสูงขึ้นอย่างก้าวกระโดด โดยราคายางแผ่นดิบรมควันชั้น 3 ในช่วงเดือนมกราคม-พฤษภาคม 2549 พุ่งขึ้นสูงถึงกิโลกรัมละ 81 บาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 61.0 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และปัจจุบันราคายางแผ่นดิบอยู่ที่กิโลกรัมละ 101.88 บาท ยางแผ่นรมควันชั้น 3 กิโลกรัมละ 103.88 บาท นับว่าเป็นราคายางที่สูงสุดเป็นประวัติการณ์ รวมทั้งมีการคาดหมายว่าในช่วงครึ่งหลังของปี 2549 ราคายางน่าจะขยับสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยคาดว่าราคายางแผ่นดิบเฉลี่ยในปี 2549 จะไม่ต่ำกว่ากิโลกรัมละ 75.00 บาท เมื่อเทียบกับในปี 2548 ที่อยู่ที่ระดับกิโลกรัมละ 55.19 บาทแล้วเพิ่มขึ้นร้อยละ 24.7 ส่วนราคาส่งออกยางแผ่นรมควันคาดว่าจะสูงถึงกิโลกรัมละ 2.0-2.5 ดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งจะเพิ่มจากปี 2548 ที่ราคาส่งออกเฉลี่ยทั้งปีอยู่ที่กิโลกรัมละ1.50 ดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 60 บาทต่อกิโลกรัม

คาดการณ์ว่าราคายางยังมีแนวโน้มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องในระยะ 5 ปีต่อไป หรือถึงปี 2552 แต่หลังจากนั้นจะมีพื้นที่เปิดกรีดยางใหม่เพิ่มขึ้น อันเป็นผลมาจากการขยายพื้นที่ปลูกยางของหลายประเทศในช่วงที่ราคายางอยู่ในเกณฑ์สูง ซึ่งคงต้องเตรียมรับมือที่อาจจะเกิดภาวะยางมากเกินความต้องการ ซึ่งไทยมีการเตรียมรับมือโดยแผนส่งเสริมอุตสาหกรรมที่สนับสนุนอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ยาง ทั้งนี้เพื่อหันไปเน้นการส่งออกผลิตภัณฑ์ยางสำเร็จรูปมากขึ้นทั้งยางวงล้อ ชิ้นส่วนยานยนต์ที่ทำจากยาง และการส่งออกในรูปวัตถุดิบกึ่งสำเร็จรูป เช่น ยางแผ่น-รมควัน ยางแท่ง เป็นต้น รวมทั้งการปรับการส่งออกจากยางแผ่นรมควันเป็นยางแท่งเพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการในตลาดโลกมากยิ่งขึ้น

จากแนวโน้มราคายางที่ยังสูงอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2547 และคาดการณ์ว่าจะยังคงอยู่ในระดับสูงไปจนถึงปี 2552 อันเป็นผลมาจากความต้องการยางในตลาดโลกยังคงมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ทำให้มีการขยายพื้นที่เพาะปลูกยางในหลายประเทศ คาดการณ์ว่าในปี 2552 หรือในระยะ 5 ปีข้างหน้าจะมีสวนยางที่เปิดกรีดใหม่เพิ่มขึ้นอีกมาก แต่เมื่อมาพิจารณาอัตราการขยายตัวของความต้องการใช้ยางแล้ว มีหลากหลายปัจจัยที่ต้องคำนึงถึง โดยเฉพาะการขยายตัวของอุตสาหกรรมยางวงล้อ ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมต่อเนื่องที่สำคัญของยาง คาดการณ์ว่าอุตสาหกรรมยานยนต์ต่างๆไม่น่าจะเติบโตในอัตราก้าวกระโดดเช่นในช่วงระยะปี 2547-2552 โดยอัตราการขยายตัวน่าจะเริ่มชะลอตัวลง ดังนั้นจึงน่าจะมีแนวโน้มว่าภาวะการขาดแคลนยางจะลดความรุนแรงลง และในที่สุดอาจจะเกิดปัญหาผลผลิตยางล้นตลาด ทำให้ราคายางกลับมาสู่วัฎจักรราคาตกต่ำอีกครั้งหนึ่ง นับว่าเป็นสัญญาณเตือนที่บรรดาประเทศผู้ผลิตยางต้องระมัดระวัง และต้องเร่งเตรียมรับมือกับภาวะราคายางผันผวน

สำหรับประเทศไทยมีแผนส่งเสริมอุตสาหกรรมที่สนับสนุนอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ยาง โดย เฉพาะการแปรรูปขั้นสูง ไม่ว่าจะเป็นถุงมือยาง อุตสาหกรรมยางล้อยานยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์ สายพานและฟองน้ำ รวมทั้งสร้างนวัตกรรมผลิตภัณฑ์ยางและยี่ห้อพร้อมเพิ่มปริมาณยางธรรมชาติทดแทนการใช้ยางสังเคราะห์ ซึ่งคาดว่าภาคอุตสาหกรรมภายในประเทศจะใช้ยางเพิ่มกว่าร้อยละ 11 จาก 350,800 ตัน เป็น 400,800 ตัน ขณะส่งออกยางทั้งยางดิบและผลิตภัณฑ์ยางจะดันให้เพิ่มจาก 213,053 ล้านบาท เป็น 239,580 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 12.5 นอกจากนี้การค้ายางปัจจุบันกว่าร้อยละ 90.0 ซื้อขายกันในรูปยางแผ่นรมควัน หากพัฒนาแปรรูปขั้นต้นให้เป็นขั้นสูง และพัฒนาให้ผลิตภัณฑ์มีความหลากหลายจะเป็นแนวทางหนึ่งช่วยเพิ่มมูลค่ายางและผลิตภัณฑ์ยางได้มากขึ้น กระทรวงเกษตรฯ จึงมีแผนที่จะลดปริมาณการค้ายางแผ่นรมควันลง และมุ่งเพิ่มสัดส่วนการผลิตและการใช้ยางแท่งจากร้อยละ 37 เป็นร้อยละ 40 พร้อมเพิ่มปริมาณการ ใช้น้ำยางข้นจากร้อยละ 18.0 เป็นร้อยละ 23.0 และจะเร่งจัดทำมาตรฐานยางดิบไทยให้เป็นมาตรฐานสากล ทั้งมาตรฐานคุณภาพน้ำยางข้น มาตรฐานยางแท่ง และมาตรฐานยางแผ่นรมควัน ซึ่งจะช่วยเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันในตลาดโลก นอกจากนี้มีแผนจะขยายพื้นที่ปลูกยางพารา 1 ล้านไร่ในระยะ 2 เพื่อรองรับปริมาณการใช้ยางของตลาดโลกที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 2-3 ต่อปี

คาดการณ์ปริมาณการผลิตและความต้องการยางในตลาดโลก
: พันตัน
2547
2548*
2552*
การผลิต
8,410

(5.3%)
8,780

(4.4%)
10,000

(เฉลี่ย 4.0%ต่อปี )
ความต้องการใช้
8,230

(3.5%)
8,690

(5.6%)
10,230

(เฉลี่ย 3.7%ต่อปี)
ความแตกต่างระหว่างผลผลิตและความต้องการใช้
180
90
-230

ที่มา : *รวบรวมการคาดการณ์จากการวิเคราะห์ตลาดยางโลก

หมายเหตุ : ตัวเลขในวงเล็บเป็นอัตราการเปลี่ยนแปลงเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


เกษตรกรรม