Display mode (Doesn't show in master page preview)

13 มกราคม 2565

เกษตรกรรม

เครื่องจักรกลการเกษตรปี 2565 ยังไปต่อได้ คาดมูลค่าตลาดอยู่ที่ราว 84,600-87,900 ล้านบาท จากปัจจัยหนุนด้านอุปสงค์เป็นสำคัญ (กระแสทรรศน์ ฉบับที่ 3301)

คะแนนเฉลี่ย

​ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ตลาดเครื่องจักรกลการเกษตรของไทยในปี 2565 น่าจะให้ภาพการขยายตัวต่อไปได้อยู่ที่มูลค่าราว 84,600-87,900 ล้านบาท หรือขยายตัวร้อยละ 1.6-5.6 (YoY) จากปัจจัยหนุนด้านอุปสงค์เป็นสำคัญ แต่คงเป็นการขยายตัวแบบชะลอลง เนื่องจาก Pent Up Demand ที่คลี่คลายมากขึ้น และอุปสงค์ของแรงงานกลับถิ่นที่น่าจะมีจำนวนน้อยกว่าปีก่อนจากการฟื้นตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ทั้งนี้ ตลาดเครื่องจักรกลการเกษตรคงเติบโตสอดคล้องไปกับภาพรวมราคาสินค้าเกษตรที่ยังยืนอยู่ในเกณฑ์ดี ท่ามกลางสภาพอากาศที่เอื้ออำนวยต่อการผลิต ขณะที่ในฝั่งของอุปทานยังต้องเผชิญการแข่งขันด้านราคากับเครื่องจักรกลการเกษตรของจีนที่มีราคาถูก รวมถึงต้นทุนการผลิตอย่างราคาน้ำมันและเหล็กที่อยู่ในระดับสูง อันจะทำให้ตลาดเครื่องจักรกลการเกษตรของไทยเติบโตต่อไปได้อย่างระมัดระวัง


    ดังนั้น แนวทางการปรับตัวของผู้ประกอบการเครื่องจักรกลการเกษตร ทั้งในส่วนของผู้ผลิตและผู้จัดจำหน่ายเครื่องจักรกลการเกษตรไทยในระยะข้างหน้าคือ การวิจัยและพัฒนาเครื่องจักรกลการเกษตรที่ตรงตามความต้องการของตลาดและสอดคล้องไปกับการใช้งานที่เหมาะสมในแต่ละสภาพพื้นที่ปลูกของพืช ควบคู่ไปกับเทรนด์ที่มุ่งสู่การใช้เทคโนโลยีขั้นสูง อันจะเป็นการยกระดับไปสู่การผลิตแบบเกษตรสมัยใหม่ เช่น การนำระบบ Automation/AI/IoTs/Sensors เข้ามาใช้ร่วมด้วยในพื้นที่เกษตรของไทยที่ส่วนใหญ่มีขนาดเล็กและถือครองด้วยเกษตรกรรายย่อย ดังนั้น จึงควรเป็นราคาเครื่องจักรกลการเกษตรที่เกษตรกรเข้าถึงได้ง่ายและสามารถทำให้เกิดการประหยัดต่อขนาดได้ เช่น รถแทรกเตอร์อัตโนมัติ/ไร้คนขับ เพื่อใช้ในแปลงนาข้าวขนาดเล็ก-กลาง หรือหุ่นยนต์เก็บเกี่ยวผลไม้อัตโนมัติที่สามารถใช้งานได้ในพื้นที่ไม่ใหญ่นัก เป็นต้น นอกจากนี้ การแสวงหาพันธมิตรทางธุรกิจที่มีความรู้เพื่อถ่ายทอดเทคโนโลยี และการพัฒนาบุคลากรเพื่อรองรับการซ่อมบำรุงเครื่องจักรที่จะมีความทันสมัยและซับซ้อนมากขึ้น ก็นับว่ามีความสำคัญเช่นกัน

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


เกษตรกรรม