Display mode (Doesn't show in master page preview)

22 สิงหาคม 2566

เกษตรกรรม

ราคายางพาราไทยปรับลดลงแรงในปี 2566 คาดเฉลี่ยอยู่ที่ราว 43.2 บาทต่อกก. หรือลดลงร้อยละ 16.4 (YoY) ... จากแรงฉุดด้านอุปสงค์โลกที่ชะลอตัว (กระแสทรรศน์ ฉบับที่ 3428)

คะแนนเฉลี่ย

        ราคายางพาราไทยช่วง 7 เดือนแรกของปี 2566 ปรับตัวลดลงแรง สะท้อนผ่านราคายางแผ่นดิบชั้น 3 ลดลงมาเฉลี่ยที่ 44 บาทต่อกก. หรือลดลงร้อยละ 25.1 (YoY) จากแรงฉุดด้านอุปสงค์โลกเป็นหลัก โดยเฉพาะจีน ที่เผชิญภาวะเศรษฐกิจไม่สู้ดีนัก ประกอบกับเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกาที่ชะลอตัว กระทบต่อการผลิตรถยนต์ และสต็อกถุงมือยางจำนวนมากของมาเลเซีย กดดันคำสั่งซื้อน้ำยางข้นจากไทย เหล่านี้ล้วนกดดันราคายางพาราไทยให้ปรับลดลงแรง เป็นไปในทิศทางเดียวกับราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่ลดลง

        มองต่อไปในช่วงที่เหลือของปี 2566 คาดว่า ราคายางอาจปรับลดลงอีกไปเฉลี่ยที่ราว 42 บาทต่อกก. จากแรงฉุดด้านอุปสงค์ของเศรษฐกิจโลกที่มีแนวโน้มชะลอตัว โดยเฉพาะจีน ขณะที่อุปทานยางไทย อินโดนีเซีย และมาเลเซีย อาจลดลงจากเอลนีโญ ทำให้ราคายางคงปรับลดลงไม่มากนัก และคาดว่าทั้งปี 2566 ราคายางพาราแผ่นดิบชั้น 3 อาจเฉลี่ยอยู่ที่ 43.2 บาทต่อกก. หรือลดลงร้อยละ 16.4 (YoY)

        สำหรับผลกระทบที่มีต่อธุรกิจในปี 2566 คาดว่า ธุรกิจยางพาราขั้นกลางของไทย คงเผชิญรายได้ที่ลดลง จากคำสั่งซื้อที่หดหาย ผนวกกับในช่วงปลายปีที่ผลผลิตยางพาราคงลดลงจากเอลนีโญ ทำให้มีปริมาณผลผลิตไม่คุ้มค่าต่อการเดินเครื่องจักร จึงทำให้รายได้ในช่วงนี้หายไป ซึ่งภาพเช่นนี้คงมีให้เห็นในช่วงเวลาที่เหลือส่วนใหญ่ของปีนี้ และจะกระทบต่อเนื่องไปยังผู้ประกอบการส่งออกยางพาราขั้นต้นของไทยให้เผชิญรายได้ที่ลดลงเช่นกัน ส่วนธุรกิจผลิตภัณฑ์ยางพาราเพื่อส่งออกก็น่าเป็นห่วง โดยเฉพาะถุงมือยาง เนื่องจากคำสั่งซื้อที่ลดลงอย่างมาก จากโควิดที่คลี่คลายขึ้น ขณะที่การผลิตยางพาราต้นน้ำ สะท้อนสถานะทางการเงินของเกษตรกรชาวสวนยางโดยรวมที่ยังยากลำบาก

        มองต่อไปในปี 2567 คาดว่า ราคายางพาราอาจปรับเพิ่มขึ้นเล็กน้อย ตามอุปทานยางที่ตึงตัวขึ้นจากผลกระทบของเอลนีโญที่รุนแรง และแรงหนุนจากอุปสงค์ยางล้อที่มีแนวโน้มเติบโต โดยเฉพาะจากการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า อย่างไรก็ดี ราคายางพาราของไทยคงต้องเผชิญความเสี่ยง ทั้งในประเด็นที่จีนหันไปนำเข้ายางพาราจากกลุ่มประเทศ CLMV มากขึ้น รวมถึงประเทศผู้นำเข้าอย่างยุโรปและสหรัฐอเมริกามีการใช้มาตรการด้านสิ่งแวดล้อมที่เข้มข้นขึ้น ซึ่งหากไทยไม่สามารถปรับตัวต่อมาตรการด้านสิ่งแวดล้อมของผู้นำเข้าดังกล่าวได้ ก็อาจส่งผลกดดันความต้องการยางพาราจากไทยในระยะข้างหน้า

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


เกษตรกรรม