Display mode (Doesn't show in master page preview)

20 ตุลาคม 2549

อุตสาหกรรม

เครื่องปรุงรสอาหาร : รุกขยายตลาดช่วงเทศกาลกินเจ (มองเศรษฐกิจ ฉบับที่ 1881)

คะแนนเฉลี่ย
ในช่วงเทศกาลกินเจที่จะมีขึ้นระหว่างวันที่ 22-30 ตุลาคมนี้ เครื่องปรุงรสอาหารเป็นสินค้าประเภทหนึ่งที่มีการส่งเสริมการขายเพิ่มขึ้น โดยจะเห็นว่าในปีนี้บรรดาผู้ประกอบการเริ่มการจัดกิจกรรมส่งเสริมการขายตั้งแต่ต้นเดือนตุลาคม ซึ่งนับว่าเป็นการเริ่มจัดกิจกรรมทางการตลาดเร็วกว่าทุกปีที่ผ่านมา และผู้ประกอบการทุ่มเม็ดเงินในการจัดกิจกรรมทางการตลาดมากกว่าทุกปี ทั้งนี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อกระตุ้นบรรยากาศการซื้อขายให้คึกคักขึ้น เนื่องจากในช่วงที่ผ่านมาของปีนี้ผู้ประกอบการต้องเผชิญปัญหาหลากหลาย โดยเฉพาะภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว และภาวะน้ำท่วม ทำให้ยอดจำหน่ายไม่เป็นไปตามเป้าหมาย ดังนั้นในช่วงเทศกาลกินเจในปีนี้จึงนับว่าเป็นช่วงจังหวะดีที่ผู้ประกอบการสินค้าเครื่องปรุงรสอาหารสามารถเพิ่มยอดจำหน่ายปิดการขายให้ได้ตามเป้าเมื่อถึงสิ้นปี
ปัจจุบันกระแสความนิยมบริโภคเครื่องปรุงรสอาหารในประเทศเพิ่มขึ้นอย่างมาก ทำให้ตลาดเครื่องปรุงรสอาหารขยายตัวอย่างรวดเร็ว เนื่องจากคนไทยยอมรับและบริโภคเครื่องปรุงรสที่มีความหลากหลายมากขึ้น ผู้ประกอบการเริ่มพัฒนาสิ่งปรุงรสอาหารแบบเดิมคือ เครื่องปรุงรสประเภทซอส น้ำปลา เครื่องแกงสำเร็จรูป และผงปรุงรส โดยการเพิ่มความหลากหลายของผลิตภัณฑ์ทั้งนี้เพื่อตอบสนองความต้องการที่หลากหลายของผู้บริโภค และยังเป็นการขยายฐานการตลาดรวมทั้งเพิ่มยอดจำหน่ายของสินค้าเครื่องปรุงรสอาหารด้วย เช่น ซอสผัด ซอสหอยนางรมผสมกระเทียม ซอสพริกไทยดำ ซอสปรุงรสชนิดเผ็ด ผงปรุงรสสำหรับทำน้ำซุปโดยเฉพาะ เป็นต้น ซึ่งเป็นตลาดใหม่ที่มีโอกาสในการขยายตลาดสูง เนื่องจากเป็นสินค้าที่ตอบสนองกับพฤติกรรมผู้บริโภคที่ต้องการความสะดวก รวดเร็ว
สภาพตลาดเครื่องปรุงรสอาหารทวีความเข้มข้นมากขึ้น มีผู้เล่นรายใหม่ๆเข้ามาร่วมชิงส่วนแบ่งตลาด นอกจากนี้ผู้ประกอบการกลุ่มดิสเคานต์สโตร์มีการพัฒนาสินค้าเครื่องปรุงรสอาหารภายใต้ตราสินค้าเฮาส์แบรนด์ โดยตั้งราคาจำหน่ายต่ำกว่าร้อยละ 20 ภาพรวมของตลาดเครื่องปรุงรสอาหารจึงมีการแข่งขันทำกิจกรรมส่งเสริมการจำหน่าย โดยเฉพาะการจัดชิงโชคค่อนข้างถี่ตลอดทั้งปี รวมทั้งมีรายการลดแลกแจกแถมด้วย อย่างไรก็ตามผู้ประกอบการบางรายที่ไม่ได้เข้ามาร่วมกิจกรรมทางสงครามราคาก็จะปรับกลยุทธ์โดยการมุ่งสร้างตรายี่ห้อเพื่อรักษาและขยายฐานลูกค้าใหม่ รวมทั้งยกระดับสินค้าเครื่องปรุงรสอาหารให้เป็นสินค้าระดับพรีเมี่ยม โดยเน้นความแตกต่างในขั้นตอนการผลิตและรสชาติที่แตกต่าง รวมทั้งการเข้าถึงผู้บริโภคด้วยการสื่อสารข้อมูลความแตกต่างนี้ให้ลูกค้ากลุ่มเป้าหมายได้รับรู้ ทั้งนี้เพื่อจับลูกค้าเฉพาะกลุ่มมากขึ้น เนื่องจากจุดอ่อนสำคัญของตลาดเครื่องปรุงรสอาหารคือ ความจงรักภักดีต่อตรายี่ห้อ ดังนั้นผู้ประกอบการจึงหันมาเน้นการสร้างความภักดีต่อตรายี่ห้อ นอกจากนี้ผู้ประกอบการยังพยายามขยายฐานลูกค้าในอนาคต โดยเฉพาะการหันมาจับตลาดผู้บริโภคกลุ่มนิสิตนักศึกษา และลูกค้าระดับเยาวชนทั้งนี้เพื่อให้เกิดความคุ้นเคยและยอมรับตรายี่ห้อสินค้า เนื่องจากมีการวิจัยพบว่าผู้บริโภคที่อายุมากกว่า 40 ปีขึ้นไปจะค่อยจะไม่เปลี่ยนแปลงตรายี่ห้อที่บริโภค ในขณะที่ผู้บริโภคที่อายุต่ำกว่า 40 ปีจะเป็นกลุ่มที่มีพฤติกรรมชอบปรับเปลี่ยนตรายี่ห้อ แต่ผู้บริโภคกลุ่มนี้เป็นผู้ที่จะต่อยอดในการบริโภคสินค้าในรุ่นต่อไป
บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด คาดว่าในปี 2549 มูลค่าตลาดเครื่องปรุงรสอาหารในประเทศมีขนาดใหญ่ประมาณ 15,600 ล้านบาท เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมาเพิ่มขึ้นร้อยละ 12.7 ตลาดเครื่องปรุงรสอาหารแบ่งตามลักษณะของผู้บริโภคออกเป็น 2 ระดับคือ ตลาดผู้บริโภคในครัวเรือนและตลาดกลุ่มอุตสาหกรรม โดยตลาดผู้บริโภคในครัวเรือน ส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 80 การแข่งขันเข้มข้น มีผู้ผลิตมากราย ดังนั้นผู้ผลิตต้องใช้กลยุทธ์ทางการตลาดในรูปแบบต่างๆ กันเพื่อส่งเสริมการขาย ทั้งนี้เพื่อให้ผู้บริโภคเห็นความแตกต่างของสินค้าและมีความจงรักภักดีต่อตรายี่ห้อมากขึ้น ในปีนี้คนไทยกลับเข้าสู่ยุคปรุงอาหารทานในครอบครัว รวมทั้งความกังวลในเรื่องของสุขภาพจากการรับประทานอาหารนอกบ้าน ทำให้ตลาดเครื่องปรุงรสอาหารสำหรับผู้บริโภคในครัวเรือนมีแนวโน้มขยายตัวอย่างมากในปีนี้ ส่วนตลาดกลุ่มอุตสาหกรรม ซึ่งได้แก่ โรงแรม โรงพยาบาล ร้านอาหารและภัตตาคารชั้นนำ มีส่วนแบ่งตลาดประมาณร้อยละ 20 ผู้ผลิตที่มุ่งเจาะตลาดนี้จะเน้นคุณภาพของสินค้าเป็นจุดขาย เนื่องจากลูกค้ากลุ่มนี้จะเป็นตัวช่วยตอกย้ำคุณภาพของสินค้า เนื่องจากจะมีการทดสอบคุณภาพของสินค้าและมีการรายงานผลการทดสอบกลับถึงผู้ประกอบการอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตามในปีนี้คนไทยพยายามประหยัดค่าใช้จ่ายโดยลดปริมาณการบริโภคอาหารนอกบ้าน ทำให้ยอดการสั่งซื้อสินค้าเครื่องปรุงรสอาหารในปีนี้ปรับตัวลดลงอย่างมากประมาณร้อยละ 20-30
มูลค่าการส่งออกเครื่องปรุงรสอาหารในช่วง 8 เดือนแรกของปี 2549 เท่ากับ 120.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2548 แล้วเพิ่มขึ้นร้อยละ 14.0 โดยการส่งออกเครื่องปรุงรสอาหารมีแนวโน้มขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ปัจจัยหนุนให้มูลค่าการส่งออกเครื่องปรุงรสอาหารของไทยคือ ชาวต่างชาติหันมานิยมรับประทานอาหารไทยมากขึ้น การขยายตัวของธุรกิจร้านอาหารและภัตตาคารไทยในต่างประเทศทำให้อาหารไทยเป็นที่รู้จักมากยิ่งขึ้น รวมทั้งความนิยมเครื่องปรุงรสอาหารจากไทยเริ่มขยายตัวไปสู่การวางจำหน่ายบนชั้นในซุปเปอร์มาร์เก็ตใหญ่ๆ ทำให้ชาวต่างชาติที่นิยมรับประทานอาหารไทยมีความสะดวกมากขึ้นในการซื้อเครื่องปรุงรสอาหารไทย จากที่เคยจำกัดตัวอยู่ในร้านขายของชำของชาวเอเชีย อย่างไรก็ตามอุปสรรคสำคัญในการส่งออกคือ ประเทศผู้นำเข้าแต่ละประเทศเข้มงวดในเรื่องมาตรฐานความปลอดภัยจากเชื้อโรคและสารเคมีตกค้าง รวมทั้งมีการเปลี่ยนแปลงกฎระเบียบในการนำเข้าตลอดเวลา และบางประเทศยังไม่รู้จักสินค้าเครื่องปรุงรสอาหารของไทย ทำให้ผู้ประกอบการต้องเร่งปรับระบบการผลิตข้าสู่มาตรฐานเพื่อลดปัญหาการกีดกันทางการค้า และต้องเร่งเผยแพร่ข้อมูลสินค้ากลุ่มนี้ให้เป็นที่รู้จัก และเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับกฎระเบียบมาตรฐานสินค้าของแต่ละประเทศทั้งนี้เพื่อช่วยเพิ่มความคล่องตัวให้กับผู้ประกอบการในการเจาะขยายตลาด
ตลาดสำคัญของเครื่องปรุงรสอาหารของไทยคือ สหภาพยุโรป ญี่ปุ่น ประเทศในอาเซียน สหรัฐฯ ออสเตรเลีย และฮ่องกง โดยตลาดส่งออกเครื่องปรุงรสอาหารยังมีแนวโน้มขยายตัวในเกณฑ์สูงอย่างต่อเนื่องคือ ญี่ปุ่น ออสเตรเลียและสหรัฐฯ ในขณะที่การส่งออกเครื่องปรุงรสอาหารไปยังตลาดสหภาพยุโรปแม้ว่ายังมีแนวโน้มขยายตัว แต่เป็นที่น่าสังเกตว่าอัตราการขยายตัวเริ่มชะลอลงกล่าวคือ การส่งออกเครื่องปรุงรสอาหารไปยังสหภาพยุโรปในช่วง 8 เดือนแรกของปี 2549 เท่ากับ 26.0 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เทียบกับช่วงเดียวกันในปีที่ผ่านมาเพิ่มขึ้นร้อยละ 9.7 จากเดิมที่อัตราการขยายตัวของการส่งออกไปยังสหภาพยุโรปเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 20.0 อันเป็นผลมาจากหน่วยงานมาตรฐานอาหารอังกฤษ (UK Food Standards Agency : FSA) ตรวจพบสาร Sudan Red และ Para Red ในพริก ผลิตภัณฑ์เครื่องเทศ ขมิ้น และผลิตภัณฑ์อาหารแปรรูปอื่นๆที่มีส่วนผสมของพริก เครื่องเทศ และซอสจากประเทศคู่แข่งสำคัญของไทยในตลาดสหภาพยุโรป ทำให้มีการประกาศเรียกคืนสินค้าอาหารที่ตรวจพบการปนเปื้อน แม้ว่าทำให้ผู้บริโภคบางส่วนหันมาบริโภคเครื่องปรุงรสอาหารของไทย แต่ก็ส่งผลกระทบทำให้ผู้บริโภคในสหภาพยุโรปบางส่วนลดการบริโภคเครื่องปรุงรสลง เนื่องจากวิตกเรื่องสารปนเปื้อน นอกจากนี้จากการแข่งขันที่รุนแรงขึ้นในประเทศ ผู้ประกอบการมีการปรับแผนโดยการหันรุกตลาดส่งออกโดยมุ่งเป้าเจาะตลาดร้านอาหารไทยใน ตะวันออกกลางและแอฟริกาใต้ ควบคู่กับการขยายฐานตลาดเดิมในเอเชีย สหรัฐฯ และยุโรป

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


อุตสาหกรรม