Display mode (Doesn't show in master page preview)

20 ตุลาคม 2549

อุตสาหกรรม

เครื่องใช้บนโต๊ะอาหารและของใช้ในครัวเรือนไทยในญี่ปุ่น : น่าจะอยู่ในช่วงขาขึ้น...แต่ยังต้องเร่งเปิดเกมรุกหนัก (มองเศรษฐกิจ ฉบับที่ 1884)

คะแนนเฉลี่ย
แม้ว่าสถานการณ์การแข่งขันที่รุนแรงในตลาดญี่ปุ่นจากจำนวนคู่แข่งในตลาดโลกที่เพิ่มมากขึ้น และคู่แข่งแต่ละรายต่างก็ให้ความสำคัญต่อการพัฒนาคุณภาพและรูปแบบสินค้าเพิ่มขึ้น แต่จากการที่เศรษฐกิจญี่ปุ่นกระเตื้องขึ้นตามลำดับในปี 2549 และชาวญี่ปุ่นหันมาใช้จ่ายอย่างสมเหตุสมผล รวมถึงใส่ใจในคุณภาพของสินค้ามากขึ้น ส่งผลให้ในปี 2549 สินค้าเครื่องใช้บนโต๊ะอาหารและเครื่องใช้ในครัวเรือนของไทยมีแนวโน้มถือครองส่วนแบ่งสินค้ากลุ่มนี้ติดอันดับ 1 ใน 5 อันดับแรกของตลาดญี่ปุ่นได้เป็นปีแรก และถึงแม้ว่าในปี 2550 เศรษฐกิจญี่ปุ่นจะมีแนวโน้มชะลอตัวลง แต่ด้วยความโดดเด่นทางด้านสินค้ากลุ่มนี้ของไทยที่ผลิตได้มีคุณภาพที่ดีและคงที่ ประณีตสวยงาม อีกทั้งยังสามารถรักษาเวลาในการส่งมอบได้ดี จึงน่าจะทำให้สินค้ากลุ่มนี้ของไทยเป็นที่น่าเชื่อถือต่อผู้นำเข้าญี่ปุ่นเหนือกว่าคู่แข่งอย่างจีน โดยคาดว่าการส่งออกสินค้ากลุ่มนี้ของไทยไปยังตลาดญี่ปุ่นในปี 2550 น่าขยายตัวเพิ่มขึ้นด้วยระดับการเติบโตประมาณร้อยละ 10-15 และยิ่งหากการลงนามข้อตกลงการค้าเสรีไทย-ญี่ปุ่นบรรลุข้อตกลงกันได้ ก็น่าจะเป็นปัจจัยหนึ่งที่สนับสนุนให้การส่งออกสินค้ากลุ่มนี้ของไทยในตลาดญี่ปุ่นเป็นไปตามเป้าหมายได้ดียิ่งขึ้น อย่างไรก็ตาม ปัญหาการลอกเลียนแบบสินค้า ก็นับเป็นปัญหาที่สำคัญมากในปัจจุบันและมีแนวโน้มว่าจะรุนแรงเพิ่มขึ้นตามลำดับ โดยจีนซึ่งเป็นศูนย์กลางและแหล่งผลิตสินค้ากลุ่มนี้ที่สำคัญของญี่ปุ่นนั้นนับเป็นแหล่งลอกเลียนแบบสินค้าที่ใหญ่ที่สุดด้วยเช่นกัน หรือแม้แต่เวียดนามเองก็สามารถผลิตสินค้ากลุ่มนี้ส่งตลาดญี่ปุ่นที่ให้ความสำคัญต่อคุณภาพสินค้าอยู่แล้วได้ดีขึ้นตามลำดับ ทำให้สินค้าที่ผลิตได้ในเวียดนามจึงมีมาตรฐานที่ดีระดับหนึ่ง และมีราคาไม่แพงมากนัก หรือมีราคาที่ไม่แตกต่างจากสินค้าที่ผลิตในจีนมากนักด้วย จึงมีความเป็นไปได้สูงว่าเวียดนามอาจจะก้าวขึ้นมีบทบาทเพิ่มมากขึ้นได้ในอนาคตอันใกล้
ดังนั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จึงเห็นว่าผู้ประกอบการไทยควรให้ความสำคัญต่อการพัฒนาการผลิตและเน้นเกมรุกมากยิ่งขึ้น ซึ่งการเจาะตลาดญี่ปุ่นให้มีประสิทธิภาพนั้นต้องมุ่งเน้นคุณภาพที่ดีได้มาตรฐานเป็นอันดับแรก ตามมาด้วยการให้ความสำคัญต่อความปลอดภัยในการใช้งาน และประโยชน์ใช้สอย ดังนั้นการออกแบบเพื่อตอบสนองความต้องการของตลาดญี่ปุ่นจึงควรจะต้องเน้นการออกแบบที่มีประโยชน์การใช้สอยสูง ประณีตสวยงาม ความคงทน และมีความปลอดภัยต่อสุขภาพผู้ใช้โดยเฉพาะในส่วนของวัตถุดิบที่นำมาใช้ พร้อมทั้งควรเร่งหาพันธมิตรทางการค้าที่มีช่องทางกระจายสินค้าในวงกว้างในตลาดญี่ปุ่น โดยเฉพาะช่องทาง Home Center หรือการสั่งซื้อทางไปรษณีย์(Mail Order) เนื่องจากเป็นช่องทางที่ได้รับความนิยมจากผู้บริโภคชาวญี่ปุ่นที่ไม่ต้องการเสียเวลาในการซื้อหาสิ่งของ แต่ทั้งนี้ผู้ประกอบการไทยควรต้องพยายามติดต่อเจรจากับผู้นำเข้ารายใหญ่ที่มีกำลังต่อรองในตลาดเครื่องใช้ในครัวเรือนญี่ปุ่น เพื่อสร้างโอกาสในการเข้าถึงกลุ่มเป้าหมาย อีกทั้งยังเป็นแนวทางในการรับรู้ถึงพฤติกรรมผู้บริโภค ราคา และรูปแบบสินค้าที่เป็นที่ต้องการของผู้บริโภคชาวญี่ปุ่นด้วย นอกจากนี้การสั่งซื้อสินค้าผ่านพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์(E-commerce) ก็เป็นอีกช่องทางหนึ่งที่ผู้ประกอบการไทยไม่ควรมองข้าม เพราะง่าย สะดวก และประหยัดเวลา ซึ่งชาวญี่ปุ่นส่วนใหญ่คุ้นเคยกับการใช้อินเทอร์เน็ต และโทรศัพท์มือถือค่อนข้างมาก อีกทั้งรัฐบาลญี่ปุ่นก็มุ่งเน้นการพัฒนาเทคโนโลยีด้านพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์และเครือข่ายโทรศัพท์มือถือ จึงทำให้ช่องทางการสั่งซื้อสินค้าผ่านพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์(E-commerce) น่าจะเหมาะสำหรับบริษัทขนาดเล็กที่มีเงินทุนไม่มากนัก ขณะเดียวกันการบรรจุภัณฑ์ก็ต้องดูดีมีเอกลักษณ์ด้วย และการส่งมอบสินค้าก็ควรให้ตรงกับความต้องการตามฤดูกาลจำหน่าย ตลอดจนเร่งเพิ่มความหลากหลายของสินค้าไทย ควบคู่กับการนำเสนอเอกลักษณ์ความเป็นไทย เพื่อให้แตกต่างจากสินค้าจีน หรือเวียดนาม และเร่งพัฒนาตราสินค้าอย่างจริงจังเพื่อสร้างความได้เปรียบในการเจาะตลาด และยกระดับสินค้ากลุ่มนี้ของไทยให้ก้าวสู่ตลาดระดับกลางถึงบนให้ได้ โดยเฉพาะสินค้ากลุ่ม OTOP ชั้นนำของไทยที่น่าจะเจาะตลาด High-End ของผู้บริโภคชาวญี่ปุ่นได้เป็นอย่างดี ทั้งนี้เพื่อขยายส่วนแบ่งในตลาดญี่ปุ่นซึ่งเป็นตลาดส่งออกดั้งเดิมที่มีศักยภาพของไทยให้มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลยิ่งขึ้น

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


อุตสาหกรรม