Display mode (Doesn't show in master page preview)

15 พฤศจิกายน 2549

เกษตรกรรม

แนวโน้มภาคเกษตรกรรมปี’50 : ผลผลิตเพิ่ม...ส่งออกชะลอตัว (กระแสทรรศน์ ฉบับที่ 1919)

คะแนนเฉลี่ย
ในปี 2550 นับว่าเป็นปีที่ท้าทายสำหรับผู้ประกอบการในธุรกิจเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรที่จะประคองตัวให้รอดท่ามกลางปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่ต้องกังวลคือ ภาวะเศรษฐกิจโลกชะลอตัว โดยเฉพาะภาวะเศรษฐกิจของสหรัฐฯซึ่งเป็นตลาดส่งออกสำคัญตลาดหนึ่งของไทย ราคาน้ำมันที่แม้ขณะนี้ปรับลดลงแล้ว แต่ก็จะยังทรงตัวอยู่ในระดับสูง และมีความผันผวนที่อาจจะปรับเพิ่มขึ้นได้อีก นอกจากนี้ข้อกีดกันทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษีที่ประเทศคู่ค้าจะนำมาใช้มากขึ้น เช่น ความเข้มงวดในการตรวจสอบสารเคมีตกค้าง และการตรวจสอบย้อนกลับถึงแหล่งผลิต การกำหนดโควตาการนำเข้าสินค้าและการเก็บภาษีตอบโต้การทุ่มตลาดเพื่อปกป้องเกษตรกรในประเทศ เป็นต้น และการแข็งค่าขึ้นของค่าเงินบาทส่งผลกระทบต่อผู้ส่งออกสินค้าเกษตร เนื่องจากผู้ส่งออกต้องประสบกับภาวะขาดทุนตั้งแต่ช่วงปลายปี 2549 ถึงต้นปี 2550 อันเป็นผลมาจากมีการตกลงรับคำสั่งซื้อเป็นเงินดอลลาร์สหรัฐฯ และไม่สามารถเจรจาเปลี่ยนแปลงราคาได้ สำหรับปัจจัยหนุนที่เอื้อต่อการส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร โดยเฉพาะความต้องการในตลาดโลกที่มีแนวโน้มขยายตัว ทั้งจากการที่ประเทศคู่แข่งประสบปัญหาภัยธรรมชาติและปัญหาสภาพอากาศไม่เอื้ออำนวยต่อการผลิต ส่งผลให้ประเทศผู้นำเข้าหันมานำเข้าสินค้าจากไทยมากขึ้น กอปรกับนโยบายรัฐบาลที่ปรับลดราคารับจำนำสินค้าเกษตรสำคัญ ซึ่งเป็นผลดีต่อการแข่งขันในตลาดโลก ดังนั้นในปี 2550 ผู้ส่งออกต้องแปรปัจจัยหนุนให้มีความได้เปรียบมากขึ้นทั้งนี้เพื่อลดผลกระทบจากปัจจัยลบที่จะเกิดขึ้น
ในปีเพาะปลูก 2549/50 คาดว่าปริมาณการผลิตสินค้ากสิกรรมสำคัญเพิ่มขึ้นเกือบทุกรายการ จากการขยายพื้นที่เพาะปลูกตามความต้องการของตลาดและราคาที่จูงใจ แม้ว่าจะเกิดวิกฤตน้ำท่วมในช่วงปลายปี 2549 ซึ่งเป็นช่วงเก็บเกี่ยวผลผลิต สินค้าเกษตรที่ได้รับผลกระทบอย่างมากคือข้าว แต่คาดว่าจะมีการปลูกทดแทนในช่วงกลางปี 2550 อย่างไรก็ตามสินค้าเกษตรบางประเภทมีปริมาณการผลิตลดลง อันเป็นผลมาจากพื้นที่ปลูกลดลง โดยเฉพาะข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ เนื่องจากเกษตรกรหันไปปลูกพืชอื่นๆที่ให้ผลตอบแทนทางเศรษฐกิจดีกว่าโดยเฉพาะมันสำปะหลัง ส่วนปริมาณการผลิตปศุสัตว์ที่สำคัญโดยเฉพาะไก่เนื้อ และสุกรในปี 2550 คาดว่าจะมีแนวโน้มลดลง เนื่องจากราคาในปี 2549 ไม่จูงใจให้มีการขยายการเลี้ยง และการคาดการณ์ตลาดส่งออกที่มีแนวโน้มชะลอตัว รวมทั้งการคาดการณ์ว่าในปี 2550 ราคาอาหารสัตว์มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น ส่งผลให้ต้นทุนการผลิตสินค้าปศุสัตว์มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นด้วย นอกจากนี้ผลกระทบจากวิกฤตน้ำท่วมทำให้ปริมาณการผลิตปศุสัตว์ลดลงด้วย สำหรับการผลิตสินค้าประมงในปี 2550 คาดว่ามีแนวโน้มขยายตัว โดยเฉพาะกุ้ง ทั้งนี้ได้รับอานิสงส์มาจากการคาดการณ์ถึงการส่งออกที่จะอยู่ในเกณฑ์ดีในปี 2550 โดยเฉพาะการส่งออกไปยังตลาดสหภาพยุโรป ทำให้คาดว่าราคากุ้งในประเทศมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น
ส่วนปริมาณการผลิตสินค้าอุตสาหกรรมเกษตรนั้นคาดว่าจะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยได้รับอานิสงส์จากการคาดการณ์ว่าภาวะเศรษฐกิจโลกชะลอตัว ทำให้คาดการณ์ว่าผู้บริโภคจะหันไปรับประทานอาหารสำเร็จรูปและอาหารกระป๋องเพิ่มขึ้น โดยสินค้าที่คาดว่าจะมียอดจำหน่ายเพิ่มขึ้น คือ ผลิตภัณฑ์อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป ผักผลไม้กระป๋องและแปรรูป
คาดการณ์ว่าการส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรในปี 2550 จะมีมูลค่าประมาณ 23,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เมื่อเทียบกับในปีที่ผ่านมาแล้วเพิ่มขึ้นร้อยละ 12.7 โดยอัตราการขยายตัวของการส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรนั้นมีแนวโน้มชะลอตัวลงเมื่อเทียบกับปี 2549 ที่มีมูลค่าการส่งออกเพิ่มมากขึ้นเป็นประวัติการณ์ โดยเฉพาะสินค้าปศุสัตว์เนื่องจากการส่งออกไก่แปรรูปไปยังตลาดสหภาพยุโรปมีข้อจำกัดในเรื่องโควตาส่งออก ส่วนสินค้าในหมวดกสิกรรมและประมงการส่งออกยังขยายตัวอย่างต่อเนื่อง จากปริมาณความต้องการในตลาดโลกยังเพิ่มขึ้น และประเทศผู้นำเข้าหันมานำเข้าจากไทยทดแทนประเทศผู้ผลิตสินค้าเกษตรอื่นที่มีปริมาณการผลิตลดลงและมีปัญหาในเรื่องสารเคมีตกค้างในผลิตภัณฑ์
ในปี 2550 ปัจจัยเสี่ยงที่ยังต้องกังวลสำหรับภาคเกษตรกรรม มีดังนี้
1.แนวโน้มการชะลอตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ จากการคาดการณ์ว่าในปี 2550 เศรษฐกิจของสหรัฐฯมีแนวโน้มชะลอตัว ส่งผลทำให้ความต้องการนำเข้าสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรของสหรัฐฯลดลง ซึ่งผู้ส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรของไทยที่พึ่งพิงตลาดสหรัฐฯเป็นหลักต้องเร่งหาตลาดใหม่ๆมาทดแทน โดยตลาดที่น่าสนใจ แยกออกได้เป็น ตลาดรองที่น่าสนใจสำหรับการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมเกษตรคือ ออสเตรเลีย และแคนาดา ส่วนตลาดรองที่น่าสนใจสำหรับการส่งออกสินค้าเกษตรคือ จีน เกาหลีใต้ และฮ่องกง
2.การแข็งค่าขึ้นของค่าเงินบาท คาดการณ์ว่าในปี 2550 ค่าเงินบาทมีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นอีกเมื่อเทียบกับในปี 2549 ซึ่งก็จะส่งผลกระทบต่อภาคเกษตรกรรม ดังนี้
-โอกาสของผู้ผลิตสินค้าเกษตรจำหน่ายในประเทศ สินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรใช้วัตถุดิบในประเทศเป็นส่วนใหญ่ และถ้าสินค้าเหล่านั้นผลิตเพื่อขายในประเทศเป็นส่วนใหญ่แล้วก็จะไม่ได้รับผลกระทบจากการแข็งค่าของเงินบาท แต่ในกรณีที่ต้องพึ่งทั้งตลาดในประเทศและตลาดส่งออก การจำหน่ายสินค้าในประเทศจะเป็นตัวช่วยบรรเทาผลกระทบของการแข็งค่าของค่าเงินบาทที่จะทำให้กำไรที่ลดลงจากตลาดส่งออก โดยจะกระทบต่อรายได้ของผู้ประกอบมากน้อยเท่าใดนั้นก็ขึ้นอยู่กับสัดส่วนการจำหน่ายสินค้าระหว่างตลาดในประเทศและตลาดส่งออก ดังนั้นตั้งแต่ปี 2549 ต่อเนื่องถึงปี 2550 จะเห็นแนวโน้มว่าบรรดาผู้ประกอบการที่พึ่งพิงตลาดส่งออกเริ่มหันมาเจาะขยายตลาดในประเทศด้วย โดยเฉพาะอาหารทะเลแช่เย็นแช่แข็ง
-ผลกระทบต่อปัจจัยการผลิตและวัตถุดิบที่นำเข้า การแข็งค่าขึ้นของค่าเงินบาทส่งผลกระทบทางอ้อมต่อการผลิตสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร โดยทำให้ต้นทุนการผลิตมีแนวโน้มลดลงกล่าวคือ ปัจจัยการผลิตโดยเฉพาะปุ๋ยและยาปราบศัตรูพืชนั้นไทยยังต้องพึ่งพิงการนำเข้า ซึ่งส่งผลต่อเนื่องทำให้ต้นทุนการผลิตภาคกสิกรรมของไทยมีแนวโน้มลดลง ส่วนการนำเข้าสินค้าเกษตรบางประเภทที่ไทยผลิตได้ไม่เพียงพอกับความต้องการ โดยผู้ประกอบการไทยต้องนำเข้าเพื่อผลิตสินค้าจำหน่ายในประเทศและส่งออก สินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรที่จะได้รับอานิสงส์จากการจากแข็งค่าของค่าเงินบาท แยกเป็นสินค้าที่ผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศ ได้แก่นมและผลิตภัณฑ์ที่ต้องพึ่งพิงการนำเข้านมและครีม ผลิตภัณฑ์จากข้าวสาลีเช่น บะหมี่สำเร็จรูป ผลิตภัณฑ์เบเกอรี่ ที่ต้องพึ่งพิงการนำเข้าข้าวสาลี เป็นต้น ส่วนสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรที่ผลิตเพื่อส่งออกที่ได้รับอานิสงส์ได้แก่ ผลิตภัณฑ์ปศุสัตว์ที่ต้องพึ่งพิงการนำเข้าวัตถุดิบอาหารสัตว์โดยเฉพาะกากถั่วเหลือง และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ กุ้งและผลิตภัณฑ์ที่ต้องพึ่งพิงการนำเข้าปลาป่น อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูปที่ต้องพึ่งพิงการนำเข้าสัตว์น้ำโดยเฉพาะ ปลาทูน่า ปลาหมึก และกุ้ง
อย่างไรก็ตาม ชาวสวนผักและผลไม้และผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องของไทยต้องเร่งปรับตัวรับการแข่งขันที่จะรุนแรงขึ้นจากปัจจัยการแข็งค่าขึ้นของค่าเงินบาทที่จะหนุนให้การแข่งขันที่รุนแรงอยู่แล้วจากผลของการเปิดเขตการค้าเสรี โดยเฉพาะผักและผลไม้เมืองหนาว กล่าวคือการแข็งค่าของค่าเงินบาททำให้สินค้าเกษตรนำเข้ามีแนวโน้มราคาลดลง ซึ่งทำให้การแข่งขันกับสินค้าเกษตรประเภทเดียวกันหรือที่สามารถทดแทนกันได้ดีขึ้น ส่งผลกระทบทำให้สินค้าเกษตรที่ผลิตในประเทศต้องเผชิญกับการแข่งขันที่รุนแรงมากขึ้น เนื่องจากผู้บริโภคคนไทยมักจะนิยมเลือกซื้อสินค้าเกษตรที่นำเข้า ซึ่งเมื่อผนวกกับการที่ไทยเปิดเขตการค้าเสรีทั้งกับจีน ออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ที่ทำให้ราคาสินค้าผักและผลไม้เมืองหนาวมีราคาลดลงอยู่แล้ว
-ผลกระทบต่อสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรที่พึ่งตลาดส่งออกเป็นหลัก การแข็งค่าของค่าเงินบาทส่งผลกระทบต่อความสามารถในการแข่งขันของสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรม เนื่องจากทำให้ผู้นำเข้าตัดสินใจซื้อสินค้าไทยยากขึ้น ในช่วงที่ผ่านมาสินค้าอาหารของไทยแข่งขันได้ดีที่อัตราแลกเปลี่ยนระดับ 39-40 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ การแข็งค่าขึ้นของค่าเงินบาทส่งผลกระทบต่อผู้ส่งออกสินค้าเกษตร เนื่องจากผู้ส่งออกต้องประสบกับภาวะขาดทุนตั้งแต่ช่วงปลายปี 2549 ถึงต้นปี 2550 อันเป็นผลมาจากมีการตกลงรับคำสั่งซื้อเป็นเงินดอลลาร์สหรัฐฯ และไม่สามารถเจรจาเปลี่ยนแปลงราคาได้
3.ความผันผวนของราคาน้ำมัน ในช่วงที่ผ่านมาความผันผวนของราคาน้ำมันส่งผลกระทบต่อต้นทุนการผลิตสินค้าเกษตร โดยภาคเกษตรกรรมมีสัดส่วนการใช้น้ำมันประมาณร้อยละ 16.5 ของการใช้น้ำมันทั้งประเทศ และในบรรดาต้นทุนการผลิตทั้งหมดโดยเฉลี่ยแล้วน้ำมันถือเป็นร้อยละ 14.4 ของต้นทุนการผลิต ความผันผวนของราคาน้ำมันนั้นส่งผลกระทบต่อต้นทุนการผลิตสินค้าเกษตร โดยเฉพาะสินค้าประมงทะเลที่เป็นการใช้น้ำมันมากที่สุด ส่งผลทำให้เรือประมงโดยเฉพาะเรือประมงขนาดเล็กงดออกจับปลา ทำให้ปริมาณสัตว์น้ำทะเลในประเทศลดลงและราคามีแนวโน้มสูงขึ้น
4.การเปลี่ยนแปลงระเบียบ/กฎเกณฑ์การนำเข้าของประเทศคู่ค้า การส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรในปี 2550 ยังต้องเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงระเบียบ/กฎเกณฑ์การนำเข้าของประเทศคู่ค้า ซึ่งประเทศคู่ค้ามักจะใช้เป็นมาตรการกีดกันทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษี โดยอ้างว่าเป็นการปกป้องผู้ผลิตและผู้บริโภคในประเทศ ในปี 2550 สินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรที่จะได้รับผลกระทบคือ ไก่แปรรูปเนื่องจากสหภาพยุโรปซึ่งเป็นตลาดหลักเปลี่ยนมาตรการมากำหนดโควตานำเข้า คาดว่าจะส่งผลต่อการขยายตัวของการส่งออกไก่แปรรูปไปยังตลาดสหภาพยุโรป ส่วนกุ้งและผลิตภัณฑ์นั้นเนื่องจากสหรัฐฯเรียกเก็บภาษีตอบโต้การทุ่มตลาด โดยประมาณเดือนกุมภาพันธ์ 2550 จะมีการประกาศผลการทบทวนการเรียกเก็บภาษีตอบโต้การทุ่มตลาด ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการส่งออกกุ้งและผลิตภัณฑ์ของไทย กล่าวคือ ถ้าพิจารณาว่าไทยไม่มีการทุ่มตลาดกุ้งและผลิตภัณฑ์แล้ว ผู้ส่งออกของไทยก็ไม่ถูกเรียกเก็บภาษีตอบโต้การทุ่มตลาด ซึ่งจะส่งผลดีต่อการส่งออกกุ้งและผลิตภัณฑ์ของไทยเป็นอย่างมาก แต่ถ้ามีการประกาศให้ยังคงเรียกเก็บภาษีตอบโต้การทุ่มตลาดต่อไป ผลกระทบที่เกิดขึ้นจะมากหรือน้อยก็ต้องพิจารณาเปรียบเทียบอัตราภาษีตอบโต้การทุ่มตลาดที่ประกาศใหม่ระหว่างไทยกับประเทศคู่แข่งขัน
อย่างไรก็ตามในปี 2550 ก็ยังมีปัจจัยหนุน ซึ่งปัจจัยเหล่านี้ล้วนส่งผลให้การแข่งขันของสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรในปี 2550 มีแนวโน้มดีขึ้น ดังนี้
1.สินค้าเกษตรในตลาดโลกปริมาณการผลิตลดแต่ความต้องการเพิ่ม การคาดการณ์ว่าในปี 2550 ความต้องการสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรในตลาดโลกมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น อันเป็นผลมาจากการที่ประเทศผู้ผลิตสินค้าเกษตรที่สำคัญของโลกเผชิญปัญหาสภาพอากาศไม่เอื้ออำนวยต่อการผลิตและปัญหาภัยธรรมชาติ ซึ่งส่งผลให้ปริมาณการผลิตสินค้าเกษตรมีแนวโน้มลดลง นอกจากนี้ความต้องการธัญพืชเพื่อใช้ในการผลิตไบโอดีเซลและเอธานอลในตลาดโลกมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ทำให้ความต้องการนำเข้าธัญพืชมาทดแทนเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะตลาดในสหภาพยุโรปหันมาสั่งซื้อผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังเพื่อเป็นวัตถุดิบอาหารสัตว์เพิ่มขึ้น เนื่องจากสหภาพยุโรปนำธัญพืชไปผลิตเอธานอล
2.นโยบายรัฐบาล การปรับนโยบายการแทรกแซงตลาดของรัฐบาลนับว่าส่งผลต่อสภาพการแข่งขันในการส่งออกสินค้าเกษตรในตลาดโลก โดยมาตรการแทรกแซงที่รัฐบาลประกาศแล้วคือ มาตรการรับจำนำข้าว2549/50 ที่กำหนดราคารับจำนำใกล้เคียงกับราคาตลาด ซึ่งเป็นผลให้ราคารับจำนำลดลงเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา ส่งผลดีต่อการแข่งขันในตลาดโลก ดังเช่นการกำหนดราคารับจำนำข้าวปี 2549/50 เป็นราคาที่ใกล้เคียงกับราคาตลาด และอยู่ในสถานการณ์ที่สอดรับกับสถานการณ์ในตลาดโลกในปี 2550 ที่คาดว่าความต้องการข้าวมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยเป็นการส่งสัญญาณว่าราคาข้าวส่งออกของไทยมีแนวโน้มลดลง ส่วนมาตรการแทรกแซงตลาดมันสำปะหลังปี 2549/50ปรับมาใช้ราคารับจำนำแบบขั้นบันไดทั้งนี้เพื่อแก้ปัญหาสินค้าล้นตลาดในช่วงไตรมาสแรกของปี 2550 และรักษาเสถียรภาพของราคาผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังของไทย ซึ่งนอกจากจะทำให้เกษตรกรทยอยการขุดหัวมันสำปะหลังแล้ว ยังส่งผลให้ประเทศผู้นำเข้าทราบถึงทิศทางราคาชัดเจน นอกจากนี้นโยบายการส่งเสริมพลังงานทางเลือกส่งผลให้ความต้องการมันสำปะหลังและปาล์มน้ำมันมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นด้วย

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


เกษตรกรรม