Display mode (Doesn't show in master page preview)

14 ธันวาคม 2549

เกษตรกรรม

ตลาดกุ้งออสเตรเลีย : โอกาสและอุปสรรคที่ผู้ส่งออกกุ้งไทยต้องฟันฝ่า (มองเศรษฐกิจ ฉบับที่ 1909)

คะแนนเฉลี่ย
รัฐบาลออสเตรเลียได้เผยแพร่รายงาน Biosecurity Australia Policy Memorandum 2006/35 ลงวันที่ 23 พฤศจิกายน 2549 เรื่องการประเมินความเสี่ยงในกุ้งและผลิตภัณฑ์จากกุ้งเพื่อให้หน่วยงานและผู้เกี่ยวข้องแสดงความคิดเห็นถึงความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นจากการนำเข้ากุ้งที่ติดโรค 5 ชนิดคือโรคจุดขาว โรคหัวเหลือง โรคแคระแกร็น โรคทอร่าซินโดรมและโรคเอ็นเอชพี นอกจากนี้ยังมีข้อกำหนดเงื่อนไขเพิ่มเติมคือ การส่งกุ้งและผลิตภัณฑ์ไปยังออสเตรเลียต้องมาจากพื้นที่เลี้ยงปลอดโรค ต้องเป็นกุ้งที่เอาหัว/เปลือกออก สินค้าประเภทสร้างมูลค่าเพิ่มต้องผ่านกระบวนการแปรรูปที่อุณหภูมิสูง ส่วนกุ้งต้มในโรงงานต้องอยู่ภายใต้การควบคุม ในขณะที่กุ้งต้มที่ปากบ่อต้องมีใบรับรองจากหน่วยงานที่ได้รับการยอมรับของออสเตรเลีย ซึ่งเป็นการแจ้งเวียนให้ประเทศคู่ค้าได้พิจารณา เสนอข้อคิดเห็น หรือข้อโต้แย้ง และต้องดำเนินการต่อเรื่องดังกล่าวภายใน 90 วันหรือภายในวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2550
อย่างไรก็ตาม ร่างประกาศนี้ทำให้เกิดเป็นข่าวว่าทางออสเตรเลียประกาศห้ามนำเข้ากุ้งโดยอ้างว่าเพื่อเป็นมาตรการความปลอดภัยทางชีวภาพที่จะป้องกันการปนเปื้อนของเชื้อโรคกุ้งจากกุ้งที่นำเข้า และมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 4 ธันวาคม 2549 ซึ่งทำให้เกิดความสับสนต่อเกษตรกรและผู้ค้ากุ้งในประเทศไทยเป็นอย่างมากว่าทางออสเตรเลียห้ามนำเข้ากุ้งและผลิตภัณฑ์แล้ว ทั้งที่จริงแล้วการส่งออกกุ้งและผลิตภัณฑ์ยังคงเป็นไปตามปกติ แม้ว่าในขณะนี้กฎระเบียบดังกล่าวเป็นเพียงร่างข้อเสนอเท่านั้น แต่ก็เป็นการแสดงให้เห็นว่าทางออสเตรเลียมีแนวโน้มที่จะมีการกำหนดหลักเกณฑ์การนำเข้าเพิ่มเติม ทำให้คาดการณ์ได้ว่าการส่งออกกุ้งและผลิตภัณฑ์ของไทยไปยังตลาดออสเตรเลียจะประสบปัญหาจากข้อกีดกันทางด้านสุขอนามัยในอนาคต ทั้งนี้เนื่องจากปริมาณการบริโภคอาหารทะเลทั่วประเทศออสเตรเลียลดลงประมาณร้อยละ 20 ตั้งแต่ช่วงเดือนสิงหาคม 2549 เนื่องจากผู้บริโภควิตกเกี่ยวกับข่าวว่ากุ้งที่นำเข้าเพื่อใช้เป็นเหยื่อตกปลานั้นมีไวรัส ดังนั้นเพื่อปกป้องอุตสาหกรรมการจับกุ้งจากธรรมชาติและการเพาะเลี้ยงกุ้งของออสเตรเลีย ทำให้ออสเตรเลียต้องเข้มงวดในการนำเข้ากุ้งและผลิตภัณฑ์
แม้ว่าในปัจจุบันตลาดออสเตรเลียจะไม่ใช่ตลาดส่งออกกุ้งและผลิตภัณฑ์หลักของไทย โดยมีสัดส่วนการส่งออกเพียงร้อยละ 2-3 ของมูลค่าการส่งออกกุ้งและผลิตภัณฑ์ทั้งหมดเท่านั้น แต่ออสเตรเลียก็นับว่าเป็นตลาดที่ไทยมุ่งหวังจะขยายการส่งออกกุ้งและผลิตภัณฑ์ ทั้งนี้เพื่อลดผลกระทบต่ออุตสาหกรรมกุ้งทั้งระบบในประเทศไทยเมื่อเกิดปัญหากับตลาดส่งออกหลัก การส่งออกกุ้งและผลิตภัณฑ์ไปยังออสเตรเลียต้องเผชิญปัญหาการแข่งขันที่รุนแรงจากประเทศคู่แข่งสำคัญอย่างเวียดนาม สิงคโปร์ นิวคาลิโดเนีย และพม่า รวมทั้งออสเตรเลียยังมีการขยายอุตสาหกรรมการเพาะเลี้ยงกุ้ง ทำให้ในอนาคตออสเตรเลียมีแนวโน้มลดการพึ่งพิงการนำเข้ากุ้งและผลิตภัณฑ์ และหันมาเป็นประเทศผู้ส่งออกกุ้งและผลิตภัณฑ์ โดยตลาดส่งออกหลักของออสเตรเลียในปัจจุบัน คือ ญี่ปุ่น จีน สเปน และฮ่องกง นอกจากนี้ทางรัฐบาลออสเตรเลียยังได้รับการกดดันจากผู้เลี้ยงกุ้งในประเทศให้ออกมาตรการเข้มงวดในการนำเข้ากุ้งและผลิตภัณฑ์ เนื่องจากในปัจจุบันผู้เลี้ยงกุ้งในประเทศประสบปัญหาในการแข่งขันในด้านราคากับกุ้งและผลิตภัณฑ์ราคาถูกที่นำเข้าจากต่างประเทศ ดังนั้นอนาคตของการขยายตลาดกุ้งและผลิตภัณฑ์ในออสเตรเลียสำหรับผู้ส่งออกกุ้งและผลิตภัณฑ์ของไทยนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย เนื่องจากมีหลากหลายอุปสรรคที่ต้องฝ่าฟัน

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


เกษตรกรรม