Display mode (Doesn't show in master page preview)

27 กรกฎาคม 2549

เกษตรกรรม

ผลิตภัณฑ์กุ้ง : แนวโน้มครึ่งหลังปี 2549 และคาดการณ์ปี 2550 (กระแสทรรศน์ ฉบับที่ 1888)

คะแนนเฉลี่ย

ผลิตภัณฑ์กุ้งเป็นสินค้าเกษตรที่เป็นความหวังในการขยายการส่งออกในปี 2549 เนื่องจากหลากปัจจัยเกื้อหนุนทั้งในด้านการผลิตและการส่งออก ในขณะที่คาดว่าปริมาณการผลิตกุ้งในตลาดโลกมีแนวโน้มลดลง เนื่องจากประเทศผู้ผลิตกุ้งรายใหญ่เผชิญปัญหาโรคระบาด และภาวะอากาศไม่เอื้ออำนวยต่อการผลิตกุ้ง แต่คาดว่าใน 2549 ไทยจะสามารถผลิตกุ้งได้ประมาณ 381,700 ตัน เมื่อเทียบกับปี 2548 ที่ผลิตได้ 360,000 ตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 6.0 โดยปริมาณการผลิตกุ้งเพาะเลี้ยง(กุ้งขาวและกุ้งกุลาดำ)ในช่วงเดือนม.ค.-พ.ค. 2549 เท่ากับ 145,431.50 ตัน เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2548 เพิ่มขึ้นร้อยละ 28.2 ปริมาณการผลิตกุ้งมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างมากในช่วงไตรมาสสอง แม้ว่าในช่วงไตรมาสแรกเกษตรกกรผู้เลี้ยงกุ้งต้องเผชิญกับภาวะอากาศไม่เอื้ออำนวยโดยเฉพาะฝนตกหนักและน้ำท่วมในพื้นที่ภาคใต้ ซึ่งเป็นแหล่งเลี้ยงกุ้งที่สำคัญ ทำให้ผลผลิตเสียหาย รวมทั้งยังเกิดปัญหาโรคระบาดด้วย

การส่งออกกุ้งในช่วงครึ่งแรกปี 2549 มีแนวโน้มกระเตื้องขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน อันเป็นผลมาจากการนำเข้าของสหภาพยุโรป และสหรัฐฯเพิ่มขึ้นอย่างมาก กล่าวคือ ปริมาณการส่งออกสินค้ากุ้งและผลิตภัณฑ์ในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2549 เท่ากับ 103,201 ตัน มูลค่า 26,465.80 ล้านบาท เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีการส่งออก 82,099 ตัน มูลค่า 20,721.50 ล้านบาทแล้วทั้งปริมาณและมูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 25.7 และ 27.7 ตามลำดับ เดิมนั้นมีการคาดว่าช่วงครึ่งหลังปี 2549 การส่งออกกุ้งจะมีแนวโน้มชะลอตัวลงโดยคำสั่งซื้อมีแนวโน้มลดลงในช่วงไตรมาสสอง แต่คาดว่าคำสั่งซื้อเริ่มกลับมาเพิ่มขึ้นอีกครั้งในช่วงไตรมาสสาม เนื่องจากสินค้ากุ้งไทยได้รับอานิสงส์จากอินโดนีเซียและเวียดนามคู่แข่งสำคัญ ประสบปัญหาสภาพอากาศไม่เอื้ออำนวยและภัยธรรมชาติทำให้มีต้นทุนที่สูง สถานะการแข่งขันกุ้งของไทยกระเตื้องขึ้น ทำให้คาดว่าปริมาณการส่งออกปี 2549 จะเท่ากับ 280,000 ตัน มูลค่า 75,000 ล้านบาท ซึ่งเมื่อเทียบกับในปี 2548 แล้วปริมาณการส่งออกจะใกล้เคียงกับปีที่ผ่านมา แต่มูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.0 โดยแยกเป็นกุ้งสดแช่เย็นแช่แข็งร้อยละ 57.0 และกุ้งแปรรูปร้อยละ 43.0 ของปริมาณการส่งออกทั้งหมด โดยการส่งออกในตลาดสำคัญทั้งสหรัฐฯ สหภาพยุโรปและญี่ปุ่นก็มีแนวโน้มขยายตัวเช่นกัน โดยเฉพาะการส่งออกสู่ตลาดสหภาพยุโรปจะขยายตัวอย่างโดดเด่น เนื่องจากไทยได้รับคืนจีเอสพีและมีความได้เปรียบในด้านเทคโนโลยีการเลี้ยงในระบบปิด ทำให้สามารถควบคุมสุขอนามัยในด้านการผลิต ซึ่งส่งผลให้สามารถผ่านมาตรการตรวจสอบที่เข้มงวดขึ้นของตลาดสหภาพยุโรปได้ ส่วนตลาดสหรัฐฯคาดว่าไทยจะยังสามารถครองสัดส่วนตลาดเป็นอันดับหนึ่งอยู่ได้ และการส่งออกก็ยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น เนื่องจากอัตราภาษีตอบโต้การทุ่มตลาดที่สหรัฐฯเรียกเก็บจากผู้ส่งออกผลิตภัณฑ์กุ้งของไทยอยู่ในเกณฑ์ที่ต่ำกว่าประเทศคู่แข่ง รวมทั้งผลิตภัณฑ์กุ้งของไทยยังคงสอดคล้องกับความต้องการของผู้บริโภคในสหรัฐฯ อย่างไรก็ตามต้องรอดูอัตราภาษีตอบโต้การทุ่มตลาดใหม่ที่จะประกาศในช่วงปลายปี 2549 รวมทั้งคำตัดสินขององค์การการค้าโลกในการวางพันธบัตรค้ำประกันการส่งออก โดยทั้งสองปัจจัยนี้จะเป็นปัจจัยสำคัญในการกำหนดทิศทางการส่งออกกุ้งไปยังตลาดสหรัฐฯ

นอกจากนี้ทางภาครัฐและภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องกับการเลี้ยงกุ้งต้องร่วมมือกันแก้ไขอุปสรรคของการส่งออกผลิตภัณฑ์กุ้ง โดยเฉพาะการส่งออกในตลาดสหรัฐฯ โดยการเจรจาในเรื่องการวางพันธบัตรค้ำประกันการส่งออก ซึ่งอยู่ในระหว่างการยื่นฟ้องกับองค์การการค้าโลก และการให้ความช่วยเหลือผู้ส่งออกที่ต้องให้ข้อมูลเพื่อให้กระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯพิจารณาทบทวนภาษีตอบโต้การทุ่มตลาด ซึ่งถ้าผลออกมาแล้วผู้ส่งออกไทยยังคงอยู่ในสถานะได้เปรียบคู่แข่งขันก็นับว่าจะเป็นปัจจัยสนับสนุนอย่างมากในการขยายตลาดการส่งออกกุ้งในปี 2550

คาดว่าในปี 2550 สภาพภูมิอากาศจะเข้าสู่ภาวะปกติ ปริมาณการเลี้ยงกุ้งมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยผลกระทบจากลานินญาจะหมดไปในปี 2549 นี้ และขนาดของกุ้งที่เข้าสู่ตลาดก็มีแนวโน้มเป็นขนาดกุ้งใหญ่ ทำให้ราคาเฉลี่ยกุ้งมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ส่งผลให้เกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งไม่ประสบปัญหาขาดทุนจากการที่ต้องจับกุ้งก่อนกำหนดและราคากุ้งตกต่ำดังเช่นที่เกิดขึ้นในปีนี้ โดยตามแผนยุทธศาสตร์กุ้ง(ปี 2549–2551) คาดว่าจะมีการเพิ่มพื้นที่การเลี้ยงกุ้งอีกร้อยละ 10.0 และเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตหรือการเพิ่มผลผลิตเฉลี่ยต่อไร่ โดยมีเป้าหมายจะเพิ่มผลผลิตกุ้งขาวให้ได้ 950 กิโลกรัมต่อไร่ และกุ้งกุลาดำ 700 กิโลกรัมต่อไร่ จากในปัจจุบันที่มีผลผลิตเฉลี่ย 800 กิโลกรัมต่อไร่ และ 565 กิโลกรัมต่อไร่ตามลำดับ นอกจากนี้ยังมีการปรับสัดส่วนพื้นที่การผลิตกุ้ง โดยการขยายพื้นที่เลี้ยงกุ้งขาว ซึ่งเป็นกุ้งที่เป็นที่นิยมบริโภคทั้งในตลาดสหรัฐฯและสหภาพยุโรป จากเดิมที่มีการเลี้ยงกุ้งขาวร้อยละ 45 ของพื้นที่เลี้ยงกุ้งทั้งหมด และกุ้งกุลาดำร้อยละ 55 มาเป็นกุ้งขาวร้อยละ 70 กุ้งกุลาดำร้อยละ 30 สำหรับกุ้งกุลาดำซึ่งเป็นที่นิยมบริโภคในตลาดญี่ปุ่นแต่ต้องเป็นกุ้งขนาดใหญ่นั้นก็มีการปรับการเลี้ยงกุ้งกุลาดำให้ได้ตามความต้องการของตลาด

ส่วนการส่งออกกุ้งไทยในปี 2550 คาดว่าจะยังอยู่ในเกณฑ์ที่ดี แม้ว่าจะต้องเผชิญปัญหาการแข่งขันที่รุนแรงเช่นเดียวกับในปี 2549 แต่คาดว่าผู้ส่งออกกุ้งของไทยยังสามารถรักษาส่วนแบ่งตลาดและเจาะขยายตลาดเพิ่มเติมได้ โดยตลาดที่คาดว่าผู้ส่งออกกุ้งของไทยจะขยายการส่งออกได้อย่างมากคือ ตลาดสหภาพยุโรป โดยไทยมีข้อได้เปรียบประเทศคู่แข่งขันที่เทคโนโลยีการเลี้ยงกุ้งของไทยจึงไม่กังวลกับการตรวจพบสารตกค้าง โดยผู้ส่งออกกุ้งตั้งเป้าหมายขยายการส่งออกไปยังตลาดสหภาพยุโรปในปี 2550 เท่ากับ 50,000 ตัน หรือเพิ่มขึ้นจากในปี 2549 ถึง 1.5 เท่าตัว ส่วนตลาดสหรัฐฯนั้นการส่งออกในปี 2550 ผู้ส่งออกกุ้งของไทยต้องเผชิญกับปัญหาต้นทุนการส่งออกที่เพิ่มขึ้นจากเพิ่มมาตรการตรวจสอบคุณภาพสินค้าของห้างวอล-มาร์ต แต่ประเด็นที่น่าสนใจคือ

-การประกาศอัตราภาษีตอบโต้การทุ่มตลาดใหม่ที่คาดว่าจะมีการประกาศในช่วงปลายปี 2549 หลังจากการทบทวนอัตราภาษีตอบโต้การทุ่มตลาด ซึ่งถ้ายังคงอัตราภาษีเท่าเดิมทุกประเทศก็เท่ากับว่าไทยยังคงได้เปรียบในการแข่งขันในตลาดสหรัฐฯ แต่ผู้ส่งออกกุ้งของไทยจะเสียเปรียบในการแข่งขันถ้าอัตราภาษีตอบโต้การทุ่มตลาดของประเทศคู่แข่งต่ำกว่า

-คำตัดสินขององค์การการค้าโลกเกี่ยวกับการวางพันธบัตรค้ำประกันการส่งออกกุ้งของสหรัฐฯ ซึ่งประเทศผู้ส่งออกกุ้งไปยังสหรัฐฯยื่นคำฟ้องต่อองค์การการค้าโลก ถ้าองค์การการค้าโลกมีคำตัดสินให้สหรัฐฯเลิกกำหนดวางพันธบัตรค้ำประกันการส่งออก ก็จะส่งผลดีต่อการส่งออกกุ้งไปยังตลาดสหรัฐฯ เนื่องจากต้นทุนของผู้ส่งออกกุ้งของไทยมีแนวโน้มลดลง

ส่วนตลาดญี่ปุ่นนั้นการส่งออกของไทยน่าจะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ทั้งนี้เนื่องจากผู้ส่งออกกุ้งของไทยมีการปรับการผลิตให้ตรงกับความต้องการของตลาดญี่ปุ่นมากขึ้น กล่าวคือ มีการปรับเพิ่มขนาดของกุ้งกุลาดำ เนื่องจากตลาดญี่ปุ่นนิยมบริโภคกุ้งกุลาดำขนาดใหญ่ รวมทั้งการเพิ่มประสิทธิภาพการเลี้ยงกุ้ง ซึ่งจะมีผลทำให้ต้นทุนการผลิตกุ้งมีแนวโน้มลดลง ส่งผลให้ราคากุ้งส่งออกของไทยสามารถแข่งขันกับประเทศคู่แข่งได้ ทำให้ไทยน่าจะแย่งตลาดคืนมาจากประเทศคู่แข่งโดยเฉพาะเวียดนามและอินเดีย นอกจากนี้การที่ผู้ส่งออกกุ้งของไทยหันมาขยายสัดส่วนการส่งออกกุ้งแปรรูป ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์กุ้งที่มีแนวโน้มขยายตัวอย่างมากในตลาดญี่ปุ่น อันเนื่องจากความนิยมซื้อผลิตภัณฑ์ไปประกอบอาหารรับประทานเองที่บ้าน

นอกจากการขยายการส่งออกกุ้งไปยังตลาดหลักทั้งสหภาพยุโรป สหรัฐฯ และญี่ปุ่นแล้ว ผู้ส่งออกกุ้งยังมีแผนจะเปิดตลาดใหม่เพิ่มขึ้น โดยเน้นตลาดที่มีศักยภาพก่อน เช่น การจัดโรดโชว์ในประเทศที่มีอำนาจซื้อสูง โดยเฉพาะสเปน รัสเซีย อียิปต์ เนเธอร์แลนด์ อิตาลี อังกฤษ เบลเยียม และฝรั่งเศส โดยการเข้าไปสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ผู้นำเข้าด้วยระบบตรวจสอบย้อนกลับ(Traceability)

อย่างไรก็ตามเพื่อทำให้การส่งออกสินค้ากุ้งของไทยมีความยั่งยืน และยังสามารถครองส่วนแบ่งตลาดอันดับหนึ่งของโลกได้ ผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งเกษตรกร ห้องเย็น ผู้ส่งออกจะต้องร่วมกันพัฒนาวัตถุดิบซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่สุดในการแข่งขัน โดยทุกฝ่ายต้องสร้างความร่วมมือด้านเสถียรภาพราคากุ้ง ซึ่งราคาที่เหมาะสมและสามารถแข่งขันได้ควรอยู่ที่ 150-155 บาท/กก.(ขนาด 50 ตัว/กก.) สูงสุดไม่เกิน 165 บาท และต่ำสุดไม่เกิน 140 บาท/กก. หากสามารถสร้างเสถียรภาพได้จะจูงใจเกษตรกรในการเลี้ยง ส่วนผู้ส่งออกสามารถทำตลาดได้อีกมาก เพราะเวลานี้ผู้ส่งออกของไทยสามารถเจาะตลาด โดยสามารถส่งตรงถึงผู้จัดจำหน่ายรายใหญ่ในต่างประเทศ ซึ่งทำให้ได้เปรียบในการแข่งขัน

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


เกษตรกรรม