Display mode (Doesn't show in master page preview)

3 พฤศจิกายน 2549

อุตสาหกรรม

อุตสาหกรรมรถยนต์ของไทย…ถึงคราวอาจต้องปรับแผน..ทบทวนอีโคคาร์ (มองเศรษฐกิจ ฉบับที่ 1892)

คะแนนเฉลี่ย
ในภาวะที่เศรษฐกิจในประเทศได้ชะลอตัวลง ขณะที่แนวโน้มเศรษฐกิจโลกโดยเฉพาะอย่างยิ่งสถานการณ์ราคาน้ำมันยังมีความผันผวน ส่งผลกระทบต่อแนวโน้มของอุตสาหกรรมยานยนต์ ทำให้ขณะนี้หน่วยงานต่างๆที่เกี่ยวข้องกำลังพิจารณาในประเด็นต่างๆที่จะนำเสนอต่อรัฐบาลชุดใหม่ ซึ่งศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่าน่าจะรวมถึงประเด็นหลักๆ ดังต่อไปนี้ด้วย :
1. เป้าหมายปริมาณการผลิตรถยนต์
เดิมในแผนแม่บทอุตสาหกรรมยานยนต์แห่งชาติ ได้มีการกำหนดเป้าหมายการผลิตรถยนต์ในระยะยาวไว้ที่ 1.8 ล้านคันต่อปีภายในปี 2553 โดยมุ่งหวังให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตรถยนต์ของภูมิภาคเอเชีย หรือดีทรอยต์แห่งเอเชีย ทั้งนี้ในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา ตลาดรถยนต์ในประเทศไทยมีความคึกคักมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในปี 2548 นั้น อุตสาหกรรมรถยนต์ของไทยสามารถมียอดการผลิตประจำปีเข้าสู่หลัก 1 ล้านคันเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่มีการก่อตั้งอุตสาหกรรมรถยนต์ในประเทศไทย ทั้งนี้ยอดการผลิตรถยนต์เมื่อรวมทั้งปี 2548 ได้ขึ้นมาอยู่ที่ 1,125,316 คัน จากความความสำเร็จดังกล่าว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมในขณะนั้นจึงเสนอให้ปรับเพิ่มเป้าปริมาณการผลิตรถยนต์ในปี 2553 จากเดิม 1.8 ล้านคัน เป็น 2 ล้านคัน และต่อมาเมื่อต้นปี 2549 กระทรวงอุตสาหกรรมโดยสถาบันยานยนต์ร่วมกับผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมยานยนต์ จึงได้เตรียมจัดทำร่างแผนแม่บทอุตสาหกรรมยานยนต์ ระยะที่ 2 พ.ศ. 2550-2553 โดยกำหนดว่าภายในปี 2553 การผลิตรถยนต์จะเพิ่มขึ้นเป็น 2 ล้านคันต่อปี แบ่งเป็นเป้าการจำหน่ายในประเทศ 1 ล้านคัน และเป้าการส่งออกอีก 1 ล้านคัน
อย่างไรก็ตาม ในปี 2549 นี้ ปัจจัยลบด้านต่างๆ ได้ส่งผลกระทบต่อภาวะเศรษฐกิจในประเทศ รวมทั้งส่งผลกระทบต่อภาวะตลาดและอุตสาหกรรมยานยนต์โดยรวม ซึ่งนับเป็นการชะลอตัวลงอย่างชัดเจนเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่เกิดวิกฤตเศรษฐกิจ นอกจากนี้ เนื่องจากแนวโน้มเศรษฐกิจโลกที่ส่อเค้าว่าจะขยายตัวในอัตราที่ชะลอลงในปี 2550 จึงอาจส่งผลกระทบต่อภาวะการส่งออกสินค้าของไทย ซึ่งรวมทั้งการส่งออกรถยนต์ที่อาจขยายตัวช้าลงในปีหน้านี้ ดังนั้นการที่จะบรรลุเป้าหมายสู่การเป็นดีทรอยต์แห่งเอเชียด้วยเป้าปริมาณการผลิตใหม่ที่ 2 ล้านคันในปี 2553 นั้น นับว่าไม่ใช้เรื่องง่าย ภาครัฐและภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องจึงอาจจะต้องมีการปรับยุทธศาสตร์การดำเนินแผนแม่บทอุตสาหกรรมยานยนต์ในเชิงรุกมากขึ้น ซึ่งรวมทั้งการนำข้อเสนอโครงการรถยนต์อีโคคาร์กลับมาพิจารณาอีกครั้งหนึ่ง
โครงการพัฒนารถยนต์นั่งขนาดเล็กประหยัดพลังงาน
แนวคิดเกี่ยวกับโครงการรถยนต์อีโคคาร์มีการนำเสนอมาตั้งแต่ปี 2546 มีจุดประสงค์เพื่อให้ผู้ประกอบการพัฒนาและผลิตรถยนต์นั่งขนาดเล็กภายใต้ยี่ห้อของตนเอง ซึ่งจะต้องมีสเปกและคุณสมบัติของรถยนต์ โดยเฉพาะด้านการประหยัดพลังงานตามที่ทางการกำหนดเป็นแนวทางไว้ จึงจะสามารถเข้าโครงการรถอีโคคาร์ โดยจะให้ได้รับการส่งเสริมและสนับสนุนการผลิตเป็นพิเศษจากภาครัฐ ทั้งนี้ในช่วงระหว่างปี 2546-48 หลายฝ่ายที่เกี่ยวข้องทั้งหน่วยงานภาครัฐและผู้ประกอบการภาคเอกชนได้ร่วมกันแสดงความคิดเห็นและหารือกันอย่างกว้างขวาง ซึ่งแม้ส่วนใหญ่เห็นด้วยในหลักการ แต่ก็ยังมีความเห็นไม่สอดคล้องกันในบางประเด็น สำหรับเหตุผลหลักที่สนับสนุนโครงการรถยนต์อีโคคาร์นั้น ก็คือ เพื่อสร้าง Product Champion ตัวใหม่เพิ่มเติมจากรถยนต์บรรทุกปิกอัพ ปัจจุบันรถยนต์ปิกอัพก็คือผลิตภัณฑ์ตัวหลักของอุตสาหกรรมรถยนต์ไทยที่จะนำพาให้ประเทศไทยก้าวสู่การเป็นดีทรอยต์แห่งเอเชีย อย่างไรก็ตาม ได้มีแนวคิดโครงการพัฒนารถยนต์อีโคคาร์ โดยหวังกันไว้ว่ารถยนต์อีโคคาร์จะมาเป็นโปรดักซ์ แชมเปียนตัวใหม่มาเสริมรถยนต์ปิกอัพในอนาคต
ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมีความเห็นว่าในภาวะที่ราคาน้ำมันในตลาดโลกมีความผันผวน ซึ่งส่งผลกระทบต่อตลาดรถยนต์ทั่วโลก ขณะที่อุตสาหกรรมรถยนต์ของไทยจะต้องเดินหน้าต่อไปเพื่อบรรลุเป้าหมายไม่ว่าจะเป็นเป้าปริมาณผลิตเดิม 1.8 ล้านคัน หรือเป้าใหม่ 2 ล้านคัน จึงน่าจะต้องมีผลิตภัณฑ์ใหม่ออกมาเสริมรถปิกอัพ นั่นก็คือรถยนต์นั่งขนาดเล็กประหยัดพลังงาน เนื่องจากรถยนต์ประเภทนี้กำลังได้รับความสนใจมากขึ้นๆ จากตลาดทั้งในและต่างประเทศ ทั้งนี้การสนับสนุนให้โครงการรถยนต์นั่งขนาดเล็กประหยัดพลังงานสามารถดำเนินการได้ น่าจะเป็นประโยชน์ต่อส่วนรวมทั้งต่ออุตสาหกรรมรถยนต์และต่อนโยบายประหยัดพลังงานของประเทศ ส่วนประเด็นที่เป็นปัญหาในด้านรูปแบบและรายละเอียดนั้น ทั้งภาครัฐและผู้ประกอบการเอกชนควรจะต้องหาจุดร่วมที่ต่างฝ่ายต่างยอมรับกันได้ ไม่ว่าจะเป็นประเด็นเรื่องของสเปกรถยนต์หรือเรื่องสิทธิประโยชน์ด้านภาษี

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


อุตสาหกรรม