Display mode (Doesn't show in master page preview)

12 ตุลาคม 2550

เกษตรกรรม

ยางธรรมชาติ : ส่งออกปี’50 ชะลอตัว...แนวโน้มการแข่งขันรุนแรง (มองเศรษฐกิจ ฉบับที่ 2052)

คะแนนเฉลี่ย

แม้ว่าจะมีการคาดการณ์กันว่าความต้องการยางธรรมชาติในตลาดโลกยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากมีหลากปัจจัยหนุนโดยเฉพาะการขยายตัวของอุตสาหกรรมยางรถยนต์ทั้งในสหรัฐฯ ญี่ปุ่น สหภาพยุโรปและจีน รวมทั้งราคาน้ำมันที่ยังอยู่ในเกณฑ์สูง ทำให้ราคายางสังเคราะห์ ซึ่งเป็นวัตถุดิบที่ใช้ทดแทนยางธรรมชาติก็ยังอยู่ในเกณฑ์สูงเช่นกัน แต่ในปี 2550 การส่งออกยางธรรมชาติของไทยชะลอตัวลงอย่างมากเมื่อเทียบกับในปี 2549 โดยเฉพาะยางแท่ง ยางแผ่นรมควัน และน้ำยางข้น ทั้งนี้เนื่องจากผลกระทบจากเงินบาทแข็งค่า ทำให้ยางธรรมชาติของไทยมีราคาสูงกว่าเมื่อเทียบกับประเทศคู่แข่งสำคัญคือ อินโดนีเซีย โดยประเทศคู่ค้ายางธรรมชาติของไทยต่างชะลอการนำเข้าจากไทย และหันไปซื้อยางจากอินโดนีเซียทดแทน รวมทั้งมาเลเซียก็เริ่มมีผลผลิตยางเพียงพอกับความต้องการมากขึ้น โดยเฉพาะน้ำยางข้น ทำให้มาเลเซียลดการรับซื้อน้ำยางข้นจากไทย หลังจากที่มาเลเซียเคยเป็นแหล่งนำเข้าน้ำยางข้นอันดับหนึ่งของไทย

ประเด็นที่น่าสนใจคือ ในช่วงระยะ 2-3 ปีข้างหน้าการส่งออกยางธรรมชาติของไทยจะยังคงต้องเผชิญการแข่งขันอย่างรุนแรงในตลาดโลก โดยเฉพาะจากอินโดนีเซีย และมาเลเซีย เนื่องจากเนื้อที่ปลูกยางทั้งอินโดนีเซียและมาเลเซียที่เคยมีการขยายการปลูกไว้ตั้งแต่ปี 2547 เริ่มทยอยให้ผลผลิต ซึ่งเท่ากับว่าปริมาณยางธรรมชาติในตลาดโลกมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ดังนั้นตลาดยางธรรมชาติจะมีการแข่งขันกันทั้งในด้านปริมาณและราคา

นอกจากอินโดนีเซียแล้ว ประเทศผู้ผลิตที่น่าจับตามองคือ เวียดนาม แม้ว่าผลผลิตยางของเวียดนามยังมีปริมาณน้อยมากเมื่อเทียบกับประเทศผู้ผลิตยางรายใหญ่อย่างไทย อินโดนีเซีย และมาเลเซีย แต่ผลผลิตยางของเวียดนามมีอัตราการเพิ่มขึ้นมากที่สุดในบรรดาประเทศผู้ผลิตยางทั้งหมด โดยเพิ่มขึ้นทั้งในลักษณะของผลผลิตเฉลี่ยต่อไร่และเนื้อที่ปลูกยาง

แนวโน้มที่น่าสนใจในการขยายปริมาณการผลิตยางในอนาคต คือ การที่ประเทศผู้ผลิตยางหันไปลงทุนปลูกยางในประเทศอื่น โดยกลุ่มการศึกษายางระหว่างประเทศ(International Rubber Study Group : IRSG)พบว่าทั้งจีน เวียดนาม ไทยและมาเลเซีย ล้วนสนใจปลูกยางในประเทศอื่น เพราะที่ดินในประเทศไม่เพียงพอ ซึ่งข้อมูลจากกลุ่มการศึกษายางระหว่างประเทศบ่งชี้ว่าการลงทุนใหม่ๆ ในด้านการเพาะปลูกยางจะช่วยเพิ่มผลผลิตได้อีก 1 ล้านตันในอีก 10 ปีข้างหน้า

คาดการณ์ว่าในช่วงปี 2550-2551 ราคายางแผ่นดิบน่าจะทรงตัวอยู่ในระดับ 55-70 บาท/กิโลกรัม ซึ่งราคาจะขยับขึ้น-ลงอยู่กับปัจจัยสำคัญคือปริมาณการผลิตและความต้องการใช้ยาง ซึ่งปัจจุบันปริมาณความต้องการใช้ยางสูงกว่าปริมาณการผลิต แต่ปริมาณการผลิตยางมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากการขยายพื้นที่ปลูกของแต่ละประเทศ ทำให้ภาวะการแข่งขันส่งออกยางพาราในตลาดโลกมีค่อนข้างสูง แม้ว่าไทยจะเป็นประเทศผู้ส่งออกยางพารารายใหญ่ที่สุดของโลก แต่ความได้เปรียบในการแข่งขันส่งออกยางพาราของไทยกลับลดลง ขณะเดียวกันไทยก็ไม่ได้เป็นประเทศที่สามารถกำหนดราคาในตลาดโลกได้ โดยราคามีการเปลี่ยนแปลงขึ้นลงตามราคาในตลาดโลก

สิ่งที่รัฐบาลและผู้ที่เกี่ยวข้องในวงการยางของไทยต้องเร่งปรับตัวรับมือกับการแข่งขันที่คาดว่าจะรุนแรงขึ้นโดยเฉพาะในด้านของราคา ซึ่งปัจจุบันรัฐบาลไทยมีนโยบายเพิ่มการใช้ยางในประเทศทั้งเพื่อรักษาเสถียรภาพราคายางในประเทศ โดยการส่งเสริมและสนับสนุนอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ยางในการให้สิทธิพิเศษทางด้านภาษี และสิทธิพิเศษอื่นๆ รวมทั้งมาตรการต่างๆ เพื่อจูงใจให้ภาคอุตสาหกรรมมีการใช้ยางพาราเพิ่มขึ้น เพื่อให้การพัฒนาอุตสาหกรรมยางของไทยเป็นไปอย่างยั่งยืนและมีประสิทธิภาพในการแข่งขันในตลาดโลก จึงจำเป็นต้องมีการส่งเสริมและสนับสนุนการให้มีการใช้ยางและผลิตภัณฑ์ยางภายในประเทศ พร้อมทั้งเร่งรัดการผลิตทั้งที่ใช้เองและเพื่อการส่งออกให้มากขึ้น รวมถึงการวิจัยและพัฒนายางซึ่งเป็นหัวใจสำคัญเพื่อเป็นการต่อยอดและขยายผลการใช้ยางในเชิงพาณิชย์ได้โดยเฉพาะเรื่องของแปรรูปผลิตภัณฑ์ยาง ซึ่งเป็นไปตามยุทธศาสตร์การวิจัยของชาติ 2551-2553 ที่ได้กำหนดกรอบทิศทางการวิจัยของประเทศในภาพรวมที่หน่วยงานต่างๆ สามารถนำไปใช้เป็นแนวทางในการปฏิบัติงานวิจัยยางพาราใน 2 แผนงานด้วยกันคือ แผนงานการวิจัยเกี่ยวกับการพัฒนาการผลิตพืชเศรษฐกิจเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มและนำไปสู่การแข่งขัน และการพึ่งตนเอง และแผนงานการวิจัยเกี่ยวกับการพัฒนาวัตถุดิบในประเทศและการเพิ่มมูลค่าสินค้า เพื่อพัฒนาศักยภาพการผลิตและการตลาด ซึ่งจะส่งผลให้การพัฒนาอุตสาหกรรมยางเกิดขึ้นได้จริงและต่อเนื่อง ทั้งนี้การเพิ่มปริมาณการใช้ยางเพื่อเป็นวัตถุดิบโรงงานผลิตภัณฑ์ยางนั้น นอกจากจะเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับอุตสาหกรรมยางแล้ว การหันมาส่งออกผลิตภัณฑ์ยางแทนการส่งออกยางแปรรูปขั้นต้นนั้นยังเป็นการสร้างรายได้ส่งออกให้กับประเทศด้วย รวมทั้งยังสามารถลดผลกระทบที่เกิดขึ้นจากความผันผวนของราคายางในตลาดโลกในอนาคตด้วย

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


เกษตรกรรม