Display mode (Doesn't show in master page preview)

15 ธันวาคม 2549

อุตสาหกรรม

ภาวะเหล็กปี 50…ในประเทศกระเตื้องแต่ต่างประเทศขึ้นกับจีน (มองเศรษฐกิจ ฉบับที่ 1910)

คะแนนเฉลี่ย
ศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้วิเคราะห์สถานการณ์ตลาดเหล็กของโลกและภาวะอุตสาหกรรมเหล็กในประเทศไทยปี 2549 ตลอดจนคาดการณ์สำหรับปี 2550 ไว้ดังนี้ :
ปัจจุบันประเทศจีนมีการผลิตและการบริโภคเหล็กมากที่สุดในโลก คือประมาณ 1 ใน 3 ของอุปทานและอุปสงค์เหล็กทั้งโลก ทั้งนี้จากปริมาณผลิตเหล็กของโลกปี 2549 ที่ประมาณการไว้ที่ 1,215 ล้านเมตริกตัน ปรากฏว่าเป็นปริมาณการผลิตเหล็กของจีนถึง 407.5 ล้านเมตริกตัน ซึ่งยังขยายตัวสูงถึงร้อยละ 16.7 อย่างไรก็ตามแม้ปริมาณการผลิตจะเพิ่มขึ้นมาก แต่ความต้องการใช้เหล็กของโลกในปี 2549 ก็เติบโตมากเช่นกัน โดยขยายตัวถึงร้อยละ 9 (ซึ่งในจำนวนนี้เป็นการเพิ่มของอุปสงค์เหล็กในจีนประมาณร้อยละ 14) ส่งผลให้อุปทานและอุปสงค์เหล็กของโลกในปี 2549 ค่อนข้างมีความสมดุลกว่าเมื่อ 2-3 ปีก่อน ในทางตรงข้ามขณะที่ภาวะตลาดเหล็กของโลกปี 2549 มีความคึกคัก แต่ตลาดเหล็กในประเทศไทยกลับซบเซาลง ความต้องการใช้เหล็กในประเทศลดน้อยถอยลงอันเป็นผลจากภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว สถานการณ์น้ำมันที่ผันผวนและโดยเฉพาะอย่างยิ่งภาวะซบเซาของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์และภาคการก่อสร้าง รวมทั้งสถานการณ์การเมืองในประเทศที่ทำให้การใช้จ่ายในโครงการก่อสร้างต่างๆของภาครัฐหยุดชะงัก ประมาณว่าความต้องการเหล็กในประเทศปี 2549 ลดลงเหลือเพียง 12-13 ล้านตัน จากประมาณ 13.8 ล้านตันในปี 2548
สำหรับในปี 2550 สถาบันเหล็กและเหล็กกล้าระหว่างประเทศ (International Iron and Steel Institute : IISI) ได้คาดการณ์ว่า เนื่องจากการชะลอตัวลงของเศรษฐกิจโลกในปี 2550 จะทำให้ความต้องการบริโภคเหล็กของโลกขยายตัวในอัตราที่ลดลง คือจะเติบโตประมาณร้อยละ 5.2 เทียบกับเกือบร้อยละ 9 ในปี 2549 โดยปริมาณความต้องการจะอยู่ที่ประมาณ 1,179 ล้านเมตริกตัน ในจำนวนนี้จะเป็นปริมาณความต้องการของจีน 413 ล้านเมตริกตัน หรือเติบโตประมาณร้อยละ 10.4 เท่านั้นในปี 2550 เทียบกับร้อยละ 14.4 ในปี 2549 ดังนั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทยจึงเห็นว่าหากปริมาณการผลิตเหล็กของโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งการผลิตของจีนในปี 2550 ขยายตัวช้าลงสอดคล้องกับความต้องการที่ชะลอลงดังกล่าวแล้ว ภาวะตลาดเหล็กของโลกก็จะยังคงมีเสถียรภาพพอสมควรต่อเนื่องจากปี 2549 แต่ในทางตรงข้าม หากประเทศจีนยังไม่สามารถดำเนินมาตรการได้อย่างมีประสิทธิภาพในการควบคุมปริมาณการผลิตเหล็กให้ขยายตัวช้าลงได้มากพอแล้ว ก็อาจนำไปสู่ภาวะอุปทานเหล็กส่วนเกินในตลาดโลกดังเช่นที่ได้เกิดขึ้นเมื่อไม่กี่ปีก่อนหน้านี้ ทั้งนี้ในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา รัฐบาลจีนได้พยายามดำเนินการปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมเหล็กในประเทศ และมีนโยบายผลักดันให้มีการควบรวมกิจการเหล็กในประเทศเพื่อลดจำนวนผู้ประกอบการ และเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของอุตสาหกรรมเหล็ก นอกจากนี้ยังได้พยายามใช้มาตรการควบคุมการผลิตเหล็กส่งออก อย่างไรก็ตาม เท่าที่ผ่านมามาตราการดังกล่าวยังไม่ส่งผลที่เด่นชัดนักในการควบคุมปริมาณการผลิตและส่งออกเหล็กของจีน
สำหรับตลาดเหล็กของไทยในปี 2550 คาดว่าน่าจะกระเตื้องขึ้น เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจไทยที่คาดว่าจะขยายตัวดีขึ้น และโดยเฉพาะอย่างยิ่งภาคอสังหาริมทรัพย์และการก่อสร้างที่น่าจะฟื้นตัวจากการที่ภาครัฐจะเร่งรัดการใช้จ่ายในโครงการสาธารณูปโภคและเมกะโปรเจ็กต์ต่างๆ ส่งผลให้ความต้องการเหล็กในประเทศน่าจะกลับมาเติบโตได้ในอัตราร้อยละ 7-8 มาอยู่ที่ระดับปริมาณ 13-14 ล้านตัน อย่างไรก็ตาม ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมีความเห็นว่า ภาวะตลาดเหล็กของโลกในปี 2550 ยังคงมีความไม่แน่นอนดังกล่าวข้างต้นเพราะขึ้นอยู่กับระดับการผลิตในประเทศจีนเป็นสำคัญ ทั้งนี้ จีนซึ่งปัจจุบันมีสัดส่วนปริมาณการผลิตเหล็กสูงถึง 1 ใน 3 ของโลก จะยังคงเป็นปัจจัยตัวแปรสำคัญที่จะชี้ทิศทางตลาดเหล็กของโลกในปี 2550

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


อุตสาหกรรม