Display mode (Doesn't show in master page preview)

10 สิงหาคม 2550

อุตสาหกรรม

ตลาดเหล็กไทยซบเซาสวนทางตลาดโลกคึกคัก ... ท่ามกลางค่าเงินบาทที่ผันผวน (มองเศรษฐกิจ ฉบับที่ 2026)

คะแนนเฉลี่ย
ภาวะเศรษฐกิจของไทยที่ชะลอตัวลงรวมทั้งสถานการณ์ความไม่แน่นอนทางการเมืองตั้งแต่ปี 2549 ต่อเนื่องมาในปี 2550 ได้ส่งผลกระทบอย่างมากต่อภาคการก่อสร้าง ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ตลอดจนภาคอุตสาหกรรมการผลิตต่างๆ อาทิ อุตสาหกรรมยานยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ฯลฯ ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมต่อเนื่องที่ใช้ผลิตภัณฑ์เหล็กจากอุตสาหกรรมเหล็กและเหล็กกล้าในประเทศ ทำให้ตลาดเหล็กในประเทศไทยปี 2550 ซบเซาต่อเนื่องจากปีที่แล้ว ซึ่งสวนทางอย่างชัดเจนกับภาวะตลาดเหล็กของโลกที่ยังคงมีความคึกคัก โดยที่ระดับราคาเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็กในทุกภูมิภาคหลักของโลก มีแนวโน้มขยับตัวสูงขึ้นตั้งแต่ช่วงปีที่ผ่านมาจนถึงปีนี้ ส่งผลให้ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมและธุรกิจเหล็กและเหล็กกล้าในประเทศไทย จำเป็นต้องปรับตัวรับมือกับสถานการณ์ทั้งในและต่างประเทศที่ผันผวนสวนทางกันอย่างสิ้นเชิง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสภาวะที่เงินบาทแข็งค่าขึ้นเป็นประวัติการณ์
ในปี 2550 อัตราการขยายตัวอย่างต่อเนื่องของเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งจีนซึ่งเป็นประเทศที่มีการบริโภคเหล็กมากที่สุดในโลก ซึ่งยังคงมีอัตราการขยายตัวของจีดีพีในช่วงไตรมาสที่สองของปีนี้กว่าร้อยละ 11 ส่งผลให้ปริมาณความต้องการเหล็กในตลาดโลกเติบโตอย่างต่อเนื่อง ทำให้แนวโน้มราคาเหล็กในตลาดโลกช่วงครึ่งแรกปี 2550 ยังคงปรับตัวสูงขึ้น ความต้องการบริโภคเหล็กในตลาดโลกในปี 2550 ที่ยังเติบโตอย่างต่อเนื่องจากปีที่แล้วตามภาวะเศรษฐกิจโลกที่ขยายตัว ประกอบกับต้นทุนการผลิตและค่าขนส่งของสินแร่เหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็กที่สูงขึ้นตามราคาน้ำมัน จึงส่งผลให้ราคาเหล็กในตลาดโลกยังคงมีแนวโน้มขยับขึ้นในช่วงครึ่งแรกของปี 2550 โดยดัชนีราคาเฉลี่ยของผลิตภัณฑ์เหล็กรวมประเทต่างๆ (Global Composite Steel Price Index) ในเดือนมิถุนายนปีนี้ สูงขึ้นกว่าร้อยละ 12.3 มาอยู่ที่ระดับ 173.2 เทียบกับดัชนีเฉลี่ยทั้งปี 2549 ที่ระดับ 154.3
การชะลอตัวของภาวะเศรษฐกิจในประเทศไทย ท่ามกลางสถานการณ์การเมืองที่มีความไม่แน่นอนต่อเนื่องจากปีที่แล้ว ได้ส่งผลกระทบในวงกว้าง ทั้งต่อภาคอุตสาหกรรมการผลิต ภาคการก่อสร้าง ตลอดจนธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ทำให้ปริมาณความต้องการใช้เหล็กในประเทศไทยซบเซาลง และราคาจำหน่ายผลิตภัณฑ์เหล็กในประเทศทรงตัว ซึ่งตรงกันข้ามกับราคาเหล็กประเภทต่างๆในตลาดโลกที่กลับมีแนวโน้มสูงขึ้น ส่งผลต่อต้นทุนนำเข้าเหล็กกึ่งวัตถุดิบที่สูงขึ้นเป็นลำดับ ภาวะตลาดเหล็กในประเทศที่ซบเซาสวนทางกับภาวะตลาดเหล็กโลกที่ยังคึกคัก และราคาเหล็กขยับตัวสูงขึ้นดังกล่าว จึงเท่ากับเป็นการสร้างความกดดันทั้ง 2 ด้านให้กับผู้ประกอบการอุตสาหกรรมเหล็กในประเทศ ซึ่งต้องนำเข้าเหล็กกึ่งวัตถุดิบชนิดต่างๆ เพื่อใช้ในการผลิตผลิตภัณฑ์เหล็กสำเร็จรูปต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเหล็กเส้น เหล็กลวด เหล็กแผ่นรีดร้อน-รีดเย็น ในขณะที่ผู้ประกอบการไม่สามารถปรับราคาจำหน่ายผลิตภัณฑ์เหล็กเหล่านี้ให้สอดคล้องกับต้นทุนวัตถุดิบนำเข้าที่สูงขึ้นได้เพราะความต้องการในประเทศชะลอตัวลง โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ประกอบการขนาดกลางและเล็กที่พึ่งพาตลาดในประเทศเป็นหลัก ต้องได้รับผลกระทบจากการที่ราคาเหล็กกึ่งวัตถุดิบนำเข้าสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องดังกล่าว อย่างไรก็ตามในทางตรงข้าม ผู้ประกอบการหลายรายโดยเฉพาะผู้ผลิตรายใหญ่ๆ หรือรายที่มีศักยภาพในการส่งออก กลับได้ใช้ช่องโอกาสที่อุปสงค์เหล็กในตลาดโลกมีความคึกคัก ขยายการส่งออกไปต่างประเทศซึ่งราคาเหล็กสูงกว่า โดยที่การส่งออกไม่ได้รับผลกระทบนักจากการที่ค่าเงินบาทแข็งขึ้น แต่ในทางตรงข้ามการแข็งค่าของเงินบาท กลับช่วยลดภาระต้นทุนนำเข้าเหล็กกึ่งวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตเหล็กสำเร็จรูปเพื่อส่งออก ทั้งนี้ในช่วง 6 เดือนแรกปี 2550 นี้ มูลค่าการส่งออกผลิตภัณฑ์เหล็กและเหล็กกล้าของไทยสูงถึง 81,259 ล้านบาท เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 44.6 จากช่วงเวลาเดียวกันปีที่แล้ว

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


อุตสาหกรรม