ปัจจุบันโครงการรถอีโคคาร์กำลังได้รับความสนใจจากผู้เกี่ยวข้องในอุตสาหกรรมผลิตยานยนต์ รวมทั้งผู้ประกอบการในธุรกิจรถยนต์ตลอดจนผู้บริโภค แนวคิดเกี่ยวกับโครงการพัฒนารถยนต์นั่งขนาดเล็กประหยัดพลังงานหรืออีโคคาร์ (EcoCar) ซึ่งได้เคยมีการนำเสนอมาตั้งแต่ปี 2546 นั้น ได้ถูกนำกลับมาพิจารณาทบทวนอีกครั้งหนึ่งเมื่อปลายปี 2549 ภายใต้การดำเนินงานของรัฐบาลชุดใหม่ที่มี พลเอก สุรยุทธ์ จุลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรี เพื่อเป็นการเสริมศักยภาพการผลิต การจำหน่าย และการส่งออกของอุตสาหกรรมยานยนต์ของไทย ทั้งนี้ ที่ประชุมของคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนหรือบีโอไอเมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน 2549 ได้มีมติสนับสนุนโครงการผลิตรถยนต์ประหยัดพลังงานในประเทศไทย โดยได้กำหนดหลักเกณฑ์ใหญ่ๆสำหรับบริษัทรถยนต์ที่สนใจจะขอรับการส่งเสริมการลงทุนไว้ 3 ประการดังนี้
1. ผู้ผลิตต้องมีการเสนอแผนงานชัดเจน อันประกอบด้วยโครงการประกอบรถยนต์ ผลิตเครื่องยนต์ และการผลิตหรือจัดหาชิ้นส่วนยานยนต์
2. ต้องเสนอแผนการลงทุนและการผลิตระยะยาว 5 ปี โดยตั้งแต่ปีที่ 5 เป็นต้นไป ต้องมีปริมาณผลิตไม่ต่ำกว่า 1 แสนคันต่อปี
3. ต้องเป็นรถที่มีคุณสมบัติประหยัดพลังงาน โดยมีอัตราการสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงไม่เกิน 5 ลิตรต่อ 100 ก.ม. ปล่อยไอเสียไม่เกินมาตรฐานมลพิษระดับยูโร 4 และได้มาตรฐานความปลอดภัย ตามเกณฑ์ของ UNECE (United Nations Economic Commission for Europe)
จากนโยบายสนับสนุนโครงการรถอีโคคาร์ของรัฐบาลปัจจุบัน ทำให้โอกาสที่โครงการรถยนต์อีโคคาร์จะสามารถเดินหน้าได้ เริ่มสดใสขึ้น โดยภาครัฐได้เริ่มมีการพิจารณาสิทธิประโยชน์ต่างๆที่จะให้กับบริษัทผู้ผลิตรถยนต์ที่จะประสงค์ลงทุนในโครงการรถยนต์อีโคคาร์ อย่างไรก็ตาม ประเด็นสำคัญประการหนึ่งที่ได้ทำให้โครงการรถอีโคคาร์ยืดเยื้อมาหลายปี คือ ประเด็นเกี่ยวกับอัตราภาษีสรรพสามิตรถยนต์ ซึ่งผู้ประกอบการหลายราย ตลอดจนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้เสนอให้มีการลดอัตราภาษีดังกล่าวลงให้กับรถยนต์อีโคคาร์ เพื่อทำให้ต้นทุนและราคารถต่ำลงจะได้เป็นการจูงใจผู้บริโภค อันจะเอื้อต่อการสร้างฐานตลาดและจูงใจให้ผู้ประกอบการพัฒนาเปิดสายการผลิตรถอีโคคาร์ในประเทศไทย โดยมีการเสนอให้กำหนดอัตราภาษีสรรพสามิตรถอีโคคาร์ไว้ที่ระหว่างร้อยละ 10-25 เทียบกับอัตราภาษีสำหรับรถยนต์นั่งขนาดเล็ก-กลาง(ขนาดเครื่องยนต์ไม่เกิน 2000 ซีซี.) ที่ปัจจุบันเสียภาษีในอัตราร้อยละ 30 อย่างไรก็ตาม ประเด็นเกี่ยวกับโครงสร้างภาษีสรรพสามิตรถยนต์ มีความละเอียดอ่อน เนื่องจากจะส่งผลกระทบต่อรายได้ภาครัฐ และโดยเฉพาะอย่างยิ่งอาจกระทบต่อโครงสร้างตลาดรถยนต์ในประเทศ ทำให้การพิจารณาเกี่ยวกับสิทธิประโยชน์ด้านอัตราภาษีสรรสามิตรถยนต์ว่าควรจะเป็นเท่าไรนั้น ต้องกระทำด้วยความรอบคอบ ทั้งนี้หน่วยงานภาครัฐ อันได้แก่กระทรวงอุตสาหกรรม และกระทรวงการคลัง รวมทั้งผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมรถยนต์ด้วยกันเองมีความเห็นที่แตกต่างกัน โดยที่ผู้ประกอบการบางส่วนยังมีความวิตกกังวลว่า หากรถยนต์อีโคคาร์ได้รับสิทธิพิเศษทางภาษีสรรพสามิตมากเกินไป จะทำให้ต้นทุนการผลิตตลอดจนราคาจำหน่ายรถยนต์ของผู้ที่เข้าโครงการต่ำลงมาก ซึ่งอาจจะกระทบภาพรวมโครงสร้างตลาดรถยนต์ในประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งตลาดรถยนต์นั่งขนาดเล็ก เนื่องจากรถยนต์อีโคคาร์จะทำให้เกิดเซกเมนท์ใหม่ (Product Segment )ในตลาดรถยนต์ในประเทศไทย ซึ่งอาจจะเบียดเข้าไปในส่วนแบ่งตลาดของรถยนต์ประเภทต่างๆ ที่มีอยู่แล้วในตลาดซึ่งปัจจุบันมีผู้ครองตลาดอยู่แล้ว อันจะก่อให้เกิดความได้เปรียบเสียเปรียบในระหว่างค่ายผู้ผลิตรถยนต์
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เห็นว่าแนวคิดโครงการรถอีโคคาร์ได้ชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของการพัฒนามาตรฐานรถยนต์ของไทย ทั้งนี้ เชื่อว่าแนวโน้มของตลาดรถยนต์ของโลกในอนาคต จะมุ่งเน้นที่คุณภาพและคุณสมบัติหลักของยานยนต์ทั้ง 3 ประการมากขึ้น คือคุณสมบัติในการประหยัดเชื้อเพลิง การเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และการมีมาตรฐานความปลอดภัยระดับสูง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในขณะที่ทิศทางราคาน้ำมันของโลกนับวันจะขยับสูงขึ้น รวมทั้งกระแสอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ตลอดจนความตื่นตัวในด้านความปลอดภัยของผู้บริโภคที่เพิ่มมากขึ้น ซึ่งสิ่งเหล่านี้กำลังเป็นปัจจัยหลักที่จะกำหนดรูปแบบและสมรรถนะของยานยนต์ที่ตลาดจะต้องการในอนาคต ดังนั้นไม่ว่าจะเป็นรถยนต์ที่จะเข้าโครงการอีโคคาร์หรือรถยนต์อื่นๆก็ตาม หากมีคุณสมบัติครบถ้วน ทั้ง 3 ประการแล้ว ก็ย่อมจะเป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภคตลอดจนประชาชนโดยรวม ซึ่งสมควรจะได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐ
หมายเหตุ
รายงานวิจัยฉบับนี้จัดทำเพื่อเผยแพร่ทั่วไป โดยจัดทำขึ้นจากแหล่งข้อมูลต่างๆ ที่น่าเชื่อถือ แต่บริษัทฯ มิอาจรับรองความถูกต้อง ความน่าเชื่อถือ หรือความสมบูรณ์เพื่อใช้ในทางการค้าหรือประโยชน์อื่นใด บริษัทฯ อาจมีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลได้ตลอดโดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า ทั้งนี้ผู้ใช้ข้อมูลต้องใช้ความระมัดระวังในการใช้ข้อมูลต่างๆ ด้วยวิจารณญาณตนเองและรับผิดชอบในความเสี่ยงเองทั้งสิ้น บริษัทฯ จะไม่รับผิดต่อผู้ใช้หรือบุคคลใดในความเสียหายใดจากการใช้ข้อมูลดังกล่าว ข้อมูลในรายงานฉบับนี้จึงไม่ถือว่าเป็นการให้ความเห็น หรือคำแนะนำในการตัดสินใจทางธุรกิจ แต่อย่างใดทั้งสิ้น