Display mode (Doesn't show in master page preview)

23 มีนาคม 2550

เกษตรกรรม

ข้าวโพดหวาน : ผลกระทบจากภาษีตอบโต้การทุ่มตลาดในสหภาพยุโรป (มองเศรษฐกิจ ฉบับที่ 1963)

คะแนนเฉลี่ย
ปัจจุบันผลิตภัณฑ์ข้าวโพดหวานส่งออกซึ่งเป็นสินค้าผักดาวรุ่งกำลังเผชิญปัญหาใหญ่เมื่อวันที่ 29 ธันวาคม 2549 คณะกรรมาธิการสหภาพยุโรปประกาศเรียกเก็บภาษีตอบโต้การทุ่มตลาดขั้นต้นสำหรับข้าวโพดหวานบรรจุกระป๋องของไทย ในอัตราอยู่ระหว่างร้อยละ 4.3-13.2 (อัตราไม่เท่ากันแต่ละบริษัท) แม้ว่าจะเป็นการเรียกเก็บภาษีตอบโต้การทุ่มตลาดขั้นต้นเท่านั้น แต่ก็ส่งผลกระทบต่อผู้ส่งออกข้าวโพดหวานบรรจุกระป๋องของไทย เนื่องจากทางผู้นำเข้าในสหภาพยุโรปถูกเรียกเก็บเงินค้ำประกันการนำเข้าแล้ว และการส่งออกข้าวโพดหวานบรรจุกระป๋องไปยังสหภาพยุโรปเริ่มมีแนวโน้มลดลง เพราะผู้นำเข้าในสหภาพยุโรปไม่มั่นใจสถานภาพของไทย ซึ่งการประกาศอัตราภาษีตอบโต้การทุ่มตลาดขั้นสุดท้ายในเดือนพฤษภาคม 2550 จะเป็นการตัดสินอนาคตของข้าวโพดหวานกระป๋องของไทยในตลาดสหภาพยุโรป ซึ่งถ้าสหภาพยุโรปยังคงยืนยันการเรียกเก็บภาษีตอบโต้การทุ่มตลาดก็จะส่งผลกระทบต่อการส่งออกข้าวโพดหวานบรรจุกระป๋องของไทยไปยังสหภาพยุโรปในระยะ 5 ปีต่อไป(2550-2554) และส่งผลต่อเนื่องต่ออุตสาหกรรมข้าวโพดหวานบรรจุกระป๋องในไทย กล่าวคือโรงงานข้าวโพดหวานจะต้องลดกำลังการผลิต เกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพดหวานกว่า 200,000 ครอบครัวจะได้รับผลกระทบต่อเนื่อง เพราะขีดความสามารถในการแข่งขันของข้าวโพดหวานบรรจุกระป๋องของไทยลดลง ด้วยอัตราภาษีที่สูงขึ้น ปริมาณความต้องการ และระดับราคาวัตถุดิบข้าวโพดหวานต้องปรับตัวลงตามผลกระทบที่เกิดขึ้น
ไทยเป็นประเทศนอกสหภาพยุโรปที่ครอบครองอันดับหนึ่งในตลาดข้าวโพดหวานบรรจุกระป๋องที่สหภาพยุโรปนำเข้ามาโดยตลอด ซึ่งไทยครอบครองส่วนแบ่งตลาดนำเข้าข้าวโพดหวานบรรจุกระป๋องจากประเทศนอกสหภาพยุโรปถึงร้อยละ 74.0 มูลค่าการนำเข้าข้าวโพดหวานบรรจุกระป๋องจากไทยของสหภาพยุโรปเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดในช่วงปี 2545-2547 เป็นต้นมา อย่างไรก็ตาม ผู้ส่งออกข้าวโพดหวานบรรจุกระป๋องของไทยเริ่มเผชิญปัญหาเมื่อฮังการีเข้ามาเป็นสมาชิกใหม่ของสหภาพยุโรปในเดือนพฤษภาคม 2547 ทำให้ในปี 2548 มูลค่าการนำเข้าข้าวโพดหวานบรรจุกระป๋องของไทยในสหภาพยุโรปลดลงเหลือ 47.50 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เมื่อเทียบกับในปี 2547 แล้วลดลงร้อยละ 0.1 หลังจากนั้นในปี 2549 เมื่อสมาคมผู้ผลิตข้าวโพดหวานยุโรปร้องเรียนให้ไต่สวนไทยในการทุ่มตลาดสินค้าข้าวโพดหวานบรรจุกระป๋องจนนำไปสู่การประกาศอัตราภาษีตอบโต้การทุ่มตลาดเบื้องต้น ทำให้มูลค่าการนำเข้าข้าวโพดหวานบรรจุกระป๋องของไทยในตลาดสหภาพยุโรปในปี 2549 ก็ยังมีแนวโน้มลดลงต่อเนื่องจากปี 2548 กล่าวคือ มูลค่าการนำเข้าข้าวโพดหวานบรรจุกระป๋องของไทยในตลาดสหภาพยุโรปในช่วง 11 เดือนแรกของปี 2549 ลดลงเหลือ 41.84 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนแล้วลดลงร้อยละ 7.0 คาดหมายว่าถ้าไทยถูกเรียกเก็บภาษีตอบโต้การทุ่มตลาดข้าวโพดหวานบรรจุกระป๋องในสหภาพยุโรปแล้ว การส่งออกข้าวโพดหวานบรรจุกระป๋องของไทยมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่องตลอดช่วง 5 ปีต่อไป เนื่องจากไทยจะเสียเปรียบในการแข่งขัน ซึ่งคาดว่าทั้งฝรั่งเศสและฮังการีน่าจะแย่งส่วนแบ่งตลาดกลับคืนไปได้ ส่วนประเทศนอกสหภาพยุโรปที่เป็นคู่แข่งสำคัญของไทยและมีส่วนแบ่งตลาดข้าวโพดหวานบรรจุกระป๋องในสหภาพยุโรปเพิ่มขึ้น คือ จีน และสหรัฐฯ ซึ่งทั้งสองประเทศนี้เป็นคู่แข่งสำคัญในการส่งออกข้าวโพดหวานบรรจุกระป๋องในตลาดสหภาพยุโรป กล่าวคือ มูลค่าการนำเข้าข้าวโพดหวานบรรจุกระป๋องของจีนในตลาดสหภาพยุโรปในช่วง 11 เดือนแรกของปี 2549 เพิ่มขึ้นเป็น 0.54 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนแล้วเพิ่มขึ้นร้อยละ 155.0 ส่วนมูลค่าการนำเข้าข้าวโพดหวานบรรจุกระป๋องของสหรัฐฯในตลาดสหภาพยุโรปในช่วง 11 เดือนแรกของปี 2549 เพิ่มขึ้นเป็น 5.03 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนแล้วเพิ่มขึ้นร้อยละ 10.2 แม้ว่าส่วนแบ่งตลาดนำเข้าของทั้งสองประเทศนี้ยังจะห่างจากไทยมาก โดยจีนมีส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 1.0 และสหรัฐฯมีร้อยละ 8.9 แต่ผลกระทบจากการเรียกเก็บภาษีตอบโต้การทุ่มตลาดเฉพาะกับผู้ส่งออกข้าวโพดหวานบรรจุกระป๋องไทยนับเป็นแรงผลักสำคัญที่ทำให้ผู้นำเข้าในสหภาพยุโรปหันไปนำเข้าจากทั้งสองประเทศนี้แทน
ปัจจัยที่สามารถช่วยบรรเทาผลกระทบจากปัญหาในสหภาพยุโรป คือ
1.ขยายการบริโภคในประเทศ เนื่องจากในประเทศก็มีกระแสการบริโภคอาหารเพื่อสุขภาพ ดังนั้นการส่งเสริมการบริโภคผลิตภัณฑ์ข้าวโพดหวานในประเทศก็สามารถเกาะกระแสความนิยมบริโภคนี้ได้ เนื่องจากข้าวโพดหวานจัดเป็นผักชนิดหนึ่งและยังเป็นอาหารที่มีกากใยสูงเหมาะสำหรับเป็นอาหารเพื่อสุขภาพ ประเด็นที่น่าสนใจคือ ในขณะที่ไทยเป็นประเทศส่งออกผลิตภัณฑ์ข้าวโพดหวานที่สำคัญของโลก ไทยยังมีการนำเข้าผลิตภัณฑ์ข้าวโพดหวาน ซึ่งถ้ามีการรณรงค์ให้ตลาดส่วนนี้หันมาบริโภคผลิตภัณฑ์ข้าวโพดหวานที่ผลิตได้ในประเทศก็จะทำให้ตลาดผลิตภัณฑ์ข้าวโพดหวานในประเทศขยายตัวเพิ่มขึ้น และยังเป็นการประหยัดเงินตราต่างประเทศอีกด้วย กล่าวคือ ในปี 2549 ไทยนำเข้าข้าวโพดหวานสดแช่เย็นแช่แข็ง 49.11 ตัน มูลค่า 2.03 ล้านบาท เมื่อเทียบกับปี 2548 แล้วทั้งปริมาณและมูลค่าลดลงร้อยละ 34.4 และ 48.4 ตามลำดับ ทั้งนี้เนื่องจากผู้ผลิตผลิตภัณฑ์ข้าวโพดหวานหันมาขยายตลาดในประเทศมากขึ้นหลังจากที่ตลาดส่งออกเริ่มเผชิญปัญหา แต่เมื่อพิจารณาสถิติในระหว่างปี 2547-2548 แล้วจะเห็นว่าทั้งปริมาณและมูลค่าการนำเข้าข้าวโพดหวานสดแช่เย็นแช่แข็งของไทยเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด กล่าวคือ ในปี 2547 ปริมาณการนำเข้าเท่ากับ 36.83 ตัน มูลค่า 3.16 ล้านบาท เมื่อเทียบกับปี 2546 แล้วทั้งปริมาณและมูลค่าเพิ่มขึ้น 25 เท่าตัวและ 5 เท่าตัวตามลำดับ และในปี 2548 ปริมาณและมูลค่านำเข้ายังคงเพิ่มขึ้นเป็น 75.00 ตัน มูลค่า 3.93 ล้านบาท หรือทั้งปริมาณและมูลค่าเพิ่มขึ้น 1 เท่าตัวและร้อยละ 24.4 ตามลำดับ
ส่วนการนำเข้าข้าวโพดบรรจุกระป๋องหลังจากที่มีการนำเข้าเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดในปี 2548 แล้ว ทั้งปริมาณและมูลค่าการนำเข้าในปี 2549 ก็ลดลงเช่นกัน กล่าวคือ ในปี 2548 ปริมาณการนำเข้าข้าวโพดบรรจุกระป๋องเท่ากับ 25.02 ตัน มูลค่า 2.13 ล้านบาท เมื่อเทียบกับปี 2547 แล้วทั้งปริมาณและมูลค่าเพิ่มขึ้นเกือบ 4 เท่าตัวและ 6.5 เท่าตัวตามลำดับ แต่ในปี 2549 ปริมาณนำเข้าลดลงเหลือ 5.7 ตัน มูลค่า 0.48 ล้านบาท หรือทั้งปริมาณและมูลค่าลดลงร้อยละ 77.2 และ 77.5 ตามลำดับ
2.ขยายการส่งออก นอกจากตลาดสหภาพยุโรปแล้วไทยยังมีตลาดส่งออกผลิตภัณฑ์ข้าวโพดทั้งข้าวโพดหวานสดแช่เย็นแช่แข็ง และข้าวโพดหวานบรรจุกระป๋องที่น่าสนใจ โดยเป็นตลาดที่ยังสามารถเจาะขยายและเปิดตลาดใหม่ได้อีกหลายตลาด สำหรับการขยายการส่งออกข้าวโพดหวานสดแช่เย็นแช่แข็ง เนื่องจากข้าวโพดหวานของไทยนั้นได้รับการยอมรับในด้านคุณภาพ และในปัจจุบันความต้องการข้าวโพดหวานสดแช่เย็นแช่แข็งในตลาดโลกมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น นับเป็นโอกาสของไทยในการขยายการส่งออก โดยต้องพยายามกระจายตลาดมากกว่าในปัจจุบันที่ส่วนใหญ่ยังคงพึ่งพิงตลาดญี่ปุ่นเป็นหลัก ตลาดที่น่าสนใจที่จะเจาะขยายตลาดเพิ่มเติมคือ สหรัฐฯ แคนาดา ออสเตรเลีย อิหร่าน ซาอุดิอาระเบีย ไต้หวันและตูนิเซีย ส่วนการขยายส่งออกข้าวโพดหวานบรรจุกระป๋อง ปัจจุบันไทยพึ่งพิงการส่งออกข้าวโพดหวานบรรจุกระป๋องไปยังตลาดสหภาพยุโรปร้อยละ 28.3 ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมด ในขณะที่ยังมีตลาดที่น่าสนใจในการขยายการส่งออกคือ ญี่ปุ่น รัสเซีย เกาหลีใต้ ไต้หว้น ออสเตรเลีย และฟิลิปปินส์

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


เกษตรกรรม