ตั้งแต่ปี 2562 เราจะเริ่มเห็นถึงทิศทางการเติบโตของตลาดรถยนต์ไฟฟ้าที่ขยายตัวสูงขึ้นมากในไทย หลังค่ายรถต่างยื่นขอรับการส่งเสริมการลงทุนจากบีโอไอ ซึ่งในอนาคตข้างหน้าอีก 5 ปีข้างหน้า ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า ตลาดรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศของไทยน่าจะมีโอกาสเพิ่มส่วนแบ่งการตลาดขึ้นไปอยู่ระดับ 1 ใน 4 ของยอดขายรถยนต์รวมต่อปีทั้งประเทศ หรือคิดเป็นประมาณ 240,000 คัน โดยมีโครงการรถยนต์อีโค-ไฮบริด และไมลด์ไฮบริด ที่น่าจะเป็นตัวช่วยผลักดันให้เกิดการเติบโตอย่างก้าวกระโดดในระยะแรก และในปี 2566 ซึ่งการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าเริ่มเข้าใกล้จุดที่เต็มอัตราการผลิตนั้น จำนวนแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้าที่ต้องผลิตออกมาเพื่อรองรับตลาดในประเทศนี้คาดว่าจะมีปริมาณอย่างน้อย 260,000 ลูก
ไม่เพียงเท่านี้ การผลิตแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้าสำหรับตลาดส่งออกเองก็มีโอกาสเติบโต เมื่อค่ายรถหลายค่ายต่างเข้ามาลงทุนในไทยโดยมีแผนการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในปริมาณที่สูงมาก เพื่อการส่งออกไปยังต่างประเทศ และจากฐานการผลิตแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้าโลกที่ยังมีอยู่จำกัด ทำให้ไทยซึ่งเป็นฐานการผลิตใหม่มีโอกาสส่งออกแบตเตอรี่ OEM และ REM ไปยังตลาดอื่นๆด้วย เช่น ญี่ปุ่น และประเทศที่ไทยส่งออกรถยนต์ไฟฟ้าไปอย่างอาเซียน และโอเชียเนีย ทำให้ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่าการผลิตแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้าสำหรับส่งออก ปี 2566 จะมีปริมาณไม่น้อยกว่า 170,000 ลูก
อนึ่ง แม้ปัจจุบันตลาดรถยนต์ไฟฟ้าในไทยจะยังอยู่ในช่วงเริ่มต้น แต่จากทิศทางการให้ความสำคัญกับประเทศไทยโดยค่ายรถหลายค่ายต่างมีแผนเข้ามาลงทุนผลิตรถยนต์ไฟฟ้า รวมถึงแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้าในไทย ทำให้โอกาสในระยะยาวสำหรับธุรกิจผลิตแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทยยังเปิดอยู่มาก ซึ่งศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินว่า ณ ปี 2566 ไทยน่าจะมีการผลิตแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้าไม่ต่ำกว่า 430,000 ลูก คิดเป็นสัดส่วนราวร้อยละ 3 ของตลาดแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้าโลก ส่งผลให้ไทยกลายมาเป็นผู้นำฐานการผลิตแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้าในภูมิภาคอาเซียน และโอเชียเนีย รวมถึงเป็นฐานการผลิตใหญ่อันดับ 4 ของภูมิภาคเอเชียได้ในอนาคต
หมายเหตุ
รายงานวิจัยฉบับนี้จัดทำเพื่อเผยแพร่ทั่วไป โดยจัดทำขึ้นจากแหล่งข้อมูลต่างๆ ที่น่าเชื่อถือ แต่บริษัทฯ มิอาจรับรองความถูกต้อง ความน่าเชื่อถือ หรือความสมบูรณ์เพื่อใช้ในทางการค้าหรือประโยชน์อื่นใด บริษัทฯ อาจมีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลได้ตลอดโดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า ทั้งนี้ผู้ใช้ข้อมูลต้องใช้ความระมัดระวังในการใช้ข้อมูลต่างๆ ด้วยวิจารณญาณตนเองและรับผิดชอบในความเสี่ยงเองทั้งสิ้น บริษัทฯ จะไม่รับผิดต่อผู้ใช้หรือบุคคลใดในความเสียหายใดจากการใช้ข้อมูลดังกล่าว ข้อมูลในรายงานฉบับนี้จึงไม่ถือว่าเป็นการให้ความเห็น หรือคำแนะนำในการตัดสินใจทางธุรกิจ แต่อย่างใดทั้งสิ้น