Display mode (Doesn't show in master page preview)

30 มิถุนายน 2566

เกษตรกรรม

ส่งออกผลไม้ของไทยปี’66 แม้เติบโต แต่ไปข้างหน้าต้นทุนการผลิตและสภาพอากาศแปรปรวนยังกดดันธุรกิจ (กระแสทรรศน์ ฉบับที่ 3418)

คะแนนเฉลี่ย

        ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า แม้ว่ามูลค่าการส่งออกผลไม้ของไทยในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2566 จะเติบโตดี จากการอยู่ในช่วงฤดูกาลส่งมอบผลไม้ที่สำคัญของปี ประกอบกับการกลับมาขยายตัวของการส่งออกผลไม้สดจากฐานที่ต่ำในปีก่อน รวมถึงการเพิ่มการส่งออกผลไม้ไปยังตลาดใหม่ๆ ได้มากขึ้น แต่ด้วยเศรษฐกิจคู่ค้าสำคัญที่ชะลอตัว โดยเฉพาะจีนและสหรัฐฯ และผลจากสภาพอากาศที่แปรรปรวน อาจกดดันให้อัตราการเติบโตของมูลค่าการส่งออกผลไม้ของไทยในช่วงที่เหลือของปีชะลอลง ส่งผลให้ทั้งปี 2566 ภาพรวมมูลค่าการส่งออกผลไม้ของไทยอาจอยู่ที่ 7,800 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือขยายตัวราว 2.3%YoY โดยกลุ่มสินค้าที่มีแนวโน้มเติบโต ได้แก่ กลุ่มผลไม้สด แช่เย็นและแช่แข็ง จากการส่งออกไปยังตลาดจีนที่กลับมาขยายตัวดี ส่วนกลุ่มสินค้าที่แนวโน้มหดตัว ได้แก่ กลุ่มผลไม้กระป๋องและแปรรูป จากคำสั่งซื้อจากตลาดคู่ค้าสำคัญอย่างสหรัฐฯ และสหภาพยุโรปที่ถูกปรับลดลง

        ระยะข้างหน้า การจัดการต้นทุนการผลิต โดยเฉพาะจากวัตถุดิบอาหารและแรงงาน ซึ่งมีสัดส่วนรวมกันเฉลี่ยเกือบ 80% ของต้นทุนรวม จะยังเป็นโจทย์ต่อเนื่องในช่วงข้างหน้าสำหรับผู้ประกอบการธุรกิจส่งออกผลไม้ เมื่อสภาพอากาศจะยิ่งแปรปรวนและอุณหภูมิโลกและน้ำทะเลจะสูงขึ้นเร็ว พร้อมๆ กับการเกิดปราฏการณ์เอลนีโญ จึงเป็นความเสี่ยงด้านผลผลิตและราคาวัตถุดิบทั่วโลก ส่วนต้นทุนแรงงานก็มีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ภายหลังการจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่ ท่ามกลางการขาดแคลนแรงงานและการแย่งแรงงานในภาคอุตสาหกรรมการผลิต ทำให้ธุรกิจจึงจำเป็นต้องปรับตัวทั้งการเพิ่มทักษะแรงงาน ผลิตภาพแรงงาน รวมถึงการลงทุนด้านเทคโนโลยีการผลิตเพื่อทดแทนแรงงาน โดยการปรับตัวดังกล่าวนำมาซึ่งต้นทุนที่สูงเช่นกัน นอกจากนี้ ยังมีต้นทุนอื่นๆ ที่คาดว่าจะยังยืนตัวสูง ทั้งต้นทุนสาธารณูปโภคและต้นทุนทางการเงิน ซึ่งอาจกระทบต่อความสามารถด้านการแข่งขันของผู้ประกอบการส่งออกและนำเข้า ดังนั้น การทำธุรกิจผลไม้ โดยเฉพาะผลไม้กระป๋องและแปรรูปจะมีความซับซ้อนและท้าทายมากขึ้น โดยเฉพาะกับผู้ประกอบการขนาดย่อมและรายย่อย (Micro และ Small Enterprises) ซึ่งมีจำนวนมาก แต่ผลประกอบการส่วนใหญ่ยังคงมีกำไรน้อยหรือขาดทุน ดังนั้น ความสามารถในการเพิ่มยอดขายหรือทำกำไร จึงเป็นโจทย์ของธุรกิจท่ามกลางการแข่งขันที่รุนแรง

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


เกษตรกรรม