การส่งออกของไทยไปยังตลาดหลักต่างๆ นอกจากจะเผชิญแรงกดดันจากสงครามการค้าที่มีทีท่าจะลากยาวต่อเนื่องไปตลอดปี การส่งออกสินค้าไทยไปสหภาพยุโรป (EU) ก็ยังต้องเสี่ยงกับการสูญเสียพื้นที่ตลาดให้แก่ประเทศเพื่อนบ้านมากขึ้นอีกในระยะอันใกล้ หากกรอบการค้าเสรี (FTA) ระหว่าง EU กับหลายประเทศในอาเซียนสามารถเปิดเสรีได้สำเร็จ โดยเฉพาะ FTA เวียดนามกับ EU ที่เหลือแค่รอบบทสรุปด้านการลงทุนและน่าจะเปิดเสรีได้ในเร็วๆ นี้ ยิ่งเพิ่มความท้าทายให้แก่สินค้าไทยในตลาด EU
ดังนั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า เมื่อไทยจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่ได้สำเร็จ การเร่งผลักดันให้เกิด FTA ระหว่างไทยกับ EU เป็นแผนงานที่ควรให้ความสำคัญในลำดับแรกๆ เพราะไม่เพียงใช้เป็นเครื่องมือที่ช่วยให้ไทยรักษาส่วนแบ่งตลาดใน EU ไว้ได้ แต่สิ่งที่สำคัญยิ่งไปกว่านั้นคือ FTA ฉบับนี้อาจมีผลต่อเส้นทางการพัฒนาการผลิตแห่งอนาคตในไทยที่ต้องจับตาอย่างมาก โดยจะเป็นแม่เหล็กที่ช่วยเหนี่ยวรั้งนักลงทุนรายเดิมรวมทั้งยังถึงดูดเม็ดเงินลงทุนรายใหม่ให้ใช้ไทยเป็นฐานการผลิตและส่งออกเพื่อจับตลาดที่มีกำลังซื้อสูงอย่าง EU ได้อีกทางหนึ่ง
ใจความสำคัญของการเจรจา FTA ไทยกับ EU คือ กรอบเวลาที่ชัดเจนในการเปิดเสรี และถ้าสามารถเปิดเสรีได้ในเวลาไล่เลี่ยกับประเทศเพื่อนบ้านจะยิ่งส่งผลดีต่อไทยในระยะยาว โดยในขั้นแรกจะประหยัดค่าภาษีสินค้านำเข้า EU ได้ปีละ 1,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ช่วยเปิดโอกาสให้แก่สินค้าใหม่ของไทยในกลุ่มอาหารแปรรูป ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ และยานยนต์ รวมทั้งหนุนให้ไทยให้กลายเป็นแม่เหล็กดึงดูดการลงทุนระรอกใหม่ที่ใช้เทคโนโลยีสูงขึ้นในกลุ่ม ICs แผงวงจรไฟฟ้า ไดโอท เซมิคอนดักเตอร์ และชิ้นส่วนยานยนต์ จนกระทั่งพัฒนาห่วงโซ่การผลิตให้สามารถรองรับการผลิตสินค้าเทคโนโลยีขั้นสูงได้มากขึ้นในระยะข้างหน้า อันจะช่วยเพิ่มโอกาสให้ไทยก้าวไปเป็นศูนย์กลางการผลิตเทคโนโลยีที่ใช้นวัตกรรมแห่งอนาคตของภูมิภาคได้อีกด้วย
อย่างไรก็ดี ถ้าทางการไทยไม่สามารถเร่งรัดผลักดันให้เกิด FTA ขึ้นมาได้ภายใต้กรอบเวลาที่ชัดเจน ไม่เพียงไทยอาจจะสูญเวลาและเสียโอกาสการพัฒนาการผลิตในรูปแบบใหม่ที่สอดคล้องกับเทคโนโลยีแห่งอนาคต ไทยยังอาจจะสูญเสียเม็ดเงินลงทุนในกลุ่มเทคโนโลยีปัจจุบันไปให้แหล่งผลิตอื่นในอาเซียน และสูญเสียบทบาทการเป็นศูนย์กลางการผลิตและส่งออกของอาเซียนไป
หมายเหตุ
รายงานวิจัยฉบับนี้จัดทำเพื่อเผยแพร่ทั่วไป โดยจัดทำขึ้นจากแหล่งข้อมูลต่างๆ ที่น่าเชื่อถือ แต่บริษัทฯ มิอาจรับรองความถูกต้อง ความน่าเชื่อถือ หรือความสมบูรณ์เพื่อใช้ในทางการค้าหรือประโยชน์อื่นใด บริษัทฯ อาจมีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลได้ตลอดโดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า ทั้งนี้ผู้ใช้ข้อมูลต้องใช้ความระมัดระวังในการใช้ข้อมูลต่างๆ ด้วยวิจารณญาณตนเองและรับผิดชอบในความเสี่ยงเองทั้งสิ้น บริษัทฯ จะไม่รับผิดต่อผู้ใช้หรือบุคคลใดในความเสียหายใดจากการใช้ข้อมูลดังกล่าว ข้อมูลในรายงานฉบับนี้จึงไม่ถือว่าเป็นการให้ความเห็น หรือคำแนะนำในการตัดสินใจทางธุรกิจ แต่อย่างใดทั้งสิ้น