กระทรวงการคลังสหรัฐฯ เปิดเผยรายงานนโยบายเศรษฐกิจและอัตราแลกเปลี่ยนของประเทศคู่ค้าหลักของสหรัฐฯ เมื่อวันที่ 28 พ.ค. 2562 ที่ผ่านมา ซึ่งล่าช้ากว่ากำหนดการเดิมประมาณ 1 เดือน โดยรายงานทบทวนนโยบายฯ ของประเทศคู่ค้ารอบนี้ ยังคงไม่มีการระบุอย่างเฉพาะเจาะจงว่า ประเทศใดมีพฤติกรรมเข้าข่ายบิดเบือนค่าเงิน (Currency Manipulator) เพื่อเพิ่มความได้เปรียบทางด้านการค้ากับสหรัฐฯ อย่างไรก็ดี สหรัฐฯ มีการปรับเปลี่ยนเกณฑ์/เงื่อนไขในรายงานทบทวนนโยบายฯ ฉบับนี้ ซึ่งส่งผลทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงใน 2 เรื่อง สำคัญคือ (1) มีประเทศคู่ค้าที่ติดเข้ามาอยู่ในการประเมินรอบนี้เพิ่มมากขึ้นมาเป็น 21 ประเทศ จากเดิม 12 ประเทศ และ (2) มีการปรับเกณฑ์การเกินดุลบัญชีเดินสะพัดให้เข้มงวดขึ้น สำหรับประเทศไทยนั้น นับเป็นข่าวดีที่ไทยไม่ติดอยู่ในรายชื่อประเทศที่สหรัฐฯ ติดตาม (Monitoring List) ตามที่มีความกังวลในช่วงก่อนหน้านี้
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า อาจนับเป็นความโชคดีที่สภาพแวดล้อมของตลาดการเงินโลกในช่วงที่กระทรวงการคลังของสหรัฐฯ จัดทำรายงานฉบับนี้ เป็นช่วงที่เงินดอลลาร์ฯ ปรับตัวแข็งค่าขึ้น สวนทางกับสกุลเงินในเอเชียที่เผชิญแรงกดดันในด้านอ่อนค่า ทั้งจากกระแสเงินทุนไหลออก และปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจภายในที่เริ่มอ่อนแอลงท่ามกลางสงครามทางการค้า ซึ่งทำให้ธนาคารกลางของแต่ละประเทศเข้าดูแลเพื่อชะลอการอ่อนค่าของสกุลเงินตัวเองด้วยการขายเงินตราต่างประเทศออกมา (ไม่ใช่เป็นฝั่งซื้อสุทธิตามเกณฑ์/เงื่อนไขที่สหรัฐฯ กำหนด) ดังนั้น ไทย และอีกหลายๆ ประเทศในเอเชีย แม้แต่ฮ่องกงซึ่งใช้ระบบอัตราแลกเปลี่ยนที่ผูกกับเงินดอลลาร์ฯ ต่างก็รอดพ้นจากเกณฑ์หรือเงื่อนไขเรื่องการเข้าแทรกแซงตลาดอัตราแลกเปลี่ยนเพื่อให้ค่าเงินอ่อนค่าเพียงด้านเดียวในรายงานฉบับนี้
ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า สถานการณ์นี้ไม่กระทบต่อการค้าของไทยโดยตรง แต่การที่มีหลายประเทศในอาเซียนติดอยู่ในบัญชีที่ต้องจับตา เป็นสัญญาณว่าไทยก็มีความเสี่ยงที่จะถูกจับตาอย่างใกล้ชิดมากขึ้นในอนาคตจากการที่ไทยเกินดุลการค้ากับสหรัฐฯ ใกล้เคียงกับเกณฑ์ที่ 2.0 หมื่นล้านดอลลาร์ฯ
อย่างไรก็ดี ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ทางการสหรัฐฯ อาจส่งผ่านแรงกดดันทางการค้าผ่านการพิจารณาสิทธิ GSP เท่านั้น แต่จะไม่ยกระดับไปสู่มาตรการกีดกันทางการค้ารูปแบบอื่น เพราะการผลิตและส่งออกของไทยไม่น่าจะขัดกับหลักเกณฑ์ใดๆ ของสหรัฐฯ ซึ่งทางการไทยสามารถชี้แจงได้ นอกจากนี้ การส่งออกสินค้าบางรายการของไทยไปสหรัฐฯ ที่มีสัญญาณเร่งตัวขึ้น ก็เป็นผลจากการปรับห่วงโซ่การผลิตของนักลงทุนในระดับโลกเป็นหลัก อย่างไรก็ดี ทางการไทยจำเป็นต้องเตรียมแผนหาตลาดใหม่ รวมทั้งผลักดัน FTA ฉบับต่างๆ ที่อยู่ในแผนให้เปิดเสรีได้สำเร็จ เพื่อช่วยขับเคลื่อนการส่งออกและการลงทุนไทยในระยะยาว
หมายเหตุ
รายงานวิจัยฉบับนี้จัดทำเพื่อเผยแพร่ทั่วไป โดยจัดทำขึ้นจากแหล่งข้อมูลต่างๆ ที่น่าเชื่อถือ แต่บริษัทฯ มิอาจรับรองความถูกต้อง ความน่าเชื่อถือ หรือความสมบูรณ์เพื่อใช้ในทางการค้าหรือประโยชน์อื่นใด บริษัทฯ อาจมีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลได้ตลอดโดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า ทั้งนี้ผู้ใช้ข้อมูลต้องใช้ความระมัดระวังในการใช้ข้อมูลต่างๆ ด้วยวิจารณญาณตนเองและรับผิดชอบในความเสี่ยงเองทั้งสิ้น บริษัทฯ จะไม่รับผิดต่อผู้ใช้หรือบุคคลใดในความเสียหายใดจากการใช้ข้อมูลดังกล่าว ข้อมูลในรายงานฉบับนี้จึงไม่ถือว่าเป็นการให้ความเห็น หรือคำแนะนำในการตัดสินใจทางธุรกิจ แต่อย่างใดทั้งสิ้น