Display mode (Doesn't show in master page preview)

28 สิงหาคม 2562

เกษตรกรรม

ภาวะขาดแคลนผลผลิตดันราคาข้าวเหนียวพุ่ง คาดกระทบภาระค่าใช้จ่ายด้านอาหารเพิ่มขึ้น 2.3-3.2% (กระแสทรรศน์ ฉบับที่ 3027)

คะแนนเฉลี่ย

           สถานการณ์ราคาข้าวเหนียวในท้องตลาดปรับตัวสูงขึ้น ปัจจัยหลักมาจากปริมาณผลผลิตข้าวเปลือกเหนียวในรอบนาปี 2561/2562 ลดลงจากการที่เกษตรกรหันไปปลูกข้าวหอมมะลิแทน
ทำให้ปริมาณผลผลิตข้าวเหนียวในรอบนาปีลดลงจากปีก่อนร้อยละ 1.18 (YoY) ประกอบกับผลกระทบจากภัยแล้งที่ส่งผลต่อปริมาณผลผลิตในรอบนาปรัง ทำให้ปริมาณผลผลิตข้าวเปลือกเหนียว
              ในรอบนาปรังลดลงจากปีก่อนร้อยละ 9.2 (YoY) ส่งผลให้ภาพรวมปริมาณผลผลิตข้าวเปลือกเหนียวในปี 2561/2562 ปรับลดลงมาอยู่ที่ 6.45 ล้านตัน ซึ่งอยู่ในระดับต่ำสุดในรอบ 3 ปี กดดันให้ราคาข้าวเปลือกเหนียวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ​ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ราคาข้าวเหนียวจะปรับตัวสูงขึ้นครอบคลุมกรอบเวลาอย่างน้อย 2 เดือนในช่วงรอยต่อฤดูเพาะปลูก ซึ่งมีความเป็นไปได้ว่าราคาข้าวเปลือกเหนียว น่าจะปรับลดลงในช่วงปลายเดือนตุลาคมจนถึงเดือนธันวาคม 2562 เนื่องจากปริมาณผลผลิตที่จะเพิ่มขึ้นเมื่อเข้าสู่

            ฤดูเก็บเกี่ยวข้าวนาปี 2562/2563 ประกอบกับผลของราคาข้าวเปลือกเหนียวที่ปรับตัวสูงขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง อาจกระตุ้นให้เกิดอุปทานข้าวเปลือกเหนียวที่เพิ่มมากขึ้นจากฐานของปีก่อนหน้า ภายใต้เงื่อนไขสถานการณ์น้ำสำหรับการเพาะปลูกมีเพียงพอ โดยประมาณการผลผลิตข้าวเปลือกเหนียว ในช่วงไตรมาสที่ 4 ของปี 2562
จะอยู่ที่ระดับ 5.12 ล้านตัน ส่งผลให้ราคาคาดการณ์ข้าวเปลือกเหนียวเฉลี่ยมีแนวโน้มปรับตัวลงไปอยู่ที่ระดับ 11,900 บาทต่อตัน

                 ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า การเร่งตัวของราคาข้าวสารเหนียวไม่ต่ำกว่าร้อยละ 20 (YoY) ในช่วงเดือนสิงหาคม-กันยายน 2562 จะส่งผลต่อราคาอาหารที่มีข้าวเหนียวเป็นวัตถุดิบหรือเป็นองค์ประกอบในมื้ออาหาร มีผลให้ในช่วงเวลาดังกล่าว ครัวเรือนอาจเผชิญกับภาระค่าใช้จ่ายด้านอาหารที่เพิ่มขึ้นเฉลี่ยต่อเดือนราวร้อยละ 2.3-3.2 และส่งผลต่ออัตราเงินเฟ้อทั่วไป ประมาณร้อยละ 0.1

​​

เกษตรกรรม