ในระยะที่ผ่านมาของปีนี้ แม้ว่าอุปสงค์ภายในประเทศมีทิศทางชะลอตัว โดยเฉพาะการลงทุนของภาคเอกชน แต่ภาคอุตสาหกรรมไทยยังมีการเติบโตในอัตราค่อนข้างดี โดยมีแรงกระตุ้นที่สำคัญจากภาคการส่งออก อย่างไรก็ตาม ปัจจัยขับเคลื่อนภาคอุตสาหกรรมเริ่มมีน้ำหนักเปลี่ยนแปลงไปจากอุปสงค์ภายนอกประเทศมาอยู่ที่อุปสงค์ภายในประเทศมากขึ้น โดยปัจจัยลบที่กดดันภาวะการใช้จ่ายของภาคเอกชนตลอดช่วง 9 เดือนแรกของปี 2549 ที่สำคัญได้แก่ ราคาน้ำมัน อัตราเงินเฟ้อ และสถานการณ์ทางการเมือง ปรับตัวไปในทิศทางที่ดีขึ้น ซึ่งผลดังกล่าวคงจะต่อเนื่องไปถึงช่วงปี 2550 ขณะที่ปัจจัยด้านอัตราดอกเบี้ย ที่ส่งผลกระทบต่อความต้องการสินค้าที่ผูกโยงกับสินเชื่อผู้บริโภค เช่น ที่อยู่อาศัย รถยนต์ และเครื่องใช้ไฟฟ้า อาจมีโอกาสปรับลดลงได้ในช่วงปี 2550 ปัจจัยเหล่านี้น่าจะมีผลในทางที่จะสนับสนุนการใช้จ่ายภายในประเทศ ขณะเดียวกัน การที่รัฐบาลเฉพาะกาลยังมีนโยบายเดินหน้าโครงการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญ ก็เป็นที่คาดหวังว่าจะมีผลกระตุ้นภาคการลงทุนภายในประเทศอีกทางหนึ่งด้วย อุตสาหกรรมที่คาดว่าจะได้รับประโยชน์จากการฟื้นตัวของภาคการบริโภคและการลงทุน อาทิ สินค้าอุปโภคบริโภคทั่วไป วัสดุและอุปกรณ์ก่อสร้าง และยานยนต์
สำหรับปัจจัยลบต่อเศรษฐกิจในปี 2550 คาดว่าจะมาจากการชะลอตัวในภาคการส่งออก โดยมีสาเหตุสำคัญเนื่องจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจสหรัฐและประเทศเศรษฐกิจชั้นนำของโลก การแข็งค่าของเงินบาท และมาตรการทางการค้าของประเทศคู่ค้า โดยเฉพาะประเด็นการต่ออายุโครงการสิทธิพิเศษจีเอสพีที่สหรัฐให้กับไทย ปัจจัยดังกล่าวคงเป็นผลกระทบที่ผู้ประกอบการส่งออกต้องเตรียมตัวรับมือ โดยเฉพาะประเด็นการแข็งค่าของเงินบาท อุตสาหกรรมที่มีแนวโน้มได้รับผลกระทบค่อนข้างสูง เช่น อุตสาหกรรมอาหารทะเลแปรรูป ผักผลไม้แปรรูป สิ่งทอ และอุตสาหกรรมอื่นๆที่พึ่งพาวัตถุดิบภายในประเทศเป็นหลัก สำหรับอุตสาหกรรมที่มีสัดส่วนการนำเข้าวัตถุดิบสูง จะได้รับผลกระทบในระดับที่รุนแรงน้อยกว่า เช่น อิเล็กทรอนิกส์ เครื่องใช้ไฟฟ้า ยานยนต์ เหล็ก ปิโตรเคมี เป็นต้น
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศของภาคอุตสาหกรรมอาจมีอัตราการขยายตัวประมาณร้อยละ 6.2 สูงขึ้นจากร้อยละ 5.5 ในปี 2548 โดยมีปัจจัยสนับสนุนมาจากภาคการส่งออกเป็นสำคัญ
สำหรับแนวโน้มในปี 2550 ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศของภาคอุตสาหกรรมในปี 2550 อาจมีอัตราการเติบโตโดยเฉลี่ยที่ชะลอตัวลง อยู่ที่ประมาณร้อยละ 4.6-5.1
แนวโน้มการแข็งค่าของเงินบาทในช่วงปี 2550 เป็นทิศทางที่คงไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ ภายใต้กระแสความเชื่อมโยงในระบบการเงินของโลก ท่ามกลางภาวะดังกล่าว ในด้านหนึ่งภาคธุรกิจในหลายสาขาอาจได้รับผลกระทบในทางลบ โดยเฉพาะธุรกิจส่งออก อย่างไรก็ตาม จากการวิเคราะห์ผลกระทบต่อเศรษฐกิจในภาพรวม ภาคเอกชนยังสามารถแสวงหาประโยชน์จากค่าเงินบาทที่แข็งค่า ผู้ผลิตมีแนวโน้มได้รับประโยชน์จากวัตถุดิบนำเข้าที่มีราคาต่ำลง นอกจากนี้ยังป็นโอกาสของภาคธุรกิจในการลงทุนปรับเปลี่ยนเครื่องจักรและอุปกรณ์ ในการนำเข้าเครื่องจักรที่มีราคาแพง
สำหรับแนวทางปรับตัวสำหรับผู้ประกอบการในการลดผลกระทบในภาวะที่ค่าเงินบาทแข็งค่า อาจทำได้หลายวิธี เช่น การทำประกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน การเจรจากับคู่ค้าในการกำหนดราคาเป็นสกุลเงินอื่นนอกเหนือจากดอลลาร์สหรัฐ การวางแผนบริหารรายรับและรายจ่ายในรูปดอลลาร์ฯอย่างเหมาะสมเพื่อลดการขาดทุนอัตราแลกเปลี่ยนเมื่อต้องแลกดอลลาร์ฯมาเป็นเงินบาท นอกจากนี้ ผู้ประกอบการอาจหาแนวทางลดต้นทุน เพื่อรักษาความสามารถในการแข่งขันด้านราคา ขณะเดียวกัน ผู้ประกอบการที่พึ่งพาตลาดสหรัฐในสัดส่วนที่สูงอาจมีการแสวงหาตลาดใหม่ เพื่อลดผลกระทบจากความเสี่ยงที่จะมาจากตลาดสหรัฐ แนวทางสุดท้าย ธุรกิจไทยอาจจำเป็นต้องหันมาพิจารณาช่องทางในการออกไปลงทุนในประเทศเพื่อนบ้านที่มีต้นทุนแรงงานต่ำมากขึ้น
หากมองย้อนกลับไปดูพัฒนาการของประเทศก้าวหน้าในเอเชีย ไม่ว่า ญี่ปุ่น ไต้หวัน ฮ่องกง เกาหลีใต้ และสิงคโปร์ ต่างสามารถยกระดับความสามารถในการแข่งขัน ผ่านพ้นปัญหาอัตราแลกเปลี่ยนที่แข็งค่าขึ้นมาแล้วทั้งสิ้น การฝ่าฟันปัญหาอัตราแลกเปลี่ยนจึงเป็นโจทย์สำคัญที่ภาคเอกชนไทยต้องนำไปขบคิดเพื่อมุ่งไปสู่การพัฒนาศักยภาพในการแข่งขันไปพร้อมกับระดับการพัฒนาของประเทศ
หมายเหตุ
รายงานวิจัยฉบับนี้จัดทำเพื่อเผยแพร่ทั่วไป โดยจัดทำขึ้นจากแหล่งข้อมูลต่างๆ ที่น่าเชื่อถือ แต่บริษัทฯ มิอาจรับรองความถูกต้อง ความน่าเชื่อถือ หรือความสมบูรณ์เพื่อใช้ในทางการค้าหรือประโยชน์อื่นใด บริษัทฯ อาจมีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลได้ตลอดโดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า ทั้งนี้ผู้ใช้ข้อมูลต้องใช้ความระมัดระวังในการใช้ข้อมูลต่างๆ ด้วยวิจารณญาณตนเองและรับผิดชอบในความเสี่ยงเองทั้งสิ้น บริษัทฯ จะไม่รับผิดต่อผู้ใช้หรือบุคคลใดในความเสียหายใดจากการใช้ข้อมูลดังกล่าว ข้อมูลในรายงานฉบับนี้จึงไม่ถือว่าเป็นการให้ความเห็น หรือคำแนะนำในการตัดสินใจทางธุรกิจ แต่อย่างใดทั้งสิ้น