Display mode (Doesn't show in master page preview)

28 มีนาคม 2565

การค้า

ส่งออกไทยปี’ 65 เผชิญแรงกดดันจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน ... แต่ยังมีโอกาสเติบโต 3.4% (กระแสทรรศน์ ฉบับที่ 3316)

คะแนนเฉลี่ย

​มาตรการคว่ำบาตรของสหรัฐฯ กับพันธมิตรและการตอบโต้ของรัสเซียล้วนซ้ำเติมราคาสินค้าโภคภัณฑ์ในตลาดโลก และอุปทานสินค้าในห่วงโซ่การผลิตที่เกี่ยวพันกับรัสเซีย รวมทั้งส่งผลให้บรรยากาศเศรษฐกิจทั่วโลกอ่อนแรง ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า ด้วยสถานการณ์สงครามที่ยังมีความไม่แน่นอนอยู่อาจส่งผลกระทบต่อการส่งออกของไทยที่ต้องจับตา ดังนี้  

1) ความเสี่ยงจากเศรษฐกิจรัสเซียและยูเครนในปีนี้จะเข้าสู่ภาวะถดถอยมากขึ้น ซึ่งเศรษฐกิจทั้งสองประเทศอยู่ในภาวะสงครามจึงยากที่สินค้าไทยจะทำตลาดได้ในปีนี้

2) ความเสี่ยงจากเศรษฐกิจคู่สหรัฐฯ และชาติพันธมิตรชะลอตัวลงจากปัญหาเงินเฟ้อจากอุปทานตึงตัว โดยเฉพาะสหภาพยุโรปที่อาจเผชิญเงินเฟ้อเร่งตัวสูงกำลังซื้อของชาวยุโรปถูกจำกัดมากขึ้น กระทบความต้องการบริโภคสินค้าฟุ่มเฟือยของไทยอาจทำตลาดได้จำกัด ขณะที่สินค้าจำเป็นอย่างอาหารและปัจจัยการผลิตยังมีโอกาสเติบโต อาทิ ยางพารา เม็ดพลาสติก อาหารทะเล ข้าว ไก่แปรรูป ผลไม้กระป๋อง อาหารสัตว์เลี้ยง

3) การซ้ำเติมปัญหาคอขวดในห่วงโซ่อุปทาน ตั้งแต่ปัจจัยการผลิตต้นน้ำ-กลางน้ำที่รัสเซียเป็นผู้ผลิตที่สำคัญของโลกทำให้ประเทศที่มีห่วงโซ่การผลิตเชื่อมโยงกับรัสเซียอาจต้องแบกรับต้นทุนที่สูงขึ้นหรืออาจเผชิญปัญหาขาดแคลนวัตถุดิบได้ อาจทำให้การนำเข้าของไทยเร่งตัวสูงขึ้นในปีนี้ และมีโอกาสที่ไทยจะขาดดุลการค้ากับต่างประเทศครั้งแรกในรอบ 9 ปี

ดังนั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทยปรับประมาณการส่งออกปี 2565 จากร้อยละ 4.3 มาอยู่ที่ร้อยละ 3.4 จากความท้าทายของสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครนที่ทำให้บรรยากาศเศรษฐกิจทั่วโลกชะลอตัวลงกว่าในกรณีที่ไม่มีวิกฤตดังกล่าว โดยคาดว่า แรงขับเคลื่อนการส่งออกล้วนเป็นแรงหนุนของราคาสินค้าในกลุ่มปัจจัยการผลิตที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน สินค้าเกษตร และกำลังซื้อในกลุ่มสินค้าจำเป็นที่ยังเป็นที่ต้องการในตลาดโลก อาทิ เม็ดพลาสติก เคมีภัณฑ์ ยางพาราและผลิตภัณฑ์ ผลไม้และอาหารทะเล โดยการส่งออกไปยังสหภาพยุโรป (ไม่รวมอังกฤษ) เป็นตลาดที่มีอัตราการเติบโตต่ำที่สุดในบรรดาตลาดส่งออกหลักของไทย อย่างไรก็ตาม หากการเจรจาระหว่างรัสเซีย-ยูเครนสามารถมีข้อตกลงได้เร็วกว่าที่คาดอาจช่วยคลี่คลายแรงกดดันทางเศรษฐกิจผลักดันให้การส่งออกขยับตัวสูงขึ้นขยายตัวร้อยละ 3.7 ทั้งนี้ การประมาณการส่งออกดังกล่าวได้คำนึงถึงปัจจัยฐานที่สูงในปีก่อน ค่าระวางเรือที่ยังคงอยู่ในระดับสูง รวมถึงค่าเงินบาทที่มีทิศทางอ่อนค่าแล้ว อย่างไรก็ตาม ยังคงต้องติดตามการแพร่ระบาดของโควิดในจีนและมาตรการโควิดเป็นศูนย์ที่หากการแพร่ระบาดขยายขอบเขตออกไปในวงกว้างอาจจะเป็นปัจจัยเพิ่มเติมที่มีผลกระทบต่อการส่งออกของไทยในระยะข้างหน้านอกเหนือจากผลระทบจากวิกฤตรัสเซีย-ยูเครน

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม