Display mode (Doesn't show in master page preview)

18 สิงหาคม 2549

อุตสาหกรรม

ตลาดรถยนต์ในประเทศชะลอตัว … บทพิสูจน์ศักยภาพดีทรอยต์แห่งเอเชีย (มองเศรษฐกิจ ฉบับที่ 1848)

คะแนนเฉลี่ย
ภาวะตลาดรถยนต์ของไทยในช่วง 6-7 เดือนแรกของปี 2549 นี้ ซบเซาลงจากปีที่แล้วๆมาอย่างเห็นได้ชัด อันเป็นผลจากปัจจัยลบหลายด้าน ส่งผลให้ผู้บริโภคชะลอการซื้อรถเนื่องจากไม่มั่นใจในสภาพเศรษฐกิจ แนวโน้มตลาดรถยนต์ในประเทศปี 2549 จึงชะลอตัวลงอย่างชัดเจนเป็นครั้งแรกในรอบ 8 ปี คาดว่าอัตราขยายตัวของตลาดรถยนต์ในประเทศปีนี้ จะต่ำที่สุดนับตั้งแต่หลังเหตุการณ์วิกฤตเศรษฐกิจปี 2540-41 อย่างไรก็ตาม ในขณะที่ตลาดรถยนต์ในประเทศในช่วงครึ่งปีแรก 2549 ได้สะดุดลง แต่แนวโน้มการส่งออกรถยนต์และชิ้นส่วนยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะนำพาให้อุตสาหกรรมดังกล่าวบรรลุสู่เป้าหมายดีทรอยต์แห่งเอเชียหรือศูนย์กลางการผลิตเพื่อส่งออกไปตลาดโลกในอนาคต ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้สรุปและวิเคราะห์ประเด็นสำคัญๆ ดังนี้ :
1. ภาวะตลาดรถยนต์ในประเทศ
เมื่อย่างเข้าปี 2549 ปัจจัยลบด้านต่างๆ ที่ทยอยเข้ามาไม่ว่าจะเป็นความวุ่นวายด้านการเมืองในประเทศ ขณะเดียวกันราคาน้ำมันก็ยังขยับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง รวมถึงอัตราเงินเฟ้อและอัตราดอกเบี้ยที่ขยับสูงขึ้น ได้ส่งผลกระทบต่อภาวะเศรษฐกิจในประเทศ รวมทั้งส่งผลกระทบต่อภาวะตลาดและอุตสาหกรรมยานยนต์ ปัจจัยทั้งหมดนี้ได้ส่งผลให้ผู้บริโภคชะลอการซื้อรถเนื่องจากไม่มั่นใจในสภาพเศรษฐกิจ โดยที่ยอดขายรถยนต์ในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2549 นี้ ลดลงร้อยละ 3.2 จากเวลาช่วงเดียวกันปีที่แล้ว และล่าสุดตัวเลขยอดขาย 7 เดือนแรกปีนี้ (ม.ค.-ก.ค.) ก็ยังลดลงร้อยละ 2.86 มาอยู่ที่จำนวน 385,414 คัน ดังนั้น จึงคาดว่ายอดจำหน่ายรถยนต์รวมในประเทศตลอดทั้งปี 2549 คงจะขยายตัวในอัตราที่ชะลอตัวลงค่อนข้างมากเมื่อเทียบกับที่เติบโตร้อยละ 12.4 ในปี 2548
อย่างไรก็ตาม ในช่วงครึ่งหลังของปีซึ่งจะเป็นช่วงไฮซีซั่นของตลาดรถ คือเป็นฤดูกาลที่ปกติยอดขายรถยนต์จะขยับดีขึ้นกว่าครึ่งปีแรก ในขณะที่ทิศทางการเมืองเริ่มมีความชัดเจนขึ้น รวมทั้งภาวะเงินเฟ้อและแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยขาขึ้นเริ่มจะทรงตัว ทำให้ผู้บริโภคมีความเชื่อมั่นและจับจ่ายใช้สอยเพิ่มขึ้น ประกอบกับค่ายรถต่างๆจะมีการนำรถรุ่นใหม่ๆ ออกสู่ตลาด รวมทั้งมีแคมเปญส่งเสริมการขายเพื่อกระตุ้นยอดจำหน่าย ดังนั้นจึงคาดว่าปัจจัยเหล่านี้จะทำให้ยอดขายในครึ่งปีหลัง 2549 กระเตื้องขึ้น และส่งผลให้ยอดจำหน่ายรถยนต์ทั้งปีเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม อัตราขยายตัวของตลาดรถยนต์ในประเทศปีนี้คงจะเติบโตเพียงประมาณร้อยละ 3 เท่านั้น ซึ่งนับว่าต่ำที่สุดนับตั้งแต่มีการฟื้นตัวของตลาดหลังวิกฤตเศรษฐกิจ
2. ภาวะและแนวโน้มการส่งออกรถยนต์
ท่ามกลางภาวะชะลอตัวของภาวะเศรษฐกิจที่ส่งผลกระทบต่อภาวะตลาดรถยนต์ในประเทศ อย่างไรก็ตามแนวโน้มการส่งออกรถยนต์และชิ้นส่วนรถยนต์ของไทยยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่อง อันเป็นผลจากการขยายตัวของเศรษฐกิจโลก และการย้ายฐานการผลิตของค่ายรถต่างๆ มายังไทยเพื่อการส่งออก ตลอดจนเป็นผลจากการเปิดเสรีทางการค้า คาดว่าในปี 2549 นี้ ปริมาณรถยนต์ส่งออกจะเกินระดับ 5 แสนคัน โดยจะขยายตัวไปอยู่ที่ประมาณ 560,000-570,000 คัน หรือเพิ่มขึ้นในอัตราประมาณร้อยละ 30 จากปี 2548 ที่ผ่านมา ทั้งนี้ในช่วง 6 เดือนแรกปี 2549 ปริมาณรถยนต์ส่งออกมีจำนวน 263,831 คัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 35.9 จากช่วงเวลาเดียวกันปี 2548 ดังนั้นจึงกล่าวได้ว่า ในขณะที่ตลาดรถยนต์ในประเทศปี 2549 มีอาการสะดุด แต่ภาคการส่งออกยังคงเป็นความหวังของอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย
3. ศักยภาพสู่การเป็นดีทรอยต์แห่งเอเชีย
จากความเชื่อมั่นในศักยภาพอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยที่ได้มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องในช่วงเวลากว่า 30 ปีที่ผ่านมา ภายใต้นโยบายส่งเสริมจากภาครัฐ ประกอบกับการเติบโตของตลาดรถยนต์ไทย และความพร้อมของอุตสาหกรรมชิ้นส่วนรถยนต์และอุตสาหกรรมต่อเนื่องอื่นๆ ที่ได้มีการพัฒนาเคียงคู่กับอุตสาหกรรมรถยนต์ ปัจจัยต่างๆเหล่านี้ได้จูงใจให้ค่ายรถยนต์ใหญ่ๆจากต่างประเทศทยอยเข้ามาตั้งหรือขยายโรงงานผลิตในประเทศไทย อันนำไปสู่กระแสการโยกย้ายฐานการผลิตจากต่างประเทศมายังไทย ปัจจุบันได้มีการลงทุนจากบริษัทผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่ของโลก ทั้งจาก ญี่ปุ่น ยุโรป และอเมริกา เข้ามาตั้งโรงงานรถยนต์ในไทย ทำให้ปัจจุบันประเทศไทยเป็นฐานการผลิตรถยนต์ที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อีกทั้งยังมีการขยายการลงทุนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพื่อใช้ประเทศไทยเป็นฐานการผลิตเพื่อส่งไปจำหน่ายยังตลาดโลก บรรดาค่ายรถใหญ่ๆจากต่างประเทศได้ทยอยย้ายฐานการผลิตมายังไทย ไม่ว่าจะเป็นค่ายโตโยต้า อีซูซุ/เจนเนอรัล มอเตอร์ส ฮอนด้า ฟอร์ด/มาสด้า มิตซูบิชิ นิสสัน ฯลฯ โดยมุ่งเน้นที่จะเพิ่มการส่งออก ประกอบกับการที่บริษัทผู้ผลิตรถยนต์ใช้ประโยชน์จากสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรภายใต้ข้อตกลงเขตการค้าเสรีอาเซียนหรืออาฟต้า และภายใต้ข้อตกลงเขตการค้าเสรี(Free Trade Area: FTA)ในลักษณะทวิภาคีที่ไทยจัดทำกับบางประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับออสเตรเลีย ได้ทำให้การส่งออกรถยนต์จากไทยไปตลาดต่างประเทศสูงขึ้นมาก และปัจจุบันค่ายรถยนต์ใหญ่ๆยังคงดำเนินการขยายกำลังผลิตอย่างต่อเนื่องแม้จะได้เกิดภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวและปัญหาการเมืองในประเทศ

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


อุตสาหกรรม