Display mode (Doesn't show in master page preview)

26 เมษายน 2550

การค้า

ทรัพย์สินทางปัญญา : อำนาจต่อรองสิทธิพิเศษ GSP ของสหรัฐฯ ผลกระทบต่อการส่งออกไทย (กระแสทรรศน์ ฉบับที่ 1966)

คะแนนเฉลี่ย
การคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาเป็นหนึ่งในเงื่อนไขสำคัญที่สหรัฐฯ ใช้ประกอบการพิจารณาการให้สิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร (Generalized System of Preference : GSP) กับประเทศกำลังพัฒนาและประเทศด้อยพัฒนาต่างๆ รวมทั้งประเทศไทย ความเสี่ยงที่สหรัฐฯ จะพิจารณาเลื่อนระดับบัญชีการคุ้มครองด้านทรัพย์สินทางปัญญาของไทยในช่วงปลายเดือนเมษายนนี้ จากที่อยู่บัญชีจับตา (Watch List : WL) ในปัจจุบัน เป็นจับตามองเป็นพิเศษ (Priority Watch List : PWL) ซึ่งถือเป็นระดับของการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาที่รุนแรงมากขึ้น อาจส่งผลต่อการพิจารณาทบทวนการให้สิทธิพิเศษ GSP ของสหรัฐฯ กับสินค้าส่งออกของไทย โดยสหรัฐฯ มีกำหนดประกาศผลการทบทวนรายการสินค้าที่ให้สิทธิ GSP กับประเทศต่างๆ ในวันที่ 1 กรกฎาคม 2550 ทั้งนี้ ไทยส่งออกไปสหรัฐฯ โดยใช้สิทธิพิเศษ GSP มีมูลค่า 4,252 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2549 เพิ่มขึ้น ราว 19% จากมูลค่า 3,575 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2548 และคิดเป็นสัดส่วนราว 20% ของการส่งออกทั้งหมดของไทยไปสหรัฐฯ นับว่าไทยเป็นประเทศที่ใช้สิทธิพิเศษ GSP ส่งออกไปสหรัฐฯ มากเป็นอันดับ 3 ของบรรดาประเทศทั้งหมดที่ได้รับสิทธิพิเศษนี้จากสหรัฐฯ รองจากแองโกลาและอินเดีย ตามลำดับ
อัญมณีและเครื่องประดับทำจากโลหะมีค่าเป็นสินค้าส่งออกของไทยที่มีแนวโน้มจะถูกตัดสิทธิ GSP ของสหรัฐฯ เนื่องจากเป็นสินค้าส่งออกของไทยที่เข้าหลักเกณฑ์การถูกตัดสิทธิ GSP ในปีนี้ คือ (1) เป็นสินค้าที่ได้รับการผ่อนผันเพดานการนำเข้าสูงสุด (Competitive Need Limit Waiver : CNL Waiver) ของสหรัฐฯ มาแล้วมากกว่า 5 ปี โดยอัญมณีและเครื่องประดับทำจากโลหะมีค่าของไทยได้รับการผ่อนผันเพดานการนำเข้าดังกล่าวจากสหรัฐฯ ตั้งแต่ปี 2538 (2) การนำเข้าของสหรัฐฯ ในสินค้ารายการนี้จากไทยมีมูลค่า 700 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2549 ซึ่งเกินระดับเพดานการนำเข้าไปสหรัฐฯ สูงสุดที่สหรัฐฯ กำหนดไว้ที่มูลค่า 187.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2549 หากอัญมณีและเครื่องประดับทำจากโลหะมีค่าส่งออกของไทยถูกพิจารณาตัดสิทธิพิเศษ GSP จากสหรัฐฯ จะส่งผลให้สินค้าอัญมณีและเครื่องประดับทำจากโลหะมีค่าส่งออกของไทยไปสหรัฐฯ จะต้องถูกเรียกเก็บภาษีขาเข้าในอัตรา 5.5% (Most-Favored Nation Rate : MFN Rate) จากเดิมที่ไม่ต้องเสียภาษีขาเข้าเลย
อย่างไรก็ตาม คาดว่าผลกระทบในกรณีที่ไทยถูกตัดสิทธิ GSP สำหรับสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับทำจากโลหะมีค่าจะส่งผลไม่รุนแรงมากนักต่ออุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับของไทย หากอินเดียซึ่งเป็นประเทศคู่แข่งส่งออกสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับทำจากโลหะมีค่าไปสหรัฐฯ (การส่งออกอัญมณีของอินเดียไปสหรัฐฯ มีมูลค่าเป็นอันดับ 1) ถูกตัดสิทธิพิเศษ GSP จากสหรัฐฯ เช่นกัน (เพราะ สินค้าอัญมณีและเครื่องประดับรายการนี้ของอินเดียเข้าหลักเกณฑ์การถูกตัดสิทธิ GSP ของสหรัฐฯ เช่นเดียวกับไทย) ซึ่งจะส่งผลให้สินค้าส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับรายการนี้ของอินเดียจะต้องถูกสหรัฐฯ เรียกเก็บภาษีเช่นเดียวกับไทย ทำให้สินค้าอัญมณีและเครื่องประดับส่งออกของไทยไปสหรัฐฯ ไม่เสียเปรียบประเทศคู่แข่งมากนัก คู่แข่งที่น่าจับตามองอีกประเทศ ได้แก่ จีน แม้ว่าขณะนี้จีนไม่ได้เป็นประเทศที่ได้รับสิทธิพิเศษ GSP ของสหรัฐฯ สินค้าอัญมณีและเครื่องประดับของจีนยังครองส่วนแบ่งตลาดสหรัฐฯ เป็นอันดับ 2 รองจากอินเดีย จีนจึงเป็นประเทศที่จะได้รับประโยชน์ หากสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับมีค่าส่งออกของไทยและอินเดียถูกสหรัฐฯ ตัดสิทธิพิเศษ GSP ในปีนี้
แนวโน้มที่สินค้าส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับทำจากโลหะมีค่าของไทยอาจถูกตัดสิทธิพิเศษ GSP ของสหรัฐฯ เป็นอุปสรรคสำคัญต่อผู้ส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับของไทย เนื่องจากสหรัฐฯ เป็นตลาดส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับอันดับ 1 ของไทย คิดเป็นสัดส่วนราว 25% ของการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับทั้งหมดของไทย อย่างไรก็ตาม หากพิจารณามูลค่าการส่งออกทั้งหมดของไทยไปสหรัฐฯ ที่มีมูลค่ารวมราว 19,450 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2549 พบว่า การส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับทั้งหมดของไทยไปสหรัฐฯ มูลค่ารวมราว 925 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ถือว่าเป็นสัดส่วนไม่สูงนัก คิดเป็นสัดส่วน 4.7% ของมูลค่าส่งออกทั้งหมดของไทยไปสหรัฐฯ และเป็นสัดส่วนไม่ถึง 1% ของการส่งออกรวมทั้งหมดของไทย จึงคาดว่า หากสินค้าส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับทำจากโลหะมีค่าส่งออกของไทยไปสหรัฐฯ ถูกตัดสิทธิพิเศษ GSP ของสหรัฐฯ ไม่น่าจะส่งผลกระทบที่รุนแรงนักต่อภาพรวมการส่งออกทั้งหมดของไทยในปีนี้

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


การค้า