Display mode (Doesn't show in master page preview)

21 สิงหาคม 2549

อุตสาหกรรม

แนวโน้มอุตสาหกรรมไทย ครึ่งหลังปี 2549 ... อุปสงค์ชะลอ ทั้งตลาดในและนอกประเทศ (กระแสทรรศน์ ฉบับที่ 1894)

คะแนนเฉลี่ย
ในระยะที่ผ่านมาของปีนี้ ภาคอุตสาหกรรมไทยยังมีการเติบโตได้ดี โดยมีแรงขับเคลื่อนที่สำคัญมาจากภาคการส่งออกที่เติบโตสูง แต่ในไตรมาสสองของปี 2549 เครื่องชี้ภาวะอุตสาหกรรมเริ่มบ่งชี้ให้เห็นถึงภาวะการชะลอตัว โดยดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรม หรือ MPI (Manufacturing Production Index) มีอัตราการขยายตัวร้อยละ 6.4 เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ต่ำกว่าที่ขยายตัวร้อยละ 9.7 ในไตรมาสแรกของปี สอดคล้องกับปริมาณการส่งออกของไทย ซึ่งขยายตัวร้อยละ 11.2 ในไตรมาสสอง ชะลอลงจากที่ขยายตัวร้อยละ 14.6 ในไตรมาสแรก จากการวิเคราะห์เครื่องชี้กิจกรรมเศรษฐกิจภาคอุตสาหกรรมในช่วงที่ผ่านมา ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่าผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ หรือ จีดีพี ของภาคอุตสาหกรรมอาจมีอัตราการเติบโตชะลอลงในไตรมาสสองปี 2549 มาอยู่ที่ประมาณร้อยละ 4.9 เทียบกับที่ขยายตัวร้อยละ 7.6 ในไตรมาสแรก
สำหรับในช่วงครึ่งหลังของปี 2549 ปัจจัยลบที่ส่งผลให้เศรษฐกิจภายในประเทศชะลอตัวลงในช่วงที่ผ่านมา อาจจะยังส่งผลกระทบต่อเนื่องไปจนถึงตลอดทั้งปี ไม่ว่าปัญหาราคาน้ำมัน อัตราดอกเบี้ย หรือประเด็นปัญหาทางการเมือง ขณะเดียวกัน ปัญหาราคาน้ำมันและการปรับขึ้นดอกเบี้ยในต่างประเทศ ก็อาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าสำคัญของไทย ให้มีแนวโน้มชะลอตัวลงเช่นเดียวกัน ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า การชะลอตัวของภาวะตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศนี้ จะมีผลทำให้ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศของภาคอุตสาหกรรม ในช่วงครึ่งหลัง ปี 2549 อาจขยายตัวชะลอลงมาที่ประมาณร้อยละ 4.7 จากคาดการณ์อัตราการขยายตัวในช่วงครึ่งปีแรกที่ร้อยละ 6.2 ซึ่งจะส่งผลให้อัตราการเติบโตของภาคอุตสาหกรรมในปี 2549 โดยเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 5.4 ต่ำลงเล็กน้อยจากที่ขยายตัวร้อยละ 5.5 ในปี 2548 โดยคาดว่าผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศของภาคอุตสาหกรรมจะมีมูลค่ารวมทั้งสิ้นประมาณ 2.72 ล้านล้านบาทในปี 2549 เทียบกับที่มีมูลค่า 2.47 ล้านล้านบาทในปี 2548
สำหรับแนวโน้มในปี 2550 ภาคอุตสาหกรรมไทยอาจยังคงเผชิญกับภาวะอุปสงค์ภายในประเทศที่ซบเซา แม้ว่าการใช้จ่ายของผู้บริโภคอาจได้รับแรงกดดันน้อยลง จากอัตราเงินเฟ้อและอัตราดอกเบี้ยในประเทศมีแนวโน้มที่จะมีเสถียรภาพมากขึ้นกว่าในปี 2549 แต่การใช้จ่ายของภาครัฐและการลงทุนอาจยังได้รับผลกระทบจากปัญหาทางการเมืองในช่วงที่ผ่านมา โดยเฉพาะผลที่มีต่อการใช้จ่ายงบประมาณลงทุนของภาครัฐที่ต้องล่าช้าออกไป ส่งผลให้ภาพรวมอุปสงค์ภายในประเทศอาจชะลอตัวต่อเนื่องในช่วงครึ่งแรกของปี ก่อนที่จะฟื้นตัวกลับมามีอัตราการขยายตัวสูงได้ในช่วงครึ่งปีหลัง เมื่อรัฐบาลสามารถผลักดันการใช้จ่ายงบประมาณเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจได้อย่างเต็มที่ และภาคเอกชนมีความเชื่อมั่นต่อการลงทุนดีขึ้น นอกจากนี้ ภาคการส่งออกคงจะได้รับผลกระทบจากแนวโน้มการชะลอตัวของประเทศเศรษฐกิจชั้นนำของโลก โดยเฉพาะสหรัฐ รวมทั้งแนวโน้มการแข็งค่าขึ้นของค่าเงินบาท
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศของภาคอุตสาหกรรมในช่วงไตรมาสแรกของปี 2550 อาจขยายตัวต่ำเพียงร้อยละ 1.4 ต่ำสุดในรอบ 5 ปีนับตั้งแต่ปี 2545 ก่อนที่จะค่อยๆปรับตัวดีขึ้นในไตรมาสสอง และเริ่มมีอัตราการขยายตัวสูงในช่วงครึ่งหลังของปี ส่งผลให้โดยภาพรวมทั้งปีของปี 2550 การเติบโตของภาคอุตสาหกรรมอาจจะยังชะลอตัวลง มีอัตราการขยายตัวประมาณร้อยละ 4.3 โดยมีมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศอยู่ที่ประมาณ 2.94 ล้านล้านบาท
นอกจากนี้ ปัจจัยเสี่ยงต่อภาวะอุตสาหกรรมในระยะข้างหน้า ที่สำคัญยังได้แก่ ทิศทางการแข็งค่าของเงินบาท โอกาสความผันผวนของราคาสินค้าโภคภัณฑ์ซึ่งรวมถึงราคาน้ำมัน ข้อขัดแย้งในภูมิภาคตะวันออกกลางและภัยคุกคามจากการก่อการร้ายที่จะเป็นความเสี่ยงต่อเสถียรภาพการเติบโตของเศรษฐกิจโลก ภาวะการแข่งขันทั้งในและนอกประเทศที่จะยิ่งทวีความรุนแรง และสุดท้ายคือมาตรการทางการค้าของประเทศคู่ค้า

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


อุตสาหกรรม