Display mode (Doesn't show in master page preview)

30 พฤศจิกายน 2549

การค้า

ประชุมสุดยอดอาเซียน : ประเดิมลดภาษีสินค้า 0% ปีกุนมุ่งสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน 2558 (กระแสทรรศน์ ฉบับที่ 1925)

คะแนนเฉลี่ย
การประชุมสุดยอดอาเซียน (ASEAN Summit) ครั้งที่ 12 ระหว่างวันที่ 10-14 ธันวาคม 2549 ณ เมืองเซบู ประเทศฟิลิปปินส์ ผู้นำประเทศสมาชิกอาเซียน 10 ชาติ จะให้ความเห็นชอบต่อการเร่งรัดจัดตั้งประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Community : AEC) ให้เร็วขึ้น 5 ปี เป็นปี 2558 (ค.ศ.2015) จากเป้าหมายเดิมปี 2563 (ค.ศ.2020) โดยวางแผนผลักดันการเปิดเสรีการค้าสินค้าและบริการ 12 สาขานำร่อง ได้แก่ 1. สินค้าเกษตร 2. ประมง 3. ผลิตภัณฑ์ไม้ 4. ผลิตภัณฑ์ยาง 5. สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม 6. ยานยนต์ 7. อิเล็กทรอนิกส์ 8. ผลิตภัณฑ์สุขภาพ 9. เทคโนโลยีสารสนเทศ 10. การท่องเที่ยว 11. การบิน และ 12. โลจีสติกส์ ซึ่งโลจีสติกส์เป็นสาขาเพิ่มเติมล่าสุดที่อาเซียนเร่งรัดการเปิดเสรี เพราะเห็นความสำคัญของการลดต้นทุนการค้าระหว่างประเทศจากการลดต้นทุนด้านโลจีสติกส์ โดยมุ่งสู่เป้าหมายให้อาเซียนเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ AEC อย่างเข้มแข็ง ซึ่งหมายถึงการเป็นตลาดเดียวกันและมีฐานการผลิตร่วมกัน โดยมีการเปิดเสรีด้านการค้าสินค้า ภาคบริการ การลงทุน และการเคลื่อนย้ายแรงงานที่มีทักษะอย่างอิสระ รวมถึงการเคลื่อนย้ายเงินทุนที่เสรีมากขึ้น
อาเซียนดำเนินการเร่งลดภาษีสินค้าระหว่างกันให้เหลือ 0% ใน 9 สาขาข้างต้น ให้เร็วขึ้นกว่ากรอบความตกลงเขตการค้าเสรีอาเซียน หรือ AFTA จากปี 2553 เป็นปี 2550 สำหรับประเทศสมาชิกอาเซียนเดิม 6 ประเทศ ได้แก่ ไทย สิงคโปร์ อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และบรูไนฯ และเลื่อนขึ้นจากปี 2558 เป็นปี 2555 สำหรับประเทศสมาชิกอาเซียนใหม่ 4 ประเทศ ได้แก่ ลาว กัมพูชา พม่า และเวียดนาม โดยในวันที่ 1 มกราคม 2550 ที่กำลังจะถึงนี้ อัตราภาษีศุลกากรของสินค้านำร่อง 9 สาขา ของประเทศสมาชิกอาเซียนเดิม 6 ประเทศจะลดลงเหลือ 0% ตามเป้าหมายที่อาเซียนตกลงไว้ สินค้าเร่งลดภาษีนี้รวมถึงสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ซึ่งเป็นสินค้าส่งออกสำคัญของอาเซียน โดยเฉพาะสิงคโปร์ ไทย และมาเลเซีย คาดว่าจะส่งผลดีต่ออุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ เพราะนอกจากการเร่งลดภาษีให้เร็วขึ้นดังกล่าว จะเป็นการลดต้นทุนสินค้าแล้ว ยังเป็นการดึงดูดนักลงทุนต่างชาติเข้ามาลงทุนในอาเซียนแทนที่จีนและอินเดียด้วย
สำหรับภาคบริการซึ่งเป็นภาคเศรษฐกิจที่มีความสำคัญและมีบทบาทต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศอาเซียนมากขึ้นเป็นลำดับ อาเซียนจึงมีเป้าหมายการเปิดเสรีภาคบริการระหว่างอาเซียนภายในปี 2558 โดยกำหนดเปิดเสรีในภาคบริการ 3 สาขาเป็นลำดับแรก ได้แก่ สาขาการท่องเที่ยว การบิน และโลจีสติกส์ คาดว่าจะสนับสนุนการขยายตัวของการค้าภาคบริการและการลงทุนภายในอาเซียนมากขึ้น รวมทั้ง ช่วยกระตุ้นการเดินทางท่องเที่ยวและการติดต่อทางธุรกิจภายในภูมิภาคมากขึ้น มาตรการเร่งรัดการเปิดเสรีภาคบริการและการลงทุน เช่น การจัดทำความตกลงการยอมรับร่วมกัน (Mutual Recognition Arrangement : MRAs) ด้านการเคลื่อนย้ายแรงงานทักษะและแรงงานวิชาชีพในอาเซียน การเปิดเสรีเพิ่มเติมในภาคบริการด้านโลจีสติกส์ เป้าหมายเปิดเสรีการบินภายในอาเซียนภายในปี 2551 และการจัดทำข้อตกลงยกเว้นวีซ่าให้กับคนชาติอาเซียนที่เดินทางภายในกลุ่มภายในเวลา 14 วัน
อย่างไรก็ตาม การที่อาเซียนจะประสบความสำเร็จในการจัดตั้ง AEC ภายในปี 2558 อาเซียนจำเป็นต้องแก้ไขปัญหาและอุปสรรคของการรวมตัวภายในอาเซียนหลายประการ ดังนี้
มาตรการกีดกันทางการค้าที่มิใช่ภาษี (Non-Tarriff Barriers : NTBs) เช่น ข้อจำกัดด้านปริมาณ การขอใบอนุญาตนำเข้า และมาตรการด้านเทคนิคต่างๆ ที่ประเทศอาเซียนใช้เพื่อปกป้องอุตสาหกรรมภายในประเทศ ถือเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการค้าภายในอาเซียน
­ความเหลื่อมล้ำของระดับการพัฒนาทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศสมาชิกเดิมของอาเซียน 6 ประเทศ ได้แก่ บรูไน สิงคโปร์ ไทย มาเลเซีย อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ กับประเทศสมาชิกใหม่อาเซียน 4 ประเทศ ได้แก่ กัมพูชา ลาว พม่า และเวียดนาม อาจส่งผลให้การดำเนินการเปิดเสรีทางการค้าสินค้า ภาคบริการและการลงทุนของอาเซียนไม่เป็นไปตามเป้าหมายการจัดตั้ง AEC เนื่องจากประเทศสมาชิกบางกลุ่มอาจชะลอการปรับลดภาษีลงหรือบ่ายเบี่ยงการเปิดตลาดการค้าสินค้าและบริการ เพราะต้องการคุ้มครองผู้ผลิตในประเทศของตนก่อน
ประเด็นความมั่นคงภายในประเทศ ปัญหาทางการเมืองภายใน และปัญหาการว่างงานของประเทศในอาเซียน อาจเป็นข้อจำกัดการเคลื่อนย้ายแรงงานอย่างเสรีของอาเซียน แม้การจัดตั้งประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) จะครอบคลุมการเปิดเสรีการเคลื่อนย้ายแรงงานเฉพาะแรงงานที่มีทักษะ/แรงงานมีฝีมือ ซึ่งแตกต่างกับสหภาพยุโรปที่เปิดเสรีให้เคลื่อนย้ายคนอย่างค่อนข้างเสรี นอกจากนี้ ระดับการพัฒนาทางเศรษฐกิจที่แตกต่างกันของอาเซียนยังเป็นสาเหตุสำคัญที่ส่งผลให้การจัดตั้ง AEC ไม่ได้ครอบคลุมถึงเป้าหมายการใช้เงินสกุลเดียวกันของอาเซียน เหมือนการใช้เงินสกุลเดียวกันของสหภาพยุโรป รวมทั้งเป้าหมายของ AEC ที่ให้การเคลื่อนย้ายทุนของอาเซียนที่เสรีมากขึ้น แต่ยังคงมีข้อจำกัดเพื่อควบคุมเสถียรภาพของเศรษฐกิจภายในประเทศ
อาเซียนควรดำเนินการตามเป้าหมายการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจเพื่อสร้างความแข็งแกร่งภายในกลุ่มก่อน และค่อยๆ พิจารณาเปิดเสรีการค้าเชื่อมโยงกับประเทศนอกภูมิภาคอย่างเป็นขั้นตอน โดยเฉพาะข้อเสนอของญี่ปุ่นเรื่องการจัดตั้งเขตการค้าเสรีเอเชียตะวันออก (East Asia FTA) ที่ครอบคลุมถึง 16 ประเทศ (อาเซียนกับ 6 ประเทศคู่เจรจา – จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ อินเดีย ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์) ที่ต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ เพราะอาจส่งผลให้บทบาท/ความสำคัญและอำนาจต่อรองของอาเซียนลดลง

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


การค้า