จากความพยายามผลักดันให้ค่ายรถยนต์พัฒนามาตรฐานไอเสียยูโร 5 กับรถยนต์รุ่นใหม่ที่ผลิตในประเทศภายในปี 2564 เพื่อแก้ปัญหาระยะยาวสำหรับเรื่องมลพิษฝุ่นละออง PM 2.5 ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินว่า ต้นทุนดังกล่าวนี้อาจส่งผลให้ผู้บริโภคต้องจ่ายเงินเพิ่มในการซื้อรถยนต์ในอนาคตข้างหน้า รวมทั้งสิ้นไม่น้อยกว่า 5,000 ล้านบาทในระยะ 1 ปีที่ใช้มาตรการนี้
ในการสนับสนุนการเปลี่ยนรถยนต์ที่มีเครื่องยนต์มาตรฐานไอเสียยูโร 5 ดังกล่าว ภาครัฐอาจพิจารณามาตรการต่างๆ อาทิ การปรับโครงสร้างภาษีสรรพสามิตเพื่อสนับสนุนรถยนต์ที่ผ่านมาตรฐานไอเสียตั้งแต่ยูโร 5 ขึ้นไป อันจะเป็นการช่วยผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทั้งในฝั่งค่ายรถยนต์และผู้ซื้อ รวมถึงส่งเสริมการพัฒนารถยนต์เพื่อการพาณิชย์ให้มีระบบขับเครื่อนด้วยไฟฟ้า ซึ่งจะเป็นการแก้ปัญหาในระยะยาว
สำหรับรถยนต์เก่าที่ยังมีมาตรฐานไอเสียต่ำกว่ายูโร 5 ควรต้องมีการให้การสนับสนุนในเรื่องการปรับจูนระบบเครื่องยนต์ให้ดีขึ้น โดยภาครัฐอาจมีมาตรการช่วยเหลือโดยการอุดหนุนค่าใช้จ่ายบางส่วนในการปรับจูนเครื่องยนต์ดังกล่าวในช่วงระยะเวลาหนึ่ง พร้อมกันกับการปรับขึ้นภาษีรถยนต์รุ่นที่ยังไม่ได้มาตรฐานยูโร 5 เวลาที่มีการต่อทะเบียนรถยนต์ การเพิ่มความเข้มงวดในขั้นตอนการตรวจสภาพรถยนต์ รวมถึงมีการบังคับใช้กฏหมายอย่างจริงจังในการจับปรับรถยนต์ที่ปล่อยควันดำบนท้องถนน
อย่างไรก็ตามการจะลดมลพิษจากไอเสียรถยนต์อย่างสมบูรณ์มากขึ้น ผู้บริโภคจะต้องเลือกใช้น้ำมันดีเซลยูโร 5 ซึ่งคาดว่าหลังการพัฒนาจะมีการปรับราคาขึ้นกว่าน้ำมันดีเซลปกติ 50 ถึง 60 สตางค์ ควบคู่กันไปด้วย ดังนั้นเพื่อสร้างแรงจูงใจให้เกิดการใช้น้ำมันดังกล่าว การอุดหนุนราคาน้ำมันอาจเป็นประเด็นที่ภาครัฐควรนำมาพิจารณา
หมายเหตุ
รายงานวิจัยฉบับนี้จัดทำเพื่อเผยแพร่ทั่วไป โดยจัดทำขึ้นจากแหล่งข้อมูลต่างๆ ที่น่าเชื่อถือ แต่บริษัทฯ มิอาจรับรองความถูกต้อง ความน่าเชื่อถือ หรือความสมบูรณ์เพื่อใช้ในทางการค้าหรือประโยชน์อื่นใด บริษัทฯ อาจมีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลได้ตลอดโดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า ทั้งนี้ผู้ใช้ข้อมูลต้องใช้ความระมัดระวังในการใช้ข้อมูลต่างๆ ด้วยวิจารณญาณตนเองและรับผิดชอบในความเสี่ยงเองทั้งสิ้น บริษัทฯ จะไม่รับผิดต่อผู้ใช้หรือบุคคลใดในความเสียหายใดจากการใช้ข้อมูลดังกล่าว ข้อมูลในรายงานฉบับนี้จึงไม่ถือว่าเป็นการให้ความเห็น หรือคำแนะนำในการตัดสินใจทางธุรกิจ แต่อย่างใดทั้งสิ้น