Display mode (Doesn't show in master page preview)

21 กรกฎาคม 2549

อุตสาหกรรม

ตลาดเหล็กโลกฟื้น..ราคาขยับแต่ความต้องการในประเทศชะลอ…ผู้ผลิตเร่งปรับตัว (มองเศรษฐกิจ ฉบับที่ 1838)

คะแนนเฉลี่ย
ภาวะตลาดเหล็กของโลกผกผันอย่างมากตลอดช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา กล่าวคือในปี 2004 ตลาดเหล็กของโลกมีความตึงตัวอย่างยิ่ง ราคาผลิตภัณฑ์เหล็กโดยเฉลี่ยพุ่งทะยานสูงขึ้น ยังผลให้เกิดการเก็งกำไรและเก็บตุนสต็อกเหล็กทั่วโลก แต่ต่อมาในปี 2005 สถานการณ์กลับพลิกผัน ราคาผลิตภัณฑ์เหล็กชนิดต่างๆอ่อนตัวลงอย่างรวดเร็ว เพราะอุปทานล้นตลาดโลกเนื่องจากการผลิตที่สูงขึ้นในประเทศจีน ประกอบกับการระบายสต็อกของพ่อค้าเหล็ก ครั้นมาปัจจุบันในปี 2006 ภาวะอุปสงค์-อุปทานเหล็กของโลก มีแนวโน้มว่าจะอยู่ในระดับที่ค่อนข้างสมดุลกว่าในช่วงปี 2004-2005 โดยมีการคาดการณ์ว่าปริมาณผลิตเหล็กของโลกในปีนี้จะอยู่ที่ประมาณ 1,176 ล้านเมตริกตัน หรือเติบโตในอัตราร้อยละ 4.14 ซึ่งจะชะลอตัวลงจากอัตราขยายตัวร้อยละ 7.49 ในปี 2005 และโดยเฉพาะอย่างยิ่งปริมาณการผลิตเหล็กของจีน ซึ่งปัจจุบันเป็นผู้ผลิตเหล็กรายใหญ่ที่สุดของโลกและถือเป็นตัวแปรสำคัญยิ่งที่กำหนดทิศทางตลาดเหล็กของโลก ก็มีการคาดว่าปริมาณผลิตเหล็กของจีนในปี 2006 นี้ จะเติบโตเพียงประมาณร้อยละ 10.5 ด้วยปริมาณผลิต 386 ล้านเมตริกตัน ซึ่งชะลอตัวลงค่อนข้างมากเทียบกับที่ได้เคยขยายตัวในอัตราสูงถึงเกือบร้อยละ 30 ในปี 2005 ที่ผ่านมา จากภาวะอุปสงค์-อุปทานเหล็กที่เริ่มจะมีความสมดุลขึ้นดังกล่าวข้างต้น สถานการณ์ตลาดเหล็กมาในปี 2006 นี้ จึงเริ่มฟื้นตัวและกลับมาคึกคักอีก ราคาผลิตภัณฑ์เหล็กต่างๆ ได้กระเตื้องขึ้นตามลำดับ
สำหรับแนวโน้มในระยะยาวนั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทยยังคาดว่าสถานการณ์ด้านอุปทาน-อุปสงค์ของเหล็กในตลาดโลกจะมีความสมดุลมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง และราคาเหล็กก็จะมีเสถียรภาพขึ้นไม่ขึ้นๆลงๆ อย่างฮวบฮาบดังเช่นที่ผ่านมา เนื่องจากผู้ผลิตจะมีการควบคุมและวางแผนปริมาณผลิตให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้ใช้อย่างเหมาะสมมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในจีนที่รัฐบาลกำลังปรับโครงสร้างและควบคุมการผลิตในประเทศให้มีปริมาณที่เหมาะสม ยิ่งไปกว่านั้น กระแสการควบรวมกิจการระหว่างกลุ่มผู้ผลิตเหล็กรายใหญ่ๆ ของโลกในขณะนี้ จะทำให้อุปทานและโครงสร้างการผลิตเหล็กของโลกมีความเหมาะสมและมีประสิทธิภาพมากขึ้นกว่าในปัจจุบัน ซึ่งล่าสุดเมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา การประกาศแผนควบรวมกิจการระหว่างบริษัทยักษ์ใหญ่ในวงการอุตสาหกรรมเหล็กของโลก คือ บริษัท Mittal Steel และบริษัท Arcelor ซึ่งเป็นผู้ผลิตเหล็กใหญ่อันดับ 1 และ 2 ของโลกตามลำดับ ถือเป็นการส่งสัญญาณอย่างชัดเจนถึงโฉมหน้าของอุตสาหกรรมเหล็กของโลกที่จะมุ่งสู่ทิศทางการควบรวมระหว่างผู้ผลิตต่างๆเพิ่มมากขึ้น
สำหรับประเทศไทยนั้น สืบเนื่องจากภาวะชะลอตัวของเศรษฐกิจไทยในปีนี้ อันเป็นผลจากวิกฤตการณ์ราคาน้ำมัน แนวโน้มเงินเฟ้อและอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้น ตลอดจนสถานการณ์การเมืองที่ยังไม่มีความแน่นอน รวมทั้งโครงการเมกะโปรเจ็กต์และการก่อสร้างสาธารณูปโภคขนาดใหญ่ต่างๆที่มีอันต้องเลื่อนการดำเนินการออกไป ได้ส่งผลกระทบต่อภาคการก่อสร้างในประเทศให้ต้องประสบกับภาวะซบเซา ทำให้ความต้องการใช้เหล็กในภาคการก่อสร้างของไทยในปีนี้ชะลอตัวลงตามไปด้วย ซึ่งนับว่าค่อนข้างสวนทางกับภาวะความต้องการเหล็กในตลาดโลกที่ยังคงคึกคัก
อย่างไรก็ตาม ในระยะยาว ศูนย์วิจัยกสิกรไทยยังมองว่าอุตสาหกรรมเหล็กของไทยจะมีการปรับตัวตามแนวโน้มของอุตสาหกรรมเหล็กของโลกดังนี้ :
1. ผู้ผลิตจะมีการปรับโครงสร้างการผลิต โดยจะหันมาผลิตผลิตภัณฑ์เหล็กเกรดคุณภาพสูงๆ กันมากขึ้นเพื่อเสริมมูลค่าเพิ่ม (Value Added)ให้กับสินค้า
2. แนวโน้มการควบรวมกิจการระหว่างผู้ผลิตเหล็กในประเทศ และ/หรือการร่วมทุนกับต่างประเทศจะมีมากขึ้น ซึ่งสอดคล้องกับแนวโน้มการควบรวมและการขยายกิจการของบริษัทเหล็กใหญ่ๆ ที่กำลังปรากฎทั่วโลก

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


อุตสาหกรรม