Display mode (Doesn't show in master page preview)

15 กันยายน 2549

อุตสาหกรรม

เครื่องใช้บนโต๊ะอาหารเซรามิกปี’49 : ต้องโดดเด่น-แตกต่าง...เพื่อขยับรุกตลาดระดับกลาง-บน (มองเศรษฐกิจ ฉบับที่ 1861)

คะแนนเฉลี่ย
ในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา มูลค่าการส่งออกสินค้าเครื่องใช้บนโต๊ะอาหารและในครัวของไทยสูงประมาณ 20,000-23,000 ล้านบาทต่อปี(ประมาณ 500-600 ล้านเหรียญสหรัฐ) และติดอันดับ 1 ใน 50 รายการสินค้าส่งออกที่สำคัญของไทยมาโดยตลอด ซึ่งในบรรดาสินค้าเครื่องใช้บนโต๊ะอาหารและในครัวที่ส่งออกทั้งหมด พบว่าเครื่องใช้บนโต๊ะอาหารและในครัวทำด้วยเซรามิก เป็นสินค้าในกลุ่มนี้ที่มีมูลค่าส่งออกสูงสุดคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 26.5 ของมูลค่าการส่งออกเครื่องใช้บนโต๊ะอาหารและในครัวโดยรวมของไทยในปี 2548 ที่ผ่านมา[1] ขณะเดียวกันไทยยังเป็นผู้ส่งออกเครื่องใช้บนโต๊ะอาหารและในครัวทำด้วยเซรามิกรายสำคัญอันดับ 1 ของอาเซียน และเป็นผู้ส่งออกรายสำคัญอันดับ 5 ในตลาดโลกในปี 2548 ตามรายงานของ Global Trade Atlas อีกทั้งความสามารถในการแข่งขันของการค้าระหว่างประเทศ โดยวัดจากดัชนีความได้เปรียบโดยเปรียบเทียบ หรือ RCA (Revealed Comparative Advantage)[2] ของสินค้าประเภทนี้ของไทยในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมาก็ค่อนข้างดี โดยไทยมีค่า RCA เฉลี่ย 3-4 ต่อปี
อย่างไรก็ตาม จากการเปิดเสรีทางการค้าตามข้อกำหนดของ WTO และ AFTA ส่งผลให้สินค้าเครื่องใช้บนโต๊ะอาหารและในครัวที่ทำด้วยเซรามิกระดับกลาง-ล่างราคาถูกของไทยต้องแข่งขันกับคู่แข่งอย่างจีน และอินโดนีเซียอย่างรุนแรงเพิ่มมากขึ้นตามลำดับ โดยมูลค่าการส่งออกเครื่องใช้บนโต๊ะอาหารและในครัวทำด้วยเซรามิกของไทยเริ่มชะลอตัวลงนับตั้งแต่ปี 2547 จนถึงปัจจุบัน ซึ่งในช่วง 7 เดือนแรกปี 2549 ไทยส่งออกสินค้ากลุ่มดังกล่าวคิดเป็นมูลค่า 3,835.1 ล้านบาท(ลดลงร้อยละ 6.56 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน)[3] และ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่าการส่งออกเครื่องใช้บนโต๊ะอาหารและในครัวทำด้วยเซรามิกของไทยในปี และ คาดว่าการส่งออกเครื่องใช้บนโต๊ะอาหารและในครัวทำด้วยเซรามิกของไทยในปี 2549 น่าจะชะลอตัวต่อเนื่องด้วยระดับอัตราการเติบโตลดลงร้อยละ 3-5 เพราะนอกจากภาวการณ์แข่งขันที่รุนแรงในตลาดโลกแล้ว ผู้ประกอบการไทยยังต้องเผชิญกับภาวะความผันผวนของราคาน้ำมันที่ส่งผลกระทบต่อต้นทุนการผลิต ทั้งในส่วนของค่าขนส่ง และค่าบริการสาธารณูปโภคโดยเฉพาะค่าไฟฟ้าของผู้ประกอบการที่มีการปรับตัวเพิ่มขึ้น รวมถึงภาวะความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ ที่ปัจจุบันผู้ประกอบไทยกำลังเผชิญกับสถานการณ์ค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้น อันมีผลให้สินค้ากลุ่มนี้ของไทยมีราคาแพงขึ้นในสายตาของลูกค้าต่างชาติโดยเปรียบเทียบ ซึ่งอาจจะมีผลต่อเนื่องให้ตลาดต่างประเทศบางแห่งชะลอการตัดสินใจสั่งซื้อสินค้ากลุ่มนี้ของไทยตามมา
ดังนั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จึงเห็นว่า นับจากนี้ผู้ประกอบการเครื่องใช้บนโต๊ะอาหารและครัวเรือนเซรามิกไทยจำเป็นต้องเน้นการพัฒนากระบวนการผลิตให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น เพื่อลดปริมาณการสูญเสียสินค้า และต้องควบคุมการจัดการและการส่งมอบให้ดี ควบคู่กับการสร้างความได้เปรียบด้านความแตกต่างให้ได้โดยเร็ว เพื่อรุกตลาดระดับกลาง และขยับไปยังตลาดระดับบนมากขึ้น โดยอาศัยจุดแข็งด้านฝีมือที่ชำนาญและประณีตของแรงงานไทยเพื่อรองรับการแข่งขันภายใต้ระดับราคาที่แข่งขันได้ พร้อมทั้งเร่งหาจุดขายของตัวเองที่ชัดเจน และพัฒนาผลิตภัณฑ์ ตลอดจนบรรจุภัณฑ์อย่างต่อเนื่องให้โดดเด่น แตกต่าง และตรงตามความต้องการของตลาด ทั้งด้านสีสัน รูปแบบทันสมัย คุณภาพดี และพัฒนาสร้างตราของตนเอง พร้อมทั้งนำเสนอผลิตภัณฑ์ใหม่ๆอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้เพื่อเป็นการเพิ่มมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้า ขณะเดียวกันผู้ส่งออกไทยควรหาโอกาสไปแนะนำสินค้า โดยการเข้าร่วมงานแสดงสินค้าในต่างประเทศอย่างต่อเนื่องและต้องมีการออกแบบสถานที่ที่จัดแสดงสินค้าให้โดดเด่นหรือมีความคิดสร้างสรรค์เพื่อภาพลักษณ์ที่ดีของสินค้าด้วย หรือการเดินทางไปเสนอขายสินค้าด้วยตนเอง และการติดต่อผ่าน Trading Firm ที่มีเครือข่ายกว้างขวางในแต่ละประเทศอย่างต่อเนื่องมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ผู้ส่งออกควรตระหนักถึงความสำคัญของการศึกษาภาษาและเข้าใจในวัฒนธรรมของคู่ค้า เพื่อสร้างข้อได้เปรียบต่อการดำเนินการทางการค้า และเร่งเปิดเกมรุกบุกตลาดใหม่ๆเพื่อลดปัญหาการพึ่งพิงตลาดหลักมากเกินไป และกระตุ้นให้สินค้าในกลุ่มนี้โดยรวมของไทยมีโอกาสในการสร้างรายได้เพิ่มพูนยิ่งขึ้นในอนาคต


[1]กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์
[2] RCA คำนวณจากการใช้สัดส่วนการนำเข้าสินค้า Y ต่อการนำเข้าสินค้าทั้งหมดของประเทศ B จากประเทศ A เปรียบเทียบกับสัดส่วนการนำเข้าสินค้า Y ต่อสัดส่วนการนำเข้าทั้งหมดของประเทศ B จากทุกประเทศ ที่มีเกณฑ์กำหนดว่าถ้าค่า RCA ของประเทศใดมีค่ามากกว่า 1 แสดงว่าประเทศนั้นมีความได้เปรียบในการส่งออกสินค้านั้นๆในตลาดหนึ่ง (ซึ่งในที่นี้สินค้าคือเฟอร์นิเจอร์ ขณะที่ตลาดคือประเทศสหรัฐอเมริกา) โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าค่า RCA มากกว่า 2 แสดงว่าประเทศนั้นมีความได้เปรียบหรือมีศักยภาพในการแข่งขันในระดับค่อนข้างดียิ่งขึ้นและถ้าค่า RCA มากกว่า 10 ก็แสดงว่าประเทศนั้นมีศักยภาพในการแข่งขันสูงขึ้นไปอีกแต่ถ้าค่า RCA น้อยกว่า 1 แสดงว่าประเทศนั้นมีความเสียเปรียบในการส่งออกสินค้านั้นๆ
[3]กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


อุตสาหกรรม