Display mode (Doesn't show in master page preview)

10 พฤศจิกายน 2549

เกษตรกรรม

ข้าวเหนียวและผลิตภัณฑ์ : ส่งออกเพิ่ม...ดันราคาพุ่ง (มองเศรษฐกิจ ฉบับที่ 1896)

คะแนนเฉลี่ย
ข้าวเหนียวเป็นที่นิยมบริโภคอย่างกว้างขวางในประเทศ และเป็นอาหารหลักของประชากรในภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคเหนือ นอกจากการบริโภคโดยตรงแล้วยังมีการนำข้าวเหนียวมาเป็นวัตถุดิบในการผลิตสุราพื้นเมือง การผลิตแป้งข้าวเหนียวเพื่ออุตสาหกรรมอาหารและขนมขบเคี้ยว อย่างไรก็ตามประเด็นที่น่าสนใจคือ การขยายตัวของโรงงานผลิตอาหารที่ใช้แป้งข้าวเหนียวเป็นวัตถุดิบ โดยเฉพาะโรงงานผลิตอาหารญี่ปุ่นแช่แข็ง เช่น ขนมโมจิ เกี๊ยวซ่า เป็นต้น ซึ่งเน้นผลิตเพื่อการส่งออกไปยังตลาดญี่ปุ่น เนื่องจากแนวโน้มจำนวนผู้สูงอายุในญี่ปุ่นเพิ่มขึ้น ความต้องการอาหารที่มีความนุ่มและพร้อมรับประทานไม่ยุ่งยากในการเตรียมจึงมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตามไปด้วย การขยายตัวของการผลิตอาหารญี่ปุ่นแช่แข็งเพื่อการส่งออกนี้ส่งผลให้ความต้องการข้าวเหนียวเพื่อเป็นวัตถุดิบเพิ่มขึ้นด้วย รวมทั้งยังมีผลต่อการพัฒนาพันธุ์ข้าวเหนียวเพื่อให้มีคุณสมบัติตรงตามความต้องการ โดยผู้ประกอบการมีการคัดเลือกพันธุ์และส่งเสริมให้เกษตรกรปลูก นับว่าเป็นการสร้างรายได้เพิ่มขึ้นให้กับเกษตรกรผู้ปลูกข้าวเหนียวและสร้างยังเป็นการขยายตลาดข้าวเหนียวในประเทศอีกด้วย
ตั้งแต่ต้นปี 2549 ราคาข้าวเหนียวมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง อันเป็นผลมาจากการส่งออกที่เพิ่มขึ้นอย่างมาก ปริมาณการส่งออกข้าวเหนียวและผลิตภัณฑ์ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2549 เท่ากับ 308,277 ตัน มูลค่า 4,653 ล้านบาท เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนแล้วทั้งปริมาณและมูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 27.9 และร้อยละ 38.8 ตามลำดับ คาดว่าในปี 2549 นี้ทั้งปริมาณและมูลค่าการส่งออกข้าวเหนียวและผลิตภัณฑ์ของไทยจะเพิ่มมากขึ้นเป็นประวัติการณ์ คาดว่าปริมาณการส่งออกทั้งปี 2549 เท่ากับ 480,000 ตัน มูลค่า 7,000 ล้านบาท เมื่อเทียบกับปี 2548 แล้วทั้งปริมาณและมูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 30.0 และร้อยละ 38.5 ตามลำดับ โดยในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2549 มูลค่าการส่งออกข้าวเหนียวไปยังตลาดจีนเพิ่มขึ้นถึงเกือบ 5 เท่าตัว กล่าวคือ ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2549 มูลค่าการส่งออกข้าวเหนียวไปจีนเท่ากับ 945.9 ล้านบาท เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนแล้วเพิ่มขึ้นถึง 4.8 เท่าตัว เนื่องจากจีนต้องการข้าวเหนียวเพื่อเป็นวัตถุดิบป้อนโรงงานผลิตขนมขบเคี้ยวและเหล้าสาเก โดยการส่งออกข้าวเหนียวไปยังตลาดจีนเริ่มพุ่งขึ้นมาตั้งแต่ปี 2547 ซึ่งนับเป็นปีแรกที่จีนแซงหน้ามาเลเซีย อินโดนีเซียและสหรัฐฯ ซึ่งเคยครองสัดส่วนการส่งออกข้าวเหนียวของไทยสามอันดับแรก ตลาดส่งออกข้าวเหนียวของไทยที่มีความสำคัญอันดับรองลงมาคือ มาเลเซีย อินโดนีเซีย สหรัฐฯ และไต้หวัน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นนำเข้าข้าวเหนียวเพื่อบริโภคโดยตรงของบรรดาแรงงานไทยที่เข้าไปทำงานและประกอบธุรกิจในประเทศต่างๆ ตลาดที่น่าสนใจในการขยายการส่งออกข้าวเหนียว คือ ประเทศต่างๆในตะวันออกกลาง โดยในปัจจุบันการส่งออกข้าวเหนียวไปยังประเทศเหล่านี้ยังมีมูลค่าไม่มากนัก แต่มีอัตราการขยายตัวอยู่ในเกณฑ์สูง นอกจากนี้การส่งออกปลายข้าวเหนียว แป้งข้าวเหนียวและสตาร์ชจากข้าวเหนียวก็มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นด้วย

ความต้องการข้าวเหนียวที่เพิ่มขึ้นทั้งตลาดในประเทศและตลาดส่งออกส่งผลให้ราคาข้าวเหนียวในปี 2549 มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง กล่าวคือ ราคาเฉลี่ยข้าวเปลือกเหนียวเมล็ดยาวที่เกษตรกรขายได้ในช่วงเดือนพฤศจิกายน 2549 พุ่งขึ้นไปเป็นตันละ 9,746 บาท จากที่เคยอยู่ในระดับตันละ 6,093 บาทในเดือนมกราคม 2549 และขยับเพิ่มขึ้นเป็นตันละ 8,062 บาทในเดือนกรกฎาคม 2549 คาดว่าราคาเฉลี่ยข้าวเปลือกเหนียวเมล็ดยาวที่เกษตรกรขายได้ในเดือนธันวาคม 2549 มีแนวโน้มจะแตะที่ตันละ 10,000 บาท เนื่องจากความต้องการข้าวเหนียวทั้งในประเทศและส่งออกยังคงเพิ่มขึ้น ในขณะที่ผลผลิตข้าวเหนียวในปี 2549/50 นั้นเพิ่มขึ้นไม่มากนัก คาดว่าตลอดทั้งปี 2550 ราคาข้าวเหนียวจะยังอยู่ในเกณฑ์สูง ซึ่งจะเป็นแรงจูงใจให้เกษตรกรขยายการปลูกข้าวเหนียวในปี 2550/51 รวมทั้งยังมีปัจจัยหนุนจากการที่รัฐบาลร่วมมือกับภาคเอกชนในการเพิ่มขีดความสามารถในการส่งออกข้าวเหนียวและผลิตภัณฑ์ โดยการพัฒนาพันธุ์ข้าวเหนียวเพื่อให้มีผลผลิตคุณภาพตรงกับความต้องการทั้งเพื่อบริโภคโดยตรงและความต้องการของโรงงานอุตสาหกรรมต่อเนื่องมากขึ้น นับว่าจะเป็นการผลักดันการส่งออกข้าวเหนียวและผลิตภัณฑ์ต่อไปในอนาคต

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


เกษตรกรรม