ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีได้อนุมัติแผนส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรมรถยนต์ประหยัดพลังงานมาตรฐานสากล(อีโคคาร์) ด้วยการกำหนดภาษีสรรพสามิตสำหรับรถยนต์ดังกล่าวในอัตราเพียงร้อยละ 17 โดยให้มีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 ตุลาคม 2552 ซึ่งคาดว่าจะเป็นช่วงเวลาที่รถอีโคคาร์มีการผลิตออกสู่ตลาด ทั้งนี้ได้มีการกำหนดเงื่อนไขด้านคุณสมบัติของรถยนต์ประหยัดพลังงาน ไว้ดังนี้
1) มีความจุของกระบอกสูบไม่เกิน 1,300 ลูกบาศก์เซนติเมตร สำหรับเครื่องยนต์เบนซิน หรือ
มีความจุของกระบอกสูบไม่เกิน 1,400 ลูกบาศก์เซนติเมตร สำหรับเครื่องยนต์ดีเซล
2) มีอัตราการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงไม่เกิน 5 ลิตร/100 กิโลเมตร หรือ 20 กิโลเมตรต่อลิตร
3) มีมาตรฐานมลพิษอยู่ในระดับยูโร 4 ซึ่งรวมทั้งมีปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่ปล่อยจากท่อไอเสียต้องไม่เกิน 120 กรัม/กิโลเมตร มีมาตรฐานความปลอดภัยในด้านการชนตามข้อกำหนดของของคณะกรรมาธิการเศรษฐกิจแห่งองค์การสหประชาชาติสำหรับภาคพื้นยุโรป หรือ UNECE (United Nations Economic Commission for Europe)
ศูนย์วิจัยกสิกรไทยเห็นว่าการอนุมัติแผนส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรมรถยนต์ประหยัดพลังงานมาตรฐานสากล(อีโคคาร์) ด้วยการให้สิ่งจูงใจด้านภาษีสรรพสามิตในอัตราเพียงร้อยละ 17 เทียบกับอัตราภาษีสรรพสามิตรถยนต์นั่งทั่วไปที่ปัจจุบันอยู่ระหว่างร้อยละ 30-50 บนเงื่อนไขการกำหนดสเปกของรถอีโคคาร์ดังกล่าว จึงเท่ากับเป็นการเปิดโอกาสให้ค่ายผู้ผลิตรถยนต์ในประเทศสร้างเซกเมนท์ (Segment) รถยนต์ประเภทใหม่ในตลาดอย่างชัดเจน เพราะปัจจุบันอุตสาหกรรมรถยนต์ในประเทศไทยแทบไม่มีการผลิตรถยนต์นั่งที่มีขนาดเครื่องยนต์ต่ำกว่า 1,400 ซีซี. หรือได้มาตรฐานการปล่อยมลพิษตลอดจน มาตรฐานความปลอดภัยขั้นสูงครบถ้วนตามสเปกของอีโคคาร์เลย อย่างไรก็ตามตลาดรถยนต์ในประเทศจะตอบรับรถยนต์เซกเมนท์ใหม่นี้มากน้อยเพียงใดนั้น ขึ้นกับปัจจัยหลักๆ อาทิ
1. ปัจจัยด้านราคารถยนต์ : จากการที่รถอีโคคาร์ถูกกำหนดให้เสียภาษีสรรพสามิตรถยนต์ในอัตราเพียงร้อยละ 17 เปรียบเทียบกับอัตราภาษีสรรพสามิตรถยนต์นั่งขนาดเล็กทั่วไปที่ปัจจุบันอยู่ที่ร้อยละ 30 และรถยนต์นั่งขนาดเล็กที่ใช้น้ำมันแก๊สโซฮอล์ ชนิด E 20 ที่จะเสียภาษีสรรพสามิตในอัตราร้อยละ 25 นั้น จะมีผลทำให้ต้นทุนและราคาจำหน่ายรถยนต์อีโคคาร์อยู่ในระดับที่ค่อนข้างต่ำโดยเปรียบเทียบ อันเป็นการสนับสนุนให้บริษัทรถยนต์ต่างๆสนใจที่จะผลิตรถยนต์อีโคคาร์ อีกทั้งเป็นการจูงใจให้ผู้บริโภคหันมานิยมรถยนต์ประเภทนี้ คาดว่าราคารถอีโคคาร์น่าจะอยู่ที่ประมาณคันละ 4 แสนบาท ซึ่งน่าจะทำให้อีโคคาร์สามารถสร้างเซกเมนท์ของตัวเองได้ในระดับหนึ่ง
2. ปัจจัยด้านราคาน้ำมัน : จากแนวโน้มระยะยาวที่ราคาน้ำมันในตลาดโลกและภายในประเทศจะยังคงมีความผันผวนและอยู่ในระดับสูง จะส่งผลให้ผู้บริโภคหันมานิยมใช้รถยนต์ที่มีคุณสมบัติในการประหยัดน้ำมันกันมากขึ้น ซึ่งน่าจะทำให้รถยนต์อีโคคาร์สามารถแจ้งเกิดในตลาดรถยนต์เมืองไทยได้
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เห็นว่าการมีรถอีโคคาร์เป็นเซกเมนท์ใหม่ในตลาดรถยนต์ของไทย น่าจะส่งผลดีในด้านต่างๆ ดังนี้
ผลดีต่อผู้บริโภค
การกำเนิดรถอีโคคาร์ในตลาดรถยนต์ไทยจะทำให้ผู้บริโภคมีทางเลือกมากขึ้น ยิ่งไปกว่านั้นจากการที่ภาครัฐได้กำหนดเงื่อนไขคุณภาพมาตรฐานไว้สำหรับรถอีโคคาร์ในระดับที่สูงมาก จะทำให้ผู้บริโภคทุกระดับมีโอกาสใช้ยานยนต์ที่มีคุณสมบัติครบถ้วน ทั้งการประหยัดเชื้อเพลิง การเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และมีมาตรฐานความปลอดภัยในระดับสูง แต่มีราคาที่ประหยัด
ผลดีต่ออุตสาหกรรมรถยนต์และชิ้นส่วน
การกำเนิดรถอีโคคาร์จะทำให้มีการขยายกำลังการผลิตรถยนต์ในไทยเพิ่มมากขึ้น ทำให้อุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนของไทยมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง
ผลดีต่อสังคมและส่วนรวม
การที่รัฐกำหนดเงื่อนไขมาตรฐานระดับสูงไว้สำหรับรถอีโคคาร์เป็นการสนับสนุนนโยบายของรัฐในการประหยัดพลังงาน การควบคุมมลพิษและดูแลสิ่งแวดล้อม อันจะเป็นประโยชน์ต่อต่อสังคมและสวัสดิภาพของประชาชนส่วนรวม
อย่างไรก็ตาม ในอีกด้านหนึ่ง ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ก็เห็นว่าการมีรถอีโคคาร์เป็นเซกเมนท์ใหม่ในตลาดรถยนต์ไทย อาจก่อให้เกิดผลกระทบด้านต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากความนิยมในรถอีโคคาร์ส่งผลกระตุ้นให้ผู้ที่ยังไม่มีรถยนต์เป็นของตนเอง หันมาซื้อรถยนต์ส่วนตัวที่มีราคาถูกลงกันมากขึ้นๆ รวมทั้งจูงใจให้ผู้บริโภคที่มีรถยนต์อยู่แล้ว ซื้อรถยนต์เพิ่มขึ้นในลักษณะเป็นรถยนต์คันที่ 2 ซึ่งก็อาจจะไม่ช่วยให้มีการประหยัดพลังงานได้เท่าที่คาดหวังไว้ ดังนั้น รัฐจึงควรเร่งดำเนินการแผนพัฒนาระบบขนส่งมวลชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งโครงการส่วนขยายรถไฟฟ้ามวลชนให้ครอบคลุมกรุงเทพฯ และพื้นที่ใกล้เคียงโดยเร่งด่วน ตลอดจนพัฒนาระบบเครือข่ายคมนาคมขนส่ง ซึ่งรวมไปถึงการปรับปรุงบริการรถโดยสารสาธารณะให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นเพื่อเป็นทางเลือกให้ประชาชน
หมายเหตุ
รายงานวิจัยฉบับนี้จัดทำเพื่อเผยแพร่ทั่วไป โดยจัดทำขึ้นจากแหล่งข้อมูลต่างๆ ที่น่าเชื่อถือ แต่บริษัทฯ มิอาจรับรองความถูกต้อง ความน่าเชื่อถือ หรือความสมบูรณ์เพื่อใช้ในทางการค้าหรือประโยชน์อื่นใด บริษัทฯ อาจมีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลได้ตลอดโดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า ทั้งนี้ผู้ใช้ข้อมูลต้องใช้ความระมัดระวังในการใช้ข้อมูลต่างๆ ด้วยวิจารณญาณตนเองและรับผิดชอบในความเสี่ยงเองทั้งสิ้น บริษัทฯ จะไม่รับผิดต่อผู้ใช้หรือบุคคลใดในความเสียหายใดจากการใช้ข้อมูลดังกล่าว ข้อมูลในรายงานฉบับนี้จึงไม่ถือว่าเป็นการให้ความเห็น หรือคำแนะนำในการตัดสินใจทางธุรกิจ แต่อย่างใดทั้งสิ้น