Display mode (Doesn't show in master page preview)

31 สิงหาคม 2550

เกษตรกรรม

สหรัฐฯยกเลิกการเก็บภาษีเอดีกุ้งเอกวาดอร์ : ผลกระทบกุ้งไทยในตลาดสหรัฐฯ (มองเศรษฐกิจ ฉบับที่ 2034)

คะแนนเฉลี่ย
กระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯประกาศยกเลิกการจัดเก็บภาษีตอบโต้การทุ่มตลาดหรือภาษีเอดีจากการนำเข้ากุ้งของเอกวาดอร์ที่เคยเรียกเก็บในอัตราร้อยละ 4.42 ตั้งแต่วันที่ 15 สิงหาคม 2550 ตามคำตัดสินของคณะกรรมการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทขององค์การการค้าโลก ซึ่งดูเหมือนเป็นข่าวดีสำหรับผู้ส่งออกกุ้งของไทยไปยังตลาดสหรัฐฯ เนื่องจากไทยก็มีการยื่นฟ้องต่อองค์การการค้าโลกในกรณีเดียวกัน แต่ไทยคงต้องรอจนกว่าจะมีคำตัดสินจากองค์การการค้าโลก ถ้ามีคำตัดสินยกเลิกการจัดเก็บภาษีตอบโต้การทุ่มตลาดสำหรับการนำเข้ากุ้งของไทยก็จะทำให้การส่งออกกุ้งไทยไปยังตลาดสหรัฐฯดีขึ้นในอนาคต ซึ่งจะทำให้อนาคตของธุรกิจส่งออกกุ้งและธุรกิจเนื่องมีแนวโน้มแจ่มใส เนื่องจากปัจจุบันสหรัฐฯมีสัดส่วนตลาดประมาณร้อยละ 50.0 ของมูลค่าการส่งออกกุ้งทั้งหมดของไทย
อย่างไรก็ตามสิ่งที่ต้องระวังคือ ผลกระทบในระยะที่ยังไม่มีคำตัดสินจากองค์การการค้าโลก เนื่องจากจะเป็นช่วงที่เอกวาดอร์จะอยู่ในฐานะที่ได้เปรียบไทย รวมทั้งยังต้องติดตามคำตัดสินของอินเดีย ซึ่งยื่นฟ้ององค์การการค้าโลกเช่นกัน ซึ่งมีแนวโน้มว่ากระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯจะประกาศคำตัดสินกรณีอินเดียก่อน เนื่องจากทั้งเอกวาดอร์และอินเดียนั้นยื่นฟ้องเฉพาะกรณีความไม่เป็นธรรมของวิธีการคำนวณอัตราภาษีตอบโต้การทุ่มตลาดเท่านั้น ส่วนไทยนั้นยื่นฟ้อง 2 กรณี ทั้งกรณีความไม่เป็นธรรมของวิธีการคำนวณอัตราตอบโต้การทุ่มตลาด และการวางพันธบัตรค้ำประกันการส่งออก ซึ่งถือว่าเป็นการเก็บภาษีซ้ำซ้อน ซึ่งคาดว่าในกรณีของไทยนั้นองค์การการค้าโลกต้องใช้เวลาในการพิจารณานานกว่ากรณีของเอกกวาดอร์และอินเดีย
จากปัญหาของการส่งออกผลิตภัณฑ์กุ้งไปยังตลาดสหรัฐฯ ทำให้ผู้ส่งออกผลิตภัณฑ์กุ้งของไทยต้องหันไปให้ความสำคัญกับการส่งออกไปยังตลาดสหภาพยุโรป และญี่ปุ่น โดยโอกาสการส่งออกผลิตภัณฑ์กุ้งไปยังทั้งสองตลาดนี้มีเพิ่มขึ้น อันเป็นผลมาจากสหภาพยุโรปคืนสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรให้กับผลิตภัณฑ์กุ้งไทย และการลดภาษีนำเข้าผลิตภัณฑ์กุ้งของตลาดญี่ปุ่นจากผลของ JTEPA อย่างไรก็ตาม ผู้ส่งออกผลิตภัณฑ์กุ้งของไทยยังต้องปรับตัวอย่างมากในการแย่งชิงส่วนแบ่งตลาดทั้งในสหภาพยุโรปและญี่ปุ่น โดยในตลาดสหภาพยุโรปยังมีความต้องการกุ้งกุลาดำและกุ้งก้ามกราม ซึ่งนอกจากจะมีราคาที่สูงกว่ากุ้งขาวแล้วยังมีการแข่งขันน้อยกว่า สำหรับตลาดญี่ปุ่นไทยต้องขยายการเลี้ยงกุ้งกุลาดำและต้องเพิ่มปริมาณการผลิตกุ้งขนาดใหญ่ รวมทั้งต้องเน้นการส่งออกในลักษณะของกุ้งแปรรูปมากขึ้น ทั้งนี้เพื่อตอบสนองความต้องการของตลาดญี่ปุ่น อันเนื่องจากความนิยมซื้อผลิตภัณฑ์ไปประกอบอาหารรับประทานเองที่บ้าน

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


เกษตรกรรม