Display mode (Doesn't show in master page preview)

9 กรกฎาคม 2564

อุตสาหกรรม

มูลค่าตลาดขนมขบเคี้ยวปี 2564 อาจหดตัว 4.0% ผลจากภาวะเศรษฐกิจที่กระทบกำลังซื้อ (กระแสทรรศน์ ฉบับที่ 3242)

คะแนนเฉลี่ย

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า จากสถานการณ์โควิค-19 ในประเทศที่ยืดเยื้อจนล่าสุดภาครัฐจำเป็นต้องยกระดับความเข้มงวดผ่านมาตรการล็อกดาวน์-เคอร์ฟิวในพื้นที่เสี่ยง มีผลกระทบต่อเนื่องต่อการปรับพฤติกรรมของผู้บริโภคให้ยังคงต้องประหยัดและใช้จ่ายอย่างระวัง และด้วยลักษณะสินค้าในกลุ่มขนมขบเคี้ยวมีความจำเป็นต่อการบริโภคน้อยกว่ากลุ่มอาหารหลักอื่นๆ ส่งผลให้อัตราการบริโภคเติบโตได้อย่างจำกัด ประกอบกับต้นทุนวัตถุดิบอาหารที่เป็นองค์ประกอบสำคัญในการผลิต โดยเฉพาะในกลุ่มธัญพืช น้ำมันพืช และน้ำตาล มีแนวโน้มยืนตัวในระดับสูงในช่วงครึ่งหลังของปี 2564 อาจกดดันทิศทางการเติบโตของธุรกิจขนมขบเคี้ยวในปี 2564 ที่คาดว่าจะมีมูลค่าตลาดประมาณ 37,500 ล้านบาท หรือหดตัว 4.0% เมื่อเทียบกับปีก่อนที่ขยายตัวได้ราว 2.6% โดยเป็นผลมาจากปริมาณการบริโภคที่คาดว่าจะลดลงจากกลุ่มเป้าหมายหลักที่มีความเปราะบางด้านกำลังซื้อ ในขณะที่การปรับเพิ่มขึ้นของราคาวัตถุดิบ ยากที่ผู้ประกอบการจะผลักภาระค่าใช้จ่ายดังกล่าวที่เพิ่มขึ้นไปสู่ผู้บริโภคได้ทั้งหมด เพราะการปรับขึ้นราคาสินค้าส่งผลโดยตรงต่อความสามารถด้านการแข่งขัน ดังนั้น ภาคธุรกิจจึงจำเป็นต้องแบกรับภาระต้นทุนดังกล่าวไว้ และหันมาบริหารจัดการต้นทุนการผลิตทดแทน

 ท่ามกลางการแข่งขันที่สูงและกำลังซื้อผู้บริโภคมีจำกัด กลยุทธ์ด้านการตลาดโดยเฉพาะราคายังมีความจำเป็น เพื่อกระตุ้นยอดขาย ขณะเดียวกัน พฤติกรรมผู้บริโภคที่หันมาเลือกรับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพมากขึ้น ตลอดจนความผันผวนของวัตถุดิบที่กระทบต่อต้นทุนการผลิต จะเป็นโจทย์สำคัญต่อการบริหารต้นทุนของผู้ประกอบการ ทั้งในช่วงที่ราคาวัตถุดิบผันผวน เช่น การวางแผนใช้วัตถุดิบให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด โดยเน้นไปที่กลุ่มที่ยังพอทำตลาดได้ในช่วงวิกฤต ปรับขนาดสินค้าลงเพื่อตรึงราคาไว้ หรือการปรับลดมาร์จิ้นของธุรกิจ เพื่อคงไว้ซึ่งความสามารถด้านการแข่งขัน ตลอดจนการคิดค้นผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ เพื่อสอดรับไปกับเทรนด์การบริโภคที่หันมาใส่ใจกับสุขภาพมากขึ้น อาทิ การเลือกใช้วัตถุดิบใหม่ๆ ที่ให้คุณค่าทางโภชนาการมากขึ้น การปรับลดสัดส่วนวัตถุดิบที่ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์กับร่างกาย (ลดน้ำตาล โซเดียม หรือลดแป้ง/ไขมัน สำหรับกลุ่มเป้าหมายที่ต้องการลดแคลอรี่จากการบริโภค) ​​

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


อุตสาหกรรม