Display mode (Doesn't show in master page preview)

9 มีนาคม 2550

เกษตรกรรม

ความต้องการปุ๋ยอินทรีย์พุ่ง : จากกระแสนิยมสินค้าเกษตรอินทรีย์ (มองเศรษฐกิจ ฉบับที่ 1956)

คะแนนเฉลี่ย
แนวโน้มความต้องการปุ๋ยอินทรีย์เพื่อใช้ในการผลิตสินค้าเกษตรอินทรีย์เติบโตอย่างรวดเร็วตามการเติบโตของความต้องการบริโภคสินค้าเกษตรอินทรีย์ ท่ามกลางกระแสการหันมาบริโภคสินค้าเกษตรที่มีการผลิตอิงธรรมชาติ หรือสินค้าอาหารที่ปลอดจากสารเคมีเพิ่มมากขึ้นในปัจจุบัน สำหรับในประเทศไทยความต้องการปุ๋ยอินทรีย์ยังมีมากกว่าปริมาณที่ผลิตได้ ส่งผลให้ในปัจจุบันไทยต้องมีการนำเข้าปุ๋ยอินทรีย์ ทั้งที่ประเทศไทยเป็นประเทศเกษตรกรรมซึ่งน่าจะมีปริมาณวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตปุ๋ยอินทรีย์เพียงพอ ดังนั้นแนวนโยบายที่ส่งเสริมให้เกษตรกรหันมาผลิตปุ๋ยอินทรีย์ใช้เองในระดับไร่นา และส่งเสริมภาคเอกชนในการผลิตปุ๋ยอินทรีย์ในเชิงพาณิชย์ นอกจากจะเป็นการส่งเสริมให้มีการนำวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรมาใช้ให้เกิดประโยชน์อย่างคุ้มค่าแล้ว ยังสามารถช่วยลดปริมาณนำเข้าปุ๋ยอินทรีย์ ลดการใช้ปุ๋ยเคมีในการผลิตสินค้าเกษตร และเป็นการส่งเสริมนโยบายการขยายการผลิตสินค้าเกษตรอินทรีย์ของไทยอีกด้วย ในอนาคตไทยน่าจะสามารถก้าวขึ้นไปเป็นประเทศผู้นำในการส่งออกปุ๋ยอินทรีย์และสินค้าเกษตรอินทรีย์ในภูมิภาคนี้ได้อีกด้วย
ในปัจจุบันกระแสการบริโภคสินค้าเกษตรอินทรีย์และสินค้าเกษตรที่มีการผลิตเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมส่งผลให้ความต้องการปุ๋ยอินทรีย์มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตามความต้องการปุ๋ยอินทรีย์ในประเทศไทยยังมีแนวโน้มเติบโตได้อีกมากถ้าทั้งรัฐบาลและภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องร่วมมือกันขจัดปัญหาที่เป็นอุปสรรคต่อการขยายตัวของความต้องการปุ๋ยอินทรีย์ ดังนี้
1.ปริมาณการใช้ปุ๋ยอินทรีย์อยู่ในปริมาณต่ำ เนื่องจากปุ๋ยอินทรีย์มีธาตุอาหารค่อนข้างต่ำเมื่อเปรียบกับปุ๋ยเคมีในปริมาณที่เท่ากัน การใช้ปุ๋ยอินทรีย์เพื่อให้ธาตุอาหารเพียงพอและสมดุลสำหรับพืชหรือเพื่อทดแทนปุ๋ยเคมีจึงต้องใช้ในปริมาณมาก ทำให้เกษตรกรมีต้นทุนมากกว่าการใช้ปุ๋ยเคมี ซึ่งการแก้ไขปัญหาดังกล่าวรัฐบาลได้ดำเนินการอบรมและเผยแพร่ความรู้เพื่อให้เกษตรกรสามารถผลิตปุ๋ยอินทรีย์ขึ้นใช้เองจากวัสดุในไร่นา รวมทั้งเลือกชนิดของปุ๋ยอินทรีย์ที่จะใช้ให้เหมาะสมกับพืชและดินในแต่ละพื้นที่
นอกจากนี้รัฐบาลควรสนับสนุนให้ภาคเอกชนเข้ามามีบทบาทในด้านการผลิตปุ๋ยอินทรีย์เป็นการค้าและจำหน่ายในประเทศในราคาที่เป็นธรรม ทั้งนี้เพื่อให้เกษตรกรสามารถใช้ปุ๋ยอินทรีย์ในการปรับปรุงบำรุงดินได้มากยิ่งขึ้น อีกทั้งเป็นการช่วยในด้านสิ่งแวดล้อมในการนำเอาวัสดุที่เหลือใช้มาทำให้เกิดประโยชน์ทางเศรษฐกิจได้อีกทางหนึ่ง รวมทั้งมีการติดตามรายงานราคาจำหน่ายปุ๋ยอินทรีย์แต่ละประเภททั้งนี้เพื่อให้เกษตรกรใช้เป็นราคาอ้างอิงและยังเป็นการควบคุมราคาจำหน่ายปุ๋ยอินทรีย์อีกด้วย
2.การควบคุมมาตรฐานของปุ๋ยอินทรีย์ ผู้ผลิตปุ๋ยอินทรีย์วางจำหน่ายในท้องตลาดมากมายในปัจจุบัน มีทั้งแบบเม็ด ผงและน้ำ ซึ่งพบว่าส่วนหนึ่งเป็นปุ๋ยอินทรีย์ซึ่งมีคุณภาพต่ำ ทั้งปริมาณอินทรียวัตถุ ปริมาณธาตุอาหารหลัก เหตุผลที่ทำให้มีการผลิตและจำหน่ายปุ๋ยอินทรีย์ในท้องตลาดมาก เพราะการขายปุ๋ยอินทรีย์จะมีกำไรต่อหน่วยสูงกว่าการขายปุ๋ยเคมี โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสภาวะที่น้ำมันมีราคาแพง เกษตรกรที่ซื้อปุ๋ยอินทรีย์เหล่านี้หรือปุ๋ยที่โฆษณาว่าเป็นปุ๋ยธรรมชาติต่างๆ จะไม่ทราบถึงความคุ้มค่าของราคากับหน่วยธาตุอาหารพืชในปุ๋ยอินทรีย์ หรือแม้กระทั่งประโยชน์ที่จะได้จากปุ๋ยอินทรีย์ที่ซื้อมาใช้ ปุ๋ยอินทรีย์เหล่านี้จะมีราคาใกล้เคียงหรือต่ำกว่าปุ๋ยเคมีเล็กน้อย แต่จะมีคุณสมบัติในเรื่องปริมาณธาตุอาหารต่ำกว่าหรือน้อยกว่าปุ๋ยเคมีมาก แม้ว่าจำนวนชนิดของธาตุอาหารจะมีมากกว่าในปุ๋ยเคมี ดังนี้ เพื่อเป็นการกำหนดเกณฑ์มาตรฐานของปุ๋ยอินทรีย์ กรมวิชาการเกษตรจึงออกประกาศกรมวิชาการเกษตร เรื่อง ; ประกาศมาตรฐานปุ๋ยอินทรีย์กรมวิชาการเกษตร พ.ศ. 2548” ประกาศฉบับนี้มีวัตถุประสงค์ 2 เรื่องคือ เพื่อควบคุมมาตรฐานปุ๋ยอินทรีย์และเพื่อไม่ให้พ่อค้าปุ๋ยอินทรีย์เอารัดเอาเปรียบเกษตรกร

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


เกษตรกรรม