Display mode (Doesn't show in master page preview)

27 มกราคม 2564

อุตสาหกรรม

ตลาดเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ ปี ’64 คาดแตะ 2 แสนล้านบาท เครื่องดื่มสุขภาพและตอบโจทย์เฉพาะกลุ่มเติบโตดีกว่าตลาด (กระแสทรรศน์ ฉบับที่ 3182)

คะแนนเฉลี่ย

​​จากสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ทั้งในและต่างประเทศที่ยังมีความไม่แน่นอนสูง ซึ่งกดดันกำลังซื้อของผู้บริโภค และต้องระมัดระวังการใช้จ่าย อีกทั้งมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดในประเทศที่มีข้อกำหนดการทานอาหารที่ร้านอาหารในบางพื้นที่ ส่งผลให้ภาพรวมตลาดเครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์ (Non-alcoholic Beverages) ในประเทศ ปี 2564 น่าจะยังไม่สามารถกลับไปเติบโตได้ในระดับเดียวกับช่วงปี 2561-2562 (ก่อนเกิดการระบาดของโควิด-19) เนื่องจากยังมีความไม่แน่นอนเรื่องโควิด-19 รวมถึงกำลังซื้อโดยรวมที่ยังเปราะบางและยังไม่ดีขึ้นมากนัก จากความเสี่ยงเรื่องการมีงานทำและความกังวลต่อความมั่นคงของรายได้ แต่อาจปรับตัวดีขึ้นสอดคล้องกับการทยอยฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ในกรณีที่สามารถควบคุมการระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ได้ภายใน 1-2 เดือนนี้

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า มูลค่าตลาดเครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์แบบพร้อมดื่ม ปี 2564 รวมน่าจะอยู่ที่ 1.97 - 1.99 แสนล้านบาท ปรับตัวดีขึ้นในกรอบ 0.5 % - 1.5% จากฐานต่ำในปี 2563 ที่อัตราการเติบโตของเครื่องดื่มรายประเภทส่วนใหญ่หดตัว นอกจากนี้ ผู้ผลิตและผู้จัดจำหน่ายเริ่มปรับกลยุทธ์การขายให้เข้ากับวิถีชีวิต New Normal

การแข่งขันในตลาดจะยังมีความเข้มข้นเพิ่มขึ้นต่อเนื่องในระยะข้างหน้า เพื่อชิงส่วนแบ่งตลาดและดึงดูดกำลังซื้อของผู้บริโภค โดยแนวโน้มตลาดเครื่องดื่มแบบดั้งเดิมและทำตลาด Mass น่าจะแปรผันตามกำลังซื้อและสภาวะเศรษฐกิจเป็นหลัก และจะยังรักษาส่วนแบ่งตลาดส่วนใหญ่ไว้ได้ ในขณะที่เครื่องดื่มรูปแบบใหม่ ซึ่งเน้นตอบโจทย์ตลาด Niche ที่มีความต้องการเฉพาะ คาดว่าจะเติบโตได้ดีกว่าอัตราการเติบโตเฉลี่ยของตลาด เนื่องจากมีการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ที่ตอบโจทย์ลูกค้าได้มากขึ้น อย่างไรก็ดี ยังคงมีส่วนแบ่งตลาดน้อยกว่าโดยเปรียบเทียบในระยะสั้น แต่มีโอกาสที่จะเพิ่มส่วนแบ่งได้ในระยะยาว โดยมีปัจจัยด้านความต้องการของผู้บริโภคเป็นตัวขับเคลื่อนทิศทางของตลาด

นอกจากการแข่งขันในตลาดที่เข้มข้นขึ้นอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับภาวะกำลังซื้อที่ยังเปราะบางในปี 2564 นี้แล้ว ยังมีปัจจัยท้าทายที่อาจกระทบการปรับตัวของธุรกิจ ได้แก่ การจัดเก็บภาษีสรรพสามิตเครื่องดื่มตามปริมาณน้ำตาลครั้งที่ 3 และแนวโน้มการใช้บรรจุภัณฑ์เพื่อสิ่งแวดล้อม ที่อาจส่งผลต่อต้นทุนของธุรกิจภายใต้ทิศทางของตลาดที่ต้องเปลี่ยนแปลงตามกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องและความต้องการของผู้บริโภค


ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


อุตสาหกรรม