Display mode (Doesn't show in master page preview)

7 เมษายน 2566

เกษตรกรรม

ไข้หวัดนกฉุดผลผลิตไก่ในคู่ค้า … หนุนส่งออกไก่ไทยปี 2566 ขยายตัว 2.5% - 4.5% (กระแสทรรศน์ ฉบับที่ 3397)

คะแนนเฉลี่ย

        สถานการณ์ไข้หวัดนกในหลายประเทศรอบนี้เกิดขึ้นท่ามกลางสภาพอากาศที่แปรปรวน ฉุดผลผลิตไก่ในบางประเทศที่พบการระบาดอย่างหนัก อาทิ สหภาพยุโรป สหรัฐฯ ญี่ปุ่น ให้มีความเสี่ยงจะลดลงมากกว่าปีก่อนๆ อย่างไรก็ตาม ด้วยการฟื้นกำลังผลิตไก่ที่น่าจะใช้เวลาไม่นาน ประกอบกับประเทศผู้ส่งออกหลักอย่างบราซิลไม่พบไข้หวัดนกเช่นเดียวกับไทย ดังนั้น อานิสงส์ต่อการส่งออกผลิตภัณฑ์ไก่ของไทยคงมี แต่น่าจะไม่มากท่ามกลางเศรษฐกิจคู่ค้าที่ชะลอตัว โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า มูลค่าการส่งออกไก่ของไทยปี 2566 อาจอยู่ที่ 4.18-4.26 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัวราว 2.5%-4.5% ชะลอลงเมื่อเทียบกับปีก่อน ส่วนหนึ่งมาจากฐานที่สูง ประกอบกับเศรษฐกิจคู่ค้าหลักอย่าง ญี่ปุ่นและอังกฤษ มีแนวโน้มชะลอตัว และแม้จะมีแรงหนุนจากสถานการณ์การระบาดไข้หวัดนก แต่อัตราการเติบโตของคำสั่งซื้อคงอยู่ในกรอบที่จำกัด อย่างไรก็ดี ด้วยแรงซื้อที่คาดว่าจะมีเพิ่มขึ้นในกลุ่มไก่สดแช่เย็นแช่แข็งจากจีนจากการเปิดประเทศ รวมถึงการเปิดตลาดใหม่ๆ ให้กับสินค้าไก่ไทยผ่านการเจรจาทางการค้าและการให้การรับรองโรงงานในไทย เช่น เกาหลีใต้ ซาอุดีอาระเบีย ตลอดจนความต้องการสินค้าไก่ที่มากขึ้นในกลุ่มประเทศที่ไม่สามารถผลิตสินค้าได้เพียงพอ อาทิ มาเลเซีย เนเธอร์แลนด์ ไอร์แลนด์ ฟิลิปปินส์ อาจผลักดันให้ภาพรวมมูลค่าการส่งออกไก่ไทยในปีนี้ยังเติบโตในแดนบวกได้
        มองไปข้างหน้า แม้คุณภาพผลิตภัณฑ์ไก่ของไทยจะได้รับการยอมรับในด้านมาตรฐานและการตัดแต่ง แต่การแข่งขันด้านราคาในตลาดคู่ค้ามีแนวโน้มจะรุนแรงมากขึ้น โดยเฉพาะคู่แข่งรายสำคัญอย่าง สหรัฐฯ และบราซิล ซึ่งมีจุดแข็งจากต้นทุนวัตถุดิบอาหารสัตว์ที่ต่ำ ปริมาณผลผลิตและ Economy of scale ที่มากกว่า จึงมีความได้เปรียบด้านราคา ส่งผลให้การจัดการต้นทุนตลอดกระบวนการผลิตยังเป็นโจทย์สำคัญของธุรกิจต่อเนื่อง
        อนึ่ง จากราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์ตลาดโลกในปีนี้ที่มีแนวโน้มย่อตัวลงจากปีก่อน แม้การส่งออกผลิตภัณฑ์ไก่ของไทยจะมีแนวโน้มเติบโต ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า ราคาขายปลีกเนื้อไก่ (ไก่สดทั้งตัวรวมเครื่องใน) เฉลี่ยทั้งปี 2566 น่าจะอยู่ที่ 66-68 บาท/กก. ปรับลดลงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับปี 2565 ที่เฉลี่ยอยู่ที่ 70.59 บาท/กก.

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


เกษตรกรรม