Display mode (Doesn't show in master page preview)

19 กรกฎาคม 2550

อุตสาหกรรม

อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์: ความสามารถในการแข่งขันลดลงจากการแข็งค่าของเงินบาท (กระแสทรรศน์ ฉบับที่ 1984)

คะแนนเฉลี่ย
อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์เป็นอุตสาหกรรมที่ภาคการผลิตมีการขยายตัวอย่างต่อเนื่องและดึงดูดการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (Foreign Direct Investment: FDI) จำนวนมากในแต่ละปี ประเทศไทยกำลังเผชิญหน้ากับการแข่งขันจากประเทศคู่แข่งทั้งในด้านการเป็นแหล่งลงทุนและเป็นตลาดส่งออก โดยอัตราการขยายตัวของการลงทุนในอุตสาหกรรมนี้ได้ชะลอตัวอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2548 ในขณะที่สถานการณ์การแข็งค่าของเงินบาทก็ทำให้ต้นทุนในการลงทุนในไทยสูงกว่าประเทศอื่นโดยเปรียบเทียบ
ศูนย์วิจัยกสิกรมีความเห็นว่าปรากฏการณ์การปรับตัวลดลงของมูลค่าการลงทุนโดยตรงในไทยบ่งชี้ว่าอนาคตการผลิตและการส่งออกสินค้าในภาคอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์มีแนวโน้มขยายตัวในอัตราที่ต่ำลงกว่าปัจจุบันเนื่องจากไทยเริ่มสูญเสียความสามารถในการแข่งขันทางด้านค่าจ้างแรงงานแก่ประเทศอื่น ในขณะที่ประเทศไทยยังมีการพัฒนาทางเทคโนโลยีจำกัดทำให้ไม่สามารถแข่งขันในอุตสาหกรรมที่เน้นการใช้เทคโนโลยีและการออกแบบขั้นสูงได้เช่นกันอย่างไรก็ดีมีปัจจัยที่เอื้ออำนวยต่ออุตสาหกรรมอันได้แก่ การปรับลดอากรขาเข้าของวัตถุดิบในการผลิตสินค้าตามมติของค.ร.ม. การงดเก็บภาษีส่งออกและการใช้มาตรฐานสินค้าร่วมกันตามข้อตกลงไทย-ญี่ปุ่น (JTEPA) รวมถึงการที่ปัจจัยการผลิตนำเข้ามีราคาถูกลงจากการแข็งค่าของค่าเงินบาทและการเมืองที่จะมีความชัดเจนมากขึ้นในปลายปีนี้ ทว่ามาตรการและสภาพแวดล้อมเหล่านี้จะมีผลให้อุตสาหกรรมได้เปรียบในระยะหนึ่งเท่านั้น เนื่องจากประเทศคู่แข่งอื่นๆก็เริ่มมีการทยอยทำข้อตกลงทางการค้าในรูปแบบเดียวกัน
สำหรับแนวโน้มภาคอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ในช่วงครึ่งปีหลังจะมีการผลิตและส่งออกเพิ่มขึ้นตามปัจจัยด้านฤดูกาลของอุตสาหกรรม อย่างไรก็ดีคาดว่าอัตราการขยายตัวของการผลิตและการส่งออกของสินค้าอิเล็กทรอนิกส์โดยเฉลี่ยของทั้งปี 2550 จะต่ำกว่าปีที่ผ่านมา โดยที่การส่งออกได้รับผลกระทบจากการแข็งค่าของค่าเงินบาท ทำให้ผู้ส่งออกมีรายรับลดลง
ศูนย์วิจัยกสิกรไทยเห็นว่าประเทศไทยควรเร่งปรับตัวโดยพยายามหันไปผลิตสินค้าที่มีมูลค่าเพิ่ม (value added) สูงขึ้น รัฐบาลควรให้การส่งเสริมการพัฒนาทักษะแรงงานไทยร่วมกับภาคธุรกิจโดยอาจจัดตั้งในรูปของศูนย์พัฒนาทักษะขึ้นในนิคมอุตสาหกรรมสำหรับอุตสาหกรรมแต่ละประเภทเพื่อให้แรงงานที่ผ่านการฝึกอบรมสอดคล้องกับความต้องการของอุตสาหกรรมนั้นๆ อีกทั้งควรเพิ่มการสนับสนุนผู้ประกอบการภายในประเทศในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ และเพิ่มการเชื่อมโยงการลงทุนกับการพัฒนาทักษะและเทคโนโลยีในปัจจุบันนอกเหนือจากการยกเว้นภาษีในช่วง 1-2 ปีแรก เช่น การให้เงินช่วยเหลือหรือกู้ยืมในอัตราดอกเบี้ยต่ำแก่บริษัทที่มีโครงการพัฒนาด้านผลิตภัณฑ์ ระบบการผลิต แรงงานหรือแผนธุรกิจ นอกจากนี้ควรมีการส่งเสริมให้มีการประสานกันระหว่างการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีหรือผลิตภัณฑ์ของมหาวิทยาลัยและสถาบันต่างๆ กับภาคธุรกิจมากยิ่งขึ้นเพื่อให้สามารถนำงานวิจัยต่างๆ มาใช้ได้จริงในแง่ของการค้า
สำหรับในระยะสั้นผู้ประกอบการสามารถเพิ่มประสิทธิภาพในโรงงานโดยสามารถใช้โอกาสจากการแข็งค่าของเงินบาทนำเข้าเครื่องจักรและสินค้าทุนเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิต ในระยะยาวภาครัฐควรพิจาณาการพัฒนาอุตสาหกรรมต้นน้ำเพื่อลดการพึ่งพิงการนำเข้าอย่างจริงจัง และปรับปรุงระบบลอจิสติคก์ เพื่อให้ไทยคงเป็นแหล่งดึงดูดนักลงทุนเข้ามาลงทุนพร้อมๆ กับที่ยกระดับอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ไทยต่อไป.

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


อุตสาหกรรม