Display mode (Doesn't show in master page preview)

18 กรกฎาคม 2562

อุตสาหกรรม

มูลค่าชิ้นส่วนเครื่องยนต์ในไทยหายไป 22% ใน 20 ปีข้างหน้า หลังการเติบโตรถยนต์ไฟฟ้าและการปรับโครงสร้างค่ายรถญี่ปุ่น (กระแสทรรศน์ ฉบับที่ 3009)

คะแนนเฉลี่ย
​​​         การเติบโตของตลาดรถยนต์ไฟฟ้าโลกในปัจจุบันซึ่งนำมาสู่การปรับโครงสร้างห่วงโซ่อุปทานของค่ายรถญี่ปุ่นสู่การใช้กลยุทธ์การกระจายห่วงโซ่อุปทานในแนวนอนด้วยการจับมือกับพันธมิตรเพื่อพัฒนาแพลทฟอร์มร่วมนั้น ส่งผลดีต่อผู้ผลิตชิ้นส่วนรถยนต์โดยรวมของไทยในระยะช่วง 10 ปีแรก ที่ตลาดรถยนต์ส่วนใหญ่ยังเป็นรถยนต์ที่ต้องใช้เครื่องยนต์เป็นหลักในการขับเคลื่อน ทั้งนี้เป็นผลจากการลงทุนเพื่อผลิตรถยนต์ HEV และ PHEV ที่มีทิศทางเพิ่มขึ้นมากในไทย ทำให้ผลกระทบต่อความต้องการชิ้นส่วนเกี่ยวกับเครื่องยนต์ยังมีไม่มาก โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่า ในช่วงระยะ 10 ปีที่ตลาด BEV ยังค่อนข้างเล็กอยู่นี้มูลค่าชิ้นส่วนเกี่ยวกับเครื่องยนต์จะหายไปจากความต้องการเดิมของตลาดในกรณีไม่มีรถยนต์ BEV เพียงร้อยละ 2.4
         อย่างไรก็ตามในระยะยาวต่อไป เมื่อรถยนต์ BEV จะมีบทบาทมากขึ้นเรื่อยๆในอุตสาหกรรมการผลิตรถยนต์ของไทย ซึ่งจะส่งผลกดดันต่อผู้ผลิตชิ้นส่วนเกี่ยวกับเครื่องยนต์ ทั้งในกลุ่มระบบส่งกำลังและระบบไฟฟ้า ทำให้เกิดการแข่งขันที่สูงขึ้นจากความต้องการชิ้นส่วนที่ลดลง ขณะที่การใช้ชิ้นส่วนร่วมกันของค่ายรถตามแผนกลยุทธ์การใช้แพลทฟอร์มร่วมเพื่อลดต้นทุนนั้นก่อให้เกิดผลทางอ้อมทำให้จำนวนผู้ผลิตชิ้นส่วนลดลงด้วย ซึ่งศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่าในระยะยาวกว่า 20 ปีนับจากนี้มูลค่าชิ้นส่วนเกี่ยวกับเครื่องยนต์จะหายไปกว่าร้อยละ 22 เมื่อเทียบกับกรณีที่ไม่มีรถยนต์ BEV ในตลาด
         อย่างไรก็ตาม การที่ไทยเป็นประเทศแรกในภูมิภาคที่ค่ายรถญี่ปุ่นเข้ามาลงทุนผลิตรถยนต์ไฟฟ้าอย่างจริงจังในปริมาณที่สูงนั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า ยังน่าจะเป็นโอกาสที่ดีต่อไทยในการดึงดูดการลงทุนชิ้นส่วนรถยนต์ไฟฟ้าประเภทอื่นๆเข้ามาเพิ่มเติมได้ในอนาคต ซึ่งหากผู้ผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ของไทยสามารถพัฒนาเทคโนโลยีขึ้นจนเข้าไปอยู่ในสายการผลิตชิ้นส่วนมูลค่าสูงของรถยนต์ BEV โดยเฉพาะมอเตอร์และแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้าได้ ก็อาจให้ผลที่ต่างออกไปกับอุตสาหกรรมชิ้นส่วนรถยนต์โดยรวม แม้ว่ามูลค่าชิ้นส่วนเครื่องยนต์จะหายไปเป็นมูลค่าที่สูงก็ตาม


​​

อุตสาหกรรม