Display mode (Doesn't show in master page preview)

20 กรกฎาคม 2550

การค้า

นโยบาย FTA ของสหรัฐฯ ภายใต้การนำของพรรคเดโมแครต : ผลต่อไทย (มองเศรษฐกิจ ฉบับที่ 2017)

คะแนนเฉลี่ย
หลังจากที่พรรคเดโมแครตของสหรัฐฯ ครองเสียงข้างมากของทั้งสองสภาสหรัฐฯ ได้ส่งผลต่อนโยบายการค้าระหว่างประเทศของสหรัฐฯ โดยพรรคเดโมแครตประกาศทบทวนนโยบายทางการค้าของสหรัฐฯ โดยเน้นเรื่องการสร้างงาน รวมถึงประเด็นด้านมาตรฐานแรงงานและสิ่งแวดล้อมที่เข้มงวดมากขึ้น ดังนั้น ประเทศคู่ค้าของสหรัฐฯ รวมทั้งประเทศไทย มีแนวโน้มประสบความลำบากมากขึ้นในการส่งออกสินค้าไปสหรัฐฯ จากกฎระเบียบด้านมาตรฐานแรงงานและสิ่งแวดล้อมที่อยู่ในระดับสูง
นอกจากนี้ อำนาจการเจรจาเปิดเสรีทางการค้าของฝ่ายบริหารสหรัฐฯ (Fast Track) ที่หมดอายุลงในวันที่ 30 มิถุนายน 2550 และมีแนวโน้มที่จะไม่รับการต่ออายุในทันที อาจส่งผลให้การเจรจาเปิดเสรีการค้าของสหรัฐฯ กับประเทศต่างๆ ที่อยู่ระหว่างการเจรจา รวมทั้งประเทศไทย ต้องล่าช้าออกไป ถือเป็นปัจจัยลบอีกประการหนึ่งต่อการส่งออกของไทยไปสหรัฐฯ ที่เดิมคาดว่า การจัดทำความตกลง FTA ไทย-สหรัฐฯ จะส่งผลดีต่อภาคการส่งออกของไทยที่ช่วยให้ขยายตลาดสินค้าในสหรัฐฯ ได้มากขึ้น จากการลดภาษีศุลกากรภายใต้ FTA นอกเหนือจากปัจจัยลบต่อการส่งออกของไทยไปสหรัฐฯ ในปีนี้ ได้แก่ ค่าเงินบาทที่แข็งค่ามากขึ้นเป็นประวัติการณ์ และการที่สหรัฐฯ ตัดสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร (GSP) กับสินค้าส่งออกของไทย 3 รายการ ในวันที่ 1 กรกฎาคม ที่ผ่านมา ได้แก่ เครื่องประดับอัญมณีทำจากทอง เม็ดพลาสติกโพลิเอทิลีนเทเรฟทาเลต และเครื่องรับโทรทัศน์สีจอแบน ทำให้สินค้าส่งออกของไทย 3 รายการนี้ สูญเสียขีดความสามารถทางการแข่งขันด้านราคาในตลาดสหรัฐฯ เพราะต้องกลับไปเสียภาษีศุลกากรเข้าสหรัฐฯ ในอัตรา 5.5% 6.5% และ 3.9% ตามลำดับ
ผู้ประกอบการไทยควรลดการพึ่งพิงการส่งออกไปตลาดสหรัฐฯ และหันมาเน้นการส่งออกไปยังตลาดใหม่อื่นๆ มากขึ้น โดยเฉพาะประเทศที่ไทยจัดทำความตกลง FTA ด้วยและเริ่มมีผลบังคับใช้แล้ว ได้แก่ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ จีน และอินเดีย รวมทั้งญี่ปุ่น ซึ่งความตกลง FTA ไทย-ญี่ปุ่น (JTEPA) จะเริ่มต้นมีผลบังคับใช้ในเดือนตุลาคม 2550 นี้ โดยสินค้าส่งออกของไทยไปประเทศเหล่านี้จะได้ประโยชน์จากการลดภาษีศุลกากร รวมถึงการแสวงหาลู่ทางการส่งออกไปยังตลาดใหม่ที่มีอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจสูง เช่น ประเทศในตะวันออกกลาง ซึ่งได้รับผลดีจากราคาน้ำมันในตลาดโลกที่อยู่ในระดับสูง นอกจากนี้ ผู้ประกอบการไทยและผู้ส่งออกไปตลาดสหรัฐฯ ควรพัฒนาการผลิตสินค้าให้ได้มาตรฐานตามกฎระเบียบด้านแรงงานและสิ่งแวดล้อมที่มีความเข้มงวดมากขึ้น เพื่อขจัดอุปสรรคทางการค้าจากการกำหนดมาตรฐานด้านแรงงานและสิ่งแวดล้อมในระดับสูงของสหรัฐฯ รวมถึงประเทศพัฒนาแล้วอื่นๆ เช่น สหภาพยุโรป ญี่ปุ่น และออสเตรเลีย

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


การค้า

FTA